อ่านสถานการณ์ ศก.ไทย จากรายงานธนาคารโลก/บทความเทศมองไทย

บทความเทศมองไทย

 

อ่านสถานการณ์ ศก.ไทย

จากรายงานธนาคารโลก

รายงาน “อัพเดต” สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกฉบับล่าสุด ประจำเดือนตุลาคมปี 2021 ให้ภาพอนาคตใกล้ๆ ของประเทศในภูมิภาคนี้รวมทั้งไทยไว้ชัดเจนมากครับ

อ่านแค่บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของเวิร์ลด์แบงก์ ก็พอได้ภาพมึนมัวสลัวเลือนของเศรษฐกิจไทยได้แจ่มแจ้ง

เริ่มตั้งแต่การบอกว่า ชะตากรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พลิกผันกลับกลายจากเมื่อปี 2563 ที่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายมาเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาด ขณะที่โลกตะวันตกซึ่งเคยสาหัส กำลังอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัว

เหตุผลที่สร้างความแตกต่างได้มากขนาดนั้นก็คือ เชื้อกลายพันธุ์เดลต้ากับปัญหาการเข้าถึงวัคซีนครับ

 

ธนาคารโลกบอกว่า การแพร่ระบาดในปีนี้ “สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างยืดเยื้อ” และ “มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบระยะยาว”

“โดยในระยะสั้น การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนยืดเยื้อ นอกเสียจากประชาชนและกิจการต่างๆ จะสามารถปรับตัวได้ และในระยะยาว โควิด-19 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เว้นเสียแต่จะมีการเยียวยาความเสียหายและคว้าโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะต้องมีการดำเนินนโยบายที่จะช่วยให้หน่วยเศรษฐกิจ (Economic Agents) สามารถปรับตัวได้”

ที่สำคัญก็คือ “ต้องตัดสินใจตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำที่จะเพิ่มขึ้นในวันข้างหน้า”

 

เวิร์ลด์แบงก์ไล่เรียงการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้เอาไว้ว่า

“ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าจีนจะเติบโตร้อยละ 8.5 ในปี พ.ศ.2564 ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคน่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.5 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.4 และในขณะที่จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม สามารถกลับมาผลิตได้ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดแล้ว กัมพูชา มาเลเซีย และมองโกเลีย จะกลับมาได้ในปี พ.ศ.2565 ส่วนเมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก จะกลับมา (ผลิตได้ในระดับเดียวกับที่เคยทำได้ก่อนเกิดการระบาด) ได้ในปี พ.ศ.2566”

นั่นหมายถึง เศรษฐกิจของไทยจะอยู่ในสภาพทรุดตัวต่ำต่อเนื่องไปอีกตลอดปีหน้าทั้งปีครับ

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประเมินไว้ก็คือ “การจ้างงานจะลดลง, ความยากจนจะยังคงอยู่ และความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นในทุกมิติ” อีกด้วย

“อัตราการจ้างงานในภูมิภาคลดลงไปประมาณ 2 จุดร้อยละโดยเฉลี่ยในระหว่างปี พ.ศ.2562 ถึง 2563 และจะมีประชาชนจำนวนมากถึง 18 ล้านคนของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ ที่จะต้องตกอยู่กับความยากจนในปี พ.ศ.2564 อันเนื่องมาจากโควิด-19” โดยที่ “ครัวเรือนที่ยากจนกว่ามีแนวโน้มเดือดร้อนมากกว่า จากการสูญเสียรายได้ ต้องรีบขายทรัพย์สินที่ใช้ประกอบอาชีพ เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร และลูก-หลานเข้าไม่ถึงการเรียนหนังสือ”

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของเวิร์ลด์แบงก์ก็คือ ผลกระทบในปี 2564 กับปี 2563 ที่ผ่านมา แตกต่างกัน การแพร่ระบาดเมื่อปี 2563 กระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่า ด้วย 2 ปัจจัย

“ปัจจัยแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศในปัจจุบันมีความอ่อนไหวลดลงต่อการติดเชื้อ ขณะที่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 อัตราการมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหนึ่งต่อพันคน จะส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมลดลงไปโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 แต่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 แทบไม่มีผล

“ปัจจัยที่สอง สภาพแวดล้อมภายนอกที่อยู่ในภาวะลอยตัวสูงขึ้นช่วยตรึงการส่งออกของภูมิภาคไว้ การส่งออกสินค้าของจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เทียบกับไตรมาสที่สี่ของปี พ.ศ.2562 และประเทศอื่นในภูมิภาคก็ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5”

แต่ภายใต้ข้อดีที่ว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ก็มีปัญหาอันเนื่องมาจากสภาวะทางการค้าที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน กล่าวคือ

“การส่งออกของภูมิภาคเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการที่ภูมิภาคอื่นๆ เริ่มฟื้นตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หยุดถีบตัวสูงขึ้น ไวรัสสายพันธุ์เดลต้ากำลังส่งผลชะงักงันต่อการผลิตภายในประเทศและประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลน อีกทั้งระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว”

สถานการณ์ที่ว่าเหล่านี้ เกิดขึ้นในขณะที่ความยืดเยื้อของปัญหา “บั่นทอนศักยภาพของรัฐบาล” ในการให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ

การใช้มาตรการช่วยเหลือทางการคลังของภูมิภาคที่ในปี 2563 สูงถึงร้อยละ 7.7 ลดลงเหลือร้อยละ 4.9 เท่านั้นในปีนี้

นสภาพ “เตี้ยอุ้มค่อม” เช่นนี้ หนทางแก้ นอกเหนือจากการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงให้เร็วที่สุดและการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึงแล้ว ก็หนีไม่พ้นแสวงหาการสนับสนุนจากต่างประเทศ

เวิร์ลด์แบงก์แนะให้ปรับปรุงนโยบายการค้าให้เปิดกว้าง, ปฏิรูปการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการสร้างความร่วมมือระดับระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคอาจช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานสำหรับนักท่องเที่ยว และแรงงานชั่วคราว

ทั้งเพื่อประคับประคองและกระตุ้นให้ประเทศฟื้นตัวโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเองครับ