รู้จัก ‘ไซโคฟ-ดี’ ‘ดีเอ็นเอ’ วัคซีนตัวแรกของโลก/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

รู้จัก ‘ไซโคฟ-ดี’

‘ดีเอ็นเอ’ วัคซีนตัวแรกของโลก

 

คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “วัคซีน” คือทางหนทางเดียวที่จะทำให้ “โลก” กลับสู่การใช้ชีวิตเป็นปกติได้อีกครั้ง หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี

ในขณะที่ไวรัสโควิด-19 พัฒนาตัวเอง กลายพันธุ์ไปอย่างต่อเนื่อง “อักษรกรีก” ที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนเรียกไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ถูกใช้ไปแล้วมากกว่า 10 ตัว การพัฒนา “วัคซีน” เพื่อต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาด

ล่าสุดประเทศอินเดียอนุมัติให้วีคซีนชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า “ไซโคฟ-ดี” (ZyCoV-D) วัคซีนชนิด “ดีเอ็นเอ” ตัวแรกของโลก ให้มีการฉีดใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศอินเดียแล้ว

วัคซีน “ไซโคฟ-ดี” ผลิตโดยบริษัท “ไซดัสคาดิลา” (Zydus Cadila) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจากรัฐคุชราต รัฐบนชายฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดีย นับเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 2 ที่อินเดียผลิตเองและประกาศให้ฉีดกับประชาชนในประเทศได้ หลังจากก่อนหน้านี้มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีน “โคแวคซิน” (Covaxin) วัคซีนเชื้อตาย จากบริษัทภารัตไบโอเทค (Bharat Biotech) กับประชาชนในประเทศไปก่อนหน้านี้

“ไซโคฟ-ดี” วัคซีนชนิดดีเอ็นเอซึ่งไซดัสคาดิลาวางแผนที่จะผลิตออกมาให้ได้จำนวน 120 ล้านโดสต่อปี และพร้อมที่จะฉีดให้กับประชาชนในเดือนตุลาคมนี้จะมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนเกือบครึ่งล้านคนอย่างแน่นอน

แต่คำถามก็คือ วัคซีน “ดีเอ็นเอ” คืออะไร? ทำงานอย่างไร? แตกต่างจากวัคซีนที่โลกได้รู้จักก่อนหน้านี้ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน?

 

สําหรับวัคซีนแบบที่เรารู้จักส่วนใหญ่จะใช้เทคนิค “ไวรัสสู้ไวรัส” ด้วยกันเอง โดยจะเป็นการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอลง หรือชิ้นส่วนไวรัสบางส่วนฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อสอนระบบภูมิคุ้มกันให้เรียนรู้ที่จะต้านทานกับไวรัสชนิดนั้นได้ในเวลาที่ติดเชื้อจริง

อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงไวรัสจำนวนมากๆ และนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตวัคซีนนั้นต้องใช้ต้นทุนสูงและใช้เวลานาน ขณะที่ไวรัสเองก็สามารถกลายพันธุ์ได้เมื่อเวลาผ่านไป ทำให้อาจผลิตวัคซีนออกมาได้ไม่ทันท่วงที

นั่นจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีใหม่ๆ ที่จะสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เรียนรู้ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิธีอื่นๆ ที่อาจใช้เวลาไม่นานและใช้ต้นทุนต่ำ จึงนำไปสู่เทคโนโลยี “วัคซีนจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรม” (genetic vaccines) ด้วยการใช้ “ดีเอ็นเอ” และ “อาร์เอ็นเอ” จากไวรัสนั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างวัคซีนแบบดั้งเดิมและแบบ “สารพันธุกรรม” เอาไว้ว่า เหมือนกับ “ฮาร์ดแวร์” ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนของไวรัสจริงๆ และ “ซอฟต์แวร์” หรือการใช้ชุดคำสั่งบางอย่างเข้าไปผลิตโปรตีนไวรัสในร่างกายอีกทีหนึ่ง

ซึ่งวัคซีนประเภท “สารพันธุกรรม” นั้นไม่ได้พัฒนาเพื่อใช้ต่อสู้กับโควิด-19 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อสู้กับ “โรคมะเร็ง” รวมถึง “เอชไอวี” ด้วย

 

สําหรับวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) หรือ “อาร์เอ็นเอผู้ส่งสาร” นั้น เป็นวัคซีนที่ใช้สารพันธุกรรม “เอ็มอาร์เอ็นเอ” ที่รับคำสั่งในการผลิต “โปรตีนหนาม” จาก “ดีเอ็นเอ” ของไวรัส ฉีดเข้าไปในร่างกายผู้รับวัคซีน

“เอ็มอาร์เอ็นเอ” จากไวรัสโควิด-19 เหล่านี้จะส่งชุดคำสั่งให้เซลล์ในร่างกายมนุษย์ผลิต “โปรตีนหนาม” (Spike Protein) แบบเดียวกันกับไวรัสโควิด-19 และโปรตีนหนามเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นมามากพอก็จะสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ได้รับวัคซีนสามารถต้านทานการติดเชื้อ หรืออาการที่จะเกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ในอนาคต

สำหรับวัคซีนที่ใช้ “ดีเอ็นเอ” ของไวรัสแบบที่วัคซีน “ไซโคฟ-ดี” ของอินเดียทำนั้นเป็นการถอยกระบวนการกลับมา 1 ขั้นตอน คือการใช้ “ดีเอ็นเอ” จากไวรัสฉีดเข้าร่างกาย เพื่อให้ดีเอ็นเอของไวรัสเข้าไปสั่งให้ “เอ็มอาร์เอ็นเอ” ในเซลล์ผู้รับวัคซีนถ่ายทอดคำสั่งผลิต “โปรตีนหนาม” ออกมาอีกที เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในร่างกาย

สำหรับความปลอดภัยของวัคซีนทั้งเทคโนโลยี “ดีเอ็นเอ” และ “เอ็มอาร์เอ็นเอ” นั้นมีอยู่ในระดับสูง และมีต้นทุนในการผลิตที่น้อยกว่าแบบที่ใช้ชิ้นส่วนของวัคซีนเชื้อตาย หรือแม้แต่แบบวัคซีนเชื้อตัวนำ (viral vector) อย่างแอสตร้าเซนเนก้า

นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาเพื่อให้ต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้รวดเร็วกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี “ดีเอ็นเอ” นั้นมีข้อได้เปรียบเหนือวัคซีน “เอ็มอาร์เอ็นเอ” ในเรื่องความสะดวกในการขนส่งและการจัดเก็บ สามารถกระจายวัคซีนไปยังประเทศยากจนและมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดีนักได้

บริษัทไซดัสคาดิลา ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า วัคซีน “ไซโคฟ-ดี” สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเท่านั้น นอกจากนี้ ยังคงสภาพดีในการเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสเช่นกัน และยังสามารถเก็บได้นานถึง 3 เดือน แตกต่างจาก “ไฟเซอร์” ที่ต้องเก็บที่อุณหภูมิสูงถึง -70 องศา

นอกจากนี้ วัคซีนไซโคฟ-ดี ยังมีข้อแตกต่างกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ตรงที่การฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะเป็นการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และไม่จำเป็นต้องใช้เข็มอีกด้วย

 

ผลการทดลองเชิงคลินิกของวัคซีน “ไซโคฟ-ดี” ในเฟสที่ 3 ในประเทศอินเดีย พบว่า วัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า แบบมีอาการระดับ 66.6% แม้จะต่ำกว่าประสิทธิผลของวัคซีนอย่างไฟเซอร์ แต่ยังอยู่ในระดับที่ใช้งานได้

วัคซีน “ไซโคฟ-ดี” นับเป็น “วัคซีนดีเอ็นเอ” สำหรับโควิด-19 “ตัวแรกของโลก” ที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดกับประชาชนได้ โดยนอกจากอินเดียแล้วยังมีอีกหลายๆ บริษัทที่พัฒนาวัคซีนชนิด “ดีเอ็นเอ” อยู่ เช่น บริษัทไอโนวิโอ (Inovio) ในสหรัฐอเมริกาที่อยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิก ขณะที่บริษัทแอนเจส (AnGes) และบริษัททาคาระไบโอ (Takara Bio) ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอซาก้าของญี่ปุ่น ก็อยู่ระหว่างพัฒนาวัคซีนดีเอ็นเอของตัวเองอยู่เช่นกัน

วัคซีน “ดีเอ็นเอ” นี้จึงนับเป็นวัคซีนอีกชนิดที่จะเข้ามาเป็นความหวังให้มนุษยชาติผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุด