การศึกษา : ดีเดย์ ปักไฟเซอร์ ‘น.ร.-น.ศ.’ 4 ต.ค. ความหวัง… ‘เด็กไทย’ ได้ไปโรงเรียน??

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration//File Photo/File Photo

 

 

ดีเดย์

ปักไฟเซอร์ ‘น.ร.-น.ศ.’ 4 ต.ค.

ความหวัง… ‘เด็กไทย’ ได้ไปโรงเรียน??

 

เรียบร้อยโรงเรียน ศธ.ไปแล้ว หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์” เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ให้เด็กอายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน หรือ 18 ปีบริบูรณ์

ครอบคลุมนักเรียน นักศึกษา ชั้น ม.1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า รวมถึงนักเรียนชั้น ป.6 ที่มีอายุ 12 ปีเป็นต้นไป

โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดก่อน

ตามไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนให้นักเรียน ที่ ศธ.ได้วางแผนไว้ มีดังนี้

วันที่ 10-17 กันยายน สถานศึกษาเตรียมรายชื่อและจำนวนนักเรียน

วันที่ 17-22 กันยายน สถานศึกษาประชุมทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลผู้ปกครองในการฉีดวัคซีนให้นักเรียน

วันที่ 21-24 กันยายน สถานศึกษาเชิญผู้ปกครองลงนามยินยอมให้นักเรียนเข้ารับวัคซีน

วันที่ 25 กันยายน สถานศึกษาส่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่รับวัคซีนไฟเซอร์แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) หรือประธานอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) แล้วส่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)

วันที่ 26 กันยายน ศธจ., ผู้อำนวยการ สพม., อศจ. และผู้แทนหน่วยงานการศึกษาในจังหวัด ประชุมสรุปจำนวน และรายชื่อนักเรียน เพื่อส่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สธจ.)

วันที่ 28-30 กันยายน สธจ.วางแผนการรับวัคซีน และกำหนดการฉีดวัคซีนเป็นรายโรงเรียน

วันที่ 1 ตุลาคม สถานศึกษารับทราบกำหนดการ จัดเตรียมสถานที่ และจะนัดนักเรียนให้มาฉีดวัคซีนที่สถานศึกษา

วันที่ 4 ตุลาคม เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน…

เพื่อรองรับให้สถานศึกษาเปิดห้องเรียนปกติได้ในภาคเรียนที่ 2/2564!!

 

ล่าสุด ศธ.ได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.), ศธจ., อศจ., ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ผู้แทนโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ และผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ที่มีสถานศึกษา

เพื่อไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน

โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา ทุกคน ทุกสังกัด ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด กว่า 4.5 ล้านคน

ฉะนั้น ถ้าเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ วัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกจะปักเข้าที่แขนนักเรียน นักศึกษา ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม โดยกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม และทยอยได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน

จะทำให้โรงเรียนบางส่วนในพื้นที่สีแดงเข้ม เปิดเรียนแบบ On-Site ได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน

ถ้าการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน จะทำให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเรียนปกติ 100% ได้ทั่วประเทศ ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

ซึ่ง ศธ.ได้จัดทำเอกสารเพื่อให้หน่วยงาน และสถานศึกษาทุกสังกัด ดาวน์โหลด ได้แก่

1. แบบสำรวจการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ในนักเรียน/นักศึกษา ชั้น ม.1-6 หรือเทียบเท่า แต่ละห้องเรียน

2. แบบสรุปจำนวนนักเรียน/นักศึกษา ชั้น ม.1-6 หรือเทียบเท่า ที่มีความประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์ แยกแต่ละสถานศึกษา

3. แบบสรุปจำนวนนักเรียน/นักศึกษา ชั้น ม.1-6 หรือเทียบเท่า ที่มีความประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์รายจังหวัด

4. เอกสารแสดงความประสงค์ของผู้ปกครองเพื่อให้นักเรียน/นักศึกษา ชั้น ม.1-6 หรือเทียบเท่า ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

5. แบบคัดกรองก่อนรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักเรียน/นักศึกษา ชั้น ม.1-6 หรือเทียบเท่า

6. ตัวอย่างหนังสือแจ้งการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับนักเรียนชั้น ม.1-6 หรือเทียบเท่า

และ 7. แบบสรุปผลการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียน/นักศึกษา ชั้น ม.1-6 หรือเทียบเท่า

โดยสถานศึกษาดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ https://www.moe.go.th

 

สําหรับแผนการฉีดวัคซีนนักเรียน นักศึกษา ทุกสังกัด ประกอบด้วย สธจ.และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะบริหารจัดการวัคซีนภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กทม.ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ประสานงาน ศธ., ศธจ. หรือหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อเตรียมการให้วัคซีนนักเรียน

โดยจะสำรวจเป้าหมาย จัดทำแผนจัดสรร และกำหนดช่วงเวลาเข้ารับวัคซีน กำหนดสถานบริการฉีดวัคซีนให้กับแต่ละโรงเรียน ประสานผู้บริหารโรงเรียนเพื่อนำนักเรียนเข้ารับวัคซีน พร้อมกำกับติดตามรายงานผลการให้บริการในระบบ MoPH IC

ขณะที่กรมควบคุมโรค จะทำหน้าที่จัดส่งวัคซีน และอุปกรณ์การฉีดแผนการฉีดวัคซีนที่ได้จาก สธจ.สำหรับ ศธ.จะกำกับติดตามการดำเนินงานให้วัคซีนนักเรียน ตามนโยบายของประเทศ พร้อมรวบรวมข้อมูลนักเรียนจากแต่ละสถานศึกษา และแจ้ง สธจ.

ส่วนสถานศึกษา มีหน้าที่ชี้แจงผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนวันรับวัคซีน จัดส่งคำแนะนำการฉีดวัคซีน และใบยินยอมให้นักเรียนฉีดวัคซีน แจ้งจำนวนนักเรียนที่จะเข้ารับวัคซีนแก่ สธจ.ผ่านระบบที่ สธจ.กำหนดไว้

และสถานพยาบาล มีหน้าที่จัดระบบให้บริการตามมาตรฐาน ได้แก่ ตรวจสอบใบยินยอม คัดกรอง ฉีดวัคซีน นัดหมาย ออกเอกสารรับรอง เฝ้าระวัง และบันทึกผลการให้บริการในระบบ MoPH IC

รวมถึงมีหน้าที่รับ-จ่ายวัคซีน จัดเก็บวัคซีน และรายงานสถานะคงคลัง!!

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเตรียมการต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดเรียนปกติให้ได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ก่อนหน้านี้ ศธ.ได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด โดยทยอยฉีดไปแล้วกว่า 72% เหลืออีก 1.7 แสนคน ที่ทยอยเข้ารับวัคซีน

อีกสิ่งหนึ่งที่ ศธ.ได้เตรียมการคู่ขนานไปกับการฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา คือเมื่อเปิดเรียนแบบ On-Site เต็มรูปแบบแล้ว สถานศึกษาจะต้องมี “มาตรการ” อย่างไรเพื่อเพิ่มความ “มั่นใจ” และสร้างความ “ปลอดภัย” ให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง

ซึ่งขณะนี้ ศธ.มีสถานศึกษาในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จำนวน 15,465 แห่ง โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษา 1,687 แห่งที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัด สพฐ. 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัด สอศ. 21 แห่ง และสังกัด กศน. 250 แห่ง

โดย ศธ.จะพิจารณา “ความพร้อม” ของแต่ละสถานศึกษา สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แจกแจงว่า ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นอันดับแรก โดยการฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจ และความยินยอมจากผู้ปกครอง

นอกจากการฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษาแล้ว ศธ.ยังมีแผนดำเนินโครงการ “โรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS)” ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ ได้แก่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่พร้อม โดย ศธ.จะประสาน สธ.ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนที่ต้องการเข้าโครงการ ว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่

ทั้งนี้ การเป็นโรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ

1. เป็นโรงเรียนประจำ

2. เป็นไปตามความสมัครใจ

และ 3. ผ่านการประเมินความพร้อม โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด หารือร่วมกับผู้ปกครอง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

โดยจัดให้มี “สถานแยกกักตัวในโรงเรียน” หรือ School Isolation และจัด “Safety Zone” ในโรงเรียน ติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการของ ศธ.และ สธ. รวมถึงรายงานผลผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus

ล่าสุด ศธ.สำรวจตัวเลขเบื้องต้นพบว่า ผู้ปกครองยินยอมให้ลูกหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ถึง 90% เหลือเพียงเซ็นชื่อในใบยินยอมเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็น “ความหวัง” ให้เด็กๆ ที่ไม่ได้ไปโรงเรียนมากว่า 1 ปี ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับคุณครูและเพื่อนๆ ตามวัย เพราะต้องเรียนผ่าน “ออนไลน์” จะได้ไปโรงเรียนเสียที!!