การต่อสู้ของเยาวชน 2 ยุค จากตุลา 19 ถึงตุลา 64 ใช้ปืนไม่ได้…จะใช้อะไรสู้?/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

การต่อสู้ของเยาวชน 2 ยุค

จากตุลา 19 ถึงตุลา 64

ใช้ปืนไม่ได้…จะใช้อะไรสู้?

 

อีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ 45 ปี รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 หลังจากครบรอบ 15 ปีการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ 19 กันยายน 2549 เวลาห่างกัน 30 ปี

สิ่งที่น่าสนใจคือการต่อสู้ของเยาวชนทั้งสองยุคว่ามีความเหมือนความต่างกันอย่างไร

ทีมวิเคราะห์ของเรามีผู้ที่มีประสบการณ์ทางการต่อสู้มาตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 จนถึงยุคนี้ มีความเห็นดังนี้

 

มีประสบการณ์จากระบบเผด็จการที่คล้ายกัน

เยาวชนทั้งสองยุค พอโตรู้ความ ก็อยู่ใต้ระบบเผด็จการเป็น 10 ปี แต่สามารถมองเห็นปัญหา และออกมาต่อต้าน

คนหนุ่มคนสาวยุค 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ไม่มีช่วงเวลาหาประสบการณ์การต่อสู้ที่ยาวนาน แต่ก็สร้างความตื่นตัวทางการเมืองได้ทั่วประเทศ

เด็กหนุ่ม-สาวบางคนเพิ่งเข้าสู่สนามการต่อสู้ทางการเมืองได้ไม่ถึงปี คนที่อยู่มาก่อนๆ ก็มีประสบการณ์เพียง 2-3 ปี พวกเขาอายุเฉลี่ย 17-24 ปี

การต่อสู้เริ่มประมาณ 2515 ไปจบที่การล้อมปราบและสังหารหมู่เพื่อทำการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

นักศึกษาที่อยู่ในธรรมศาสตร์ไม่ได้ถูกเรียกว่าวีรชน แต่เป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏและคอมมิวนิสต์ และข้อหาอื่นๆ สารพัด จะมาถูกเรียกว่าวีรชนก็หลังจากนั้นอีกหลายปี

ส่วนพวกที่ก่อกรรมทำเข็ญครั้งนั้นก็แอบหลบหน้าหนีไปหมด จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครกล้าอ้างว่าตัวเองเป็นวีรบุรุษในการเข้าโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในวันนั้น 40 คน ถูกจับประมาณ 3,100 คน

บทจบของยุคนั้น คนที่รอดตายจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องหนีเข้าป่า จับปืนสู้กับรัฐบาลเผด็จการ แม้ไม่ได้รับชัยชนะ แต่คนก้าวหน้าในยุคนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังผลักดันเพื่อสู้กับความไม่ถูกต้องในยุคต่อมา

ส่วนเยาวชนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันที่ออกมาต่อสู้ ก็อายุประมาณ 15-25 ปี

สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ก็คืออุปสรรคขัดขวาง ที่พวกเขาจะต้องฟันฝ่าไป

เด็กเห็นความขัดแย้งของสีเสื้อระหว่างแดง-เหลือง

เห็นการรัฐประหาร 2549

เห็นการปราบประชาชนและสังหารหมู่กลางเมือง ในปี 2553

มาเรียนรู้ในชีวิตจริงตอนโตขึ้นก็มีรัฐประหาร 2557 ถ้ามีโทรศัพท์มือถือ ก็จะพอรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การเมือง ความยุติธรรม สิ่งแวดล้อม ชีวิตและอาชีพของคนทั้งโลก สิ่งดีๆ ที่ปรากฏในจอก็คือความฝันของพวกเขา

แต่สิ่งที่พบเห็นจริงรอบตัวล้วนแต่เลวร้าย จนไม่สามารถทนต่อไปได้

 

จิตสำนึกเชิงคุณธรรมของเยาวชน

ความเหมือนกันอีกอย่าง คือเด็กๆ เติบโตมาจากการสั่งสอนว่าจะต้องอยู่ฝ่ายธรรมะ ต้องมีความยุติธรรม ต้องเสียสละและต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

แต่เมื่อทำอย่างนั้นเข้าจริงๆ ผู้ใหญ่กลับรับไม่ได้ ก็พยายามอ้างว่าเด็กถูกชักจูง

แต่ความจริงแล้วผู้ใหญ่ต่างหากที่ถูกชักจูงจนออกนอกกรอบของศีลธรรม ความดีงาม และผลประโยชน์ของชาติ

ปัญญาชน สื่อมวลชน และคนที่มีฐานะนำในสังคม ส่วนใหญ่ก็เพิกเฉย หรือไปหาประโยชน์ร่วมกับผู้มีอำนาจ

นักวิชาการ ครูบาอาจารย์บางกลุ่ม ได้ดิบได้ดีรับตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหาร บางคนเป็น สนช. เป็น ส.ว. บางคนได้เป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ ทำให้คนเหล่านี้ยังรับใช้ต่อเนื่อง

อคติที่เกิดจากผลประโยชน์ เกิดจากความโน้มเอียงเลือกข้างเลือกพวกพ้องของผู้ใหญ่จะมีมากกว่าเด็ก ความกลัวต่ออำนาจก็มีมากกว่า ความคิดที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบอยู่เป็น อยู่รอด เฉพาะตัวเองมีมากกว่า

วันนี้เยาวชนจึงเคลื่อนไหวเป็นแนวหน้า กล้าเสี่ยงเพราะเห็นความอยุติธรรมครองเมือง ในขณะที่ผู้ใหญ่วิ่งเข้าไปยอมสยบกับผู้มีอำนาจแม้ว่าอำนาจนั้นจะได้มาจากการรัฐประหาร

 

เยาวชนประท้วงและต่อสู้กับผู้กุมอำนาจรัฐ

เนื่องจากความไม่พอใจ 5 ประการ

1.ความไม่พอใจต่อทางด้านการเมืองการปกครอง ที่มีลักษณะเผด็จการ การสืบทอดอำนาจ 2562 ทำลายความหวังคนรุ่นใหม่ เช่น การยุบพรรคไทยรักไทย การยุบพรรคอนาคตใหม่ การซื้อ ส.ส. การใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทางการเมือง

2. ความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจที่มีผลทำให้ตนเองและคนส่วนใหญ่ในสังคมต้องมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เพราะรัฐประหารปี พ.ศ.2549 และ 2557 ทำลายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ จากวันนี้จะเป็นผู้รับกรรม พวกเขาจะต้องทำงานใช้หนี้ไม่น้อยกว่า 30 ปี ในขณะที่คนตกงาน เด็กจบมาแล้วไม่มีงานทำ คนค้าขายก็ขาดทุน ธุรกิจ SME ล้มมากมาย

3. ความไม่พอใจ เมื่อเกิดการเปรียบเทียบทางด้านการศึกษาวัฒนธรรมและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การประท้วงระบบการศึกษาจึงยังจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

4. ความไม่พอใจต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในระบบบริหารระดับต่างๆ หลังรัฐประหาร ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นกลับเพิ่มมากขึ้น

5. ความไม่พอใจต่อกระบวนการยุติธรรมในระยะเวลา 10 กว่าปี กระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปแบบยุติธรรมที่มีมาตรฐาน หากแต่มีการเลือกบังคับใช้เฉพาะคนเฉพาะกลุ่ม

เมื่อเกิดซ้ำหลายครั้งเข้าประชาชนก็เข้าใจได้ว่า นี่เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายบุคคลหรือกลุ่ม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อเงินทอง

 

ลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน

ของเยาวชน 2 ยุค

14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 แม้เยาวชนที่ก้าวหน้าจำนวนน้อยเป็นกลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สามารถชนะเลือกตั้งเป็นองค์การนักศึกษาสถาบันต่างๆ และมีการยอมรับการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)

การเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมีการกำหนดมาเป็นมติว่าจะทำเรื่องใดอย่างไรเมื่อไร การเคลื่อนไหวมีการทำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เริ่มจนจบในแต่ละเรื่อง และเมื่อจะมีเรื่องใหม่ก็กำหนดกันใหม่ กรณีที่มีเรื่องย่อยๆ หรือเฉพาะของมหาวิทยาลัยสามารถไปเคลื่อนไหวตามที่ตนเองกำหนดได้ถ้ามีปัญหาก็จะขอความช่วยเหลือจากที่อื่นๆ

ในยุคนั้นสื่อสารมวลชนถูกจำกัดอยู่แค่หนังสือพิมพ์ทีวีวิทยุ ซึ่งรัฐคุมได้

ถ้าเปรียบเทียบกับยุคนี้จะพบว่าขบวนของนักศึกษาที่ออกมาประท้วงเรียกร้องก็มีอยู่ตามมหาวิทยาลัยเหมือนสมัยโน้น แต่ปัจจุบันมีจำนวนมหาวิทยาลัยมากกว่าและกระจายไปทั่วประเทศมากกว่า

ถ้าพิจารณาดูความเป็นอิสระขององค์กรก็จะพบว่าปัจจุบันไม่มีศูนย์กลางการนำของนักศึกษาระดับประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยระบบสื่อสารที่ทันสมัยกว่า เขาสามารถประสานกับแกนนำต่างๆ ได้ทั้งที่เป็นองค์การนักศึกษา หรือกลุ่มอิสระทั่วประเทศในเวลารวดเร็ว และแต่ละแห่งยังประสานลงไปยังเยาวชนที่เป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ในขณะที่เมื่อก่อนอาจจะต้องแจกแถลงการณ์เป็นหมื่นๆ แผ่น และใช้เวลาหลายวัน

ดังนั้น กระบวนการนักศึกษาในปัจจุบันจึงไม่มีลักษณะเป็นองค์กรที่มีการรวมศูนย์การนำ แต่เป็นแนวร่วมที่มีการประสานงานกันเป็นเครือข่าย

ถ้าพิจารณาในเชิงความสามารถที่จะระดมนักศึกษาร่วมต่อสู้ในประเด็นต่างๆ เมื่อเทียบกับยุคก่อน ยุคนี้ก็ไม่ได้น้อยกว่าเลย แถมเร็วกว่าด้วย

แต่ถ้าพิจารณาในแง่เป้าหมายและข้อเรียกร้องในยุคก่อนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกำหนดเหมือนกันเป๊ะ แต่ในยุคนี้อาจมีความแตกต่างกันบ้างหรือแตกต่างกันมากแล้วแต่ละสถาบันจะคิดอย่างไร หรือเป็นไปตามช่วงสถานการณ์การเมืองขณะนั้น

 

การต่อสู้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ในเมื่อเยาวชนรุ่น 40 กว่าปีที่แล้ว สุดท้ายถูกปราบ ถูกฆ่าและเปลี่ยนแนวทางมาเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ไม่สามารถได้รับชัยชนะ

แล้วเด็กยุคปัจจุบันที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากโทรศัพท์มือถือจะสู้ต่อไปอย่างไร?

คำตอบก็คือเขาก็สู้ไปแบบนี้แหละ

เพราะความตื่นตัวในวันนี้มิใช่เพียงแค่เด็กในมหาวิทยาลัย แต่ลงลึกไปถึงเด็กมัธยมต้นมัธยมปลาย เมื่อรุ่นพี่จบไปทำงาน หรือตกงาน คนรุ่นใหม่ก็จะโตขึ้นมาทดแทนเป็นชั้นๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัย เทคโนโลยีใหม่ จะทำให้กลุ่มก้าวหน้าเหล่านี้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ เด็กที่อายุ 15 ก็จะกลายเป็น 20 ในมหาวิทยาลัยไป และกลายเป็น 25 เมื่อตอนทำงาน

แรงกดดันจากความอยุติธรรม ความยากลำบาก จะสร้างคนแกร่ง

สิ่งที่รัฐบาลกำลังช่วยฝึกหัดเวลานี้ก็คือบีบบังคับ เคี่ยวเข็ญให้พวกเขาแกร่งขึ้นและอาจจะเคียดแค้นมากขึ้น ตำนานการต่อสู้จะถูกถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น

ด้วยความโง่บังตาไปปราบ และฆ่าคนเสื้อแดงปี 2553 ทำให้ความคิดก้าวหน้ากระจายออกออกไปสู่ชนบท

วันนี้ปราบปรามเด็กด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา มันไม่เพียงไปกระทบกับจิตใจและร่างกายของคนที่ได้รับโดยตรง แต่มันยังมีผลไปยังเยาวชนทั่วประเทศ พวกเขามองเสมือนหนึ่งว่าเพื่อนของเขาต่อสู้อย่างถูกต้อง แต่โดนรังแก

เวลาเข้าข้างพวกเขาอีก 10-20 ปี คู่ต่อสู้ก็ตายเกือบหมดหรือแก่จนทำอะไรไม่ได้

แต่พวกเขาจะเติบโตอยู่ในวัยฉกรรจ์และก้าวเข้ามาเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก

อาวุธวันนี้ไม่ใช่ปืน ที่สำคัญคือ ความรู้ ความจริง ความคิด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และเวลา