1 ตุลาคม วันชาติจีน : วรศักดิ์ มหัทธโนบล มองจีน มองโลก มองไทย อย่างไรต่อหลังจากนี้ ?

1ตุลาคม เป็นวันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน

รศ.ดร.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน มองบทบาทของ “จีน” ว่าจีนจะมีท่าทีอย่างไรในเรื่องต่างๆ

เริ่มจากต้องมองปัจจัยสำคัญที่เป็นภาพรวมที่เราเห็นมาอย่างต่อเนื่อง คือความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจัยหรือปัญหานี้มันมีมายาวนานนับ 10 ปี จะหนักหรือจะเบาขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐมีใครเป็นผู้นำในแต่ละช่วงเวลานั้น

นี่เป็นปัจจัยที่ผมอยากจะเรียกว่ามันส่งผลกระทบต่อการกำหนดท่าทีของจีนในแต่ละเรื่อง แต่ถ้าถามว่าปัจจัยนี้ทำให้จีนต้องเปลี่ยนท่าทีต้องมิตรประเทศอื่นๆ หรือไม่ อันนี้ก็คงไม่ใช่

เราสามารถดูได้จากเหตุการณ์ซึ่งมันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน อย่างเช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นว่า ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นในจีนเป็นแห่งแรกในโลก แต่หลังจากที่จีนสามารถบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้แล้ว เราจะเห็นว่าท่าทีของจีนที่มีต่อประเทศต่างๆ ในโลกจะเป็นท่าทีที่ออกมาในเชิงบวก มากกว่าท่าทีของสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ยกตัวอย่างเช่น เราจะเห็นได้ว่าจีนนั้นจะมีการบริจาควัคซีนมากกว่าชาติตะวันตก

ในขณะเดียวกันจีนก็มีความอดทนอดกลั้นต่อการให้ร้ายของสหรัฐ โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับโรคโควิด-19

ดังนั้น ปัจจัยที่ผมได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่ามันมีผลกระทบ หรือส่งผลต่อท่าทีของจีนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตอนนี้เราไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดมันจะเป็นอย่างไรต่อไปในปีหน้า แต่อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วช่วงปีสองปีที่ผ่านมาหรือหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงในอนาคตอันใกล้

ผมคิดว่าท่าทีของจีนที่มีต่อประชาคมโลกก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

อาจารย์วรศักดิ์ชวนย้อนมองกลับไปหลายสิบปีก่อน หลังจากที่จีนปฏิรูปและเปิดประเทศและทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตมาอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้อย่างรวดเร็ว โดยธรรมชาติของคน หากผ่านเหตุการณ์ที่ยากลำบากมาก่อน แต่พอมาวันหนึ่งด้วยความสามารถของผู้นำ ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำ หรือจะด้วยบุคลิกลักษณะประจำชาติของชาวจีนที่เป็นคนขยันขันแข็ง ในการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนทำให้ชาวจีนได้เห็นว่า มันเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นดีขึ้น

เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อมันสัมผัสจับต้องได้ มันจึงไม่แปลกที่จะทำให้ชาวจีนมีความรู้สึกนึกคิดที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว

จึงเห็นความพัฒนาแบบก้าวกระโดดเป็นผลสำเร็จ แล้วผู้คนก็มีความดีใจ มีความยินดีและมีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าเดิม เพื่อความก้าวหน้า ต่อยอดไปเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่แปลกใจว่า เวลาที่จีนค้นพบอะไรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เขาจะมีความกระตือรือร้นต่อสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้

และพอสิ่งใหม่ๆ นี้ได้สร้างประโยชน์ให้กับชาวจีน เขาก็จะมีกำลังใจที่จะคิดค้นมันต่อไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น เราเห็นแล้วว่านวัตกรรมของจีนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มันเป็นนวัตกรรมที่เราจะรู้สึกเกิดการตั้งคำถามว่า จีนคิดได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายความแค่เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง แต่ยังหมายรวมถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคนไทยอาจจะไม่รู้ เช่น การผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ที่ได้สร้างประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรค

การที่จะมีอะไรแบบนี้ได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นลักษณะหรือบุคลิกอย่างหนึ่งของชาวจีน ที่ประชากรมีความขยันขันแข็งเป็นพื้นเดิม

ด้านการต่างประเทศ ผมเห็นถึงพัฒนาการสำคัญอย่างหนึ่งที่มันมาจากหลักนโยบายต่างประเทศของจีน โดยเฉพาะหลักการที่จีนยึดถือมาโดยตลอด คือการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นหรือเพื่อนบ้าน ที่จีนก็ยึดหลักการนี้มาหลายสิบปี

ซึ่งผลปรากฏว่านโยบายนี้ได้สร้างประโยชน์ให้กับจีนมากกว่าที่จะทำให้จีนเสียประโยชน์

ยกตัวอย่างเช่น ท่าทีของจีนจากนโยบายที่ว่านี้สดๆ ร้อนๆ คือนโยบายที่มีต่อทาลิบันในอัฟกานิสถาน ทันทีที่สหรัฐถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานแล้ว ปัจจุบันกลุ่มทาลิบันสามารถยึดกรุงคาบูลได้ ช่วงระยะเวลาไม่นานเราจะพบว่าผู้แทน หรือผู้นำคนหนึ่งของทาลิบันได้เดินทางไปเยือนจีน และจีนก็สานสัมพันธ์โดยทันทีทันใด พร้อมกับเสนอเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งผมคิดว่าท่าทีแบบนี้ ได้รับการตอบรับจากกลุ่มทาลิบันด้วยดี

คำถามสำคัญคือจีนได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ผมให้ลองมองต่อไป เพราะถ้าเราจะตามข่าว จะพบว่าจีนนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพื้นเดิมกับปากีสถาน และปากีสถานก็มีพื้นที่ติดกับอัฟกานิสถาน เพราะฉะนั้น ในอนาคตด้วยความสัมพันธ์ที่ดีหากไม่มีอะไรมาสะดุด หรือเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล จะทำให้บทบาทของจีนมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องเข้าไปทำในอัฟกานิสถาน

เช่น ความต้องการในเรื่องของแร่หายาก ความต้องการในการต่อเส้นทางคมนาคมจากปากีสถาน การเข้าไปใช้นโยบายแถบและทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า มันเป็นความสำเร็จของนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของจีน

เพราะว่าที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการยึดครองพื้นที่ของกองทัพสหรัฐเป็นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี แม้จีนจะไม่เห็นด้วย แต่จีนก็ไม่เข้าไปทำอะไร ทางการจีนพยายามรักษาความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานปกติ

จีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือเข้าไปวิจารณ์อะไร อันนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในขณะนี้

 

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทย อาจารย์วรศักดิ์มองว่า ยังคงเป็นไปอย่างปกติ คือหมายความว่า ไม่มีใครเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ หรือกระทั่งตกลงทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน

แล้วทางไทยก็ไม่ได้รู้สึกว่าการที่มีความสัมพันธ์กับจีนในปัจจุบันนี้ จะทำให้ใครรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งอันนี้เป็นนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อจีนมาอย่างยาวนาน

แต่แน่นอนถ้าจะมาเปรียบเทียบว่า ไทยได้รับความช่วยเหลือต่างๆ นานาจากจีน มากเท่ากับกัมพูชาหรือลาวหรือไม่ อันนี้คงมาเทียบกันไม่ได้ เพราะว่าในกรณีของเพื่อนบ้านทั้งสองนี้ ผู้นำของเขามีนโยบายอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับไทยและไม่เหมือนกับนานาประเทศ

คือหมายความว่าเขาเลือกผูกพันอยู่กับจีนเป็นด้านหลัก

แต่ของไทยไม่ใช่อย่างนั้น ของไทยเรานั้นผูกพันกับมหาอำนาจทั้งจีน, สหรัฐ และรัสเซีย คือเป็นความสัมพันธ์ที่พยายามรักษาดุลยภาพให้มากที่สุด

 

มองก้าวต่อไปในความเป็นมหาอำนาจของจีน อาจารย์วรศักดิ์เห็นว่า ในฐานะที่ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน เราจะเห็นได้ว่า เมื่อย้อนหลังไปดูอดีต 100 ปีที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันนั้น จีนได้ก้าวจากความขมขื่นผ่านความยากลำบาก ถึงขั้นที่ว่าไม่มีข้าวจะกิน แต่พอมาถึงปีที่ 100 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ่งที่เขาประกาศก็คือเขาสามารถขจัดความยากจนไปได้

เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราอาจจะมองไปข้างหน้าได้อีกยาวๆ เลยก็ได้หากอนาคตข้างหน้า พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ และกลุ่มผู้นำภายในพรรคยังมีเอกภาพ ที่สำคัญคือ กลุ่มผู้นำจีนในแต่ละยุคแต่ละสมัยจวบจนปัจจุบันยังคงมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ ผมคิดว่าก้าวต่อไปของจีนจะเป็นก้าวที่มีการพัฒนา จากปัจจุบันที่เรียกว่าก้าวกระโดดมามากแล้ว ในอนาคตก็จะยิ่งก้าวกระโดดให้เราเห็นมากขึ้นกว่านี้ไปอีก

อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่อนาคตที่ก้าวกระโดดนี้ เราก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่จะมาแทรกซ้อนด้วย อย่างเช่น เรื่องของบทบาทของสหรัฐอเมริกา บางทีเขาอาจจะทำให้ การก้าวเดินของจีนสะดุดไปบ้าง

อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องจับตาดูควบคู่กันไป แต่ผมมองในเชิงบวกแบบมีเงื่อนไขว่า หากกลุ่มผู้นำจีนยังสามัคคีกัน เป็นเอกภาพกันดังเช่นปัจจุบันและมีวิสัยทัศน์แบบที่ผ่านมาในห้วง 30-40 ปี การที่จีนเจริญขึ้นมาได้ก็เพราะปัจจัยเหล่านี้

ถ้าปัจจัยเหล่านี้ยังคงอยู่ก็เชื่อได้ว่าอนาคตของจีนจะรุ่งเรืองต่อไป

 

อาจารย์วรศักดิ์ระบุว่า อยากให้คนไทยศึกษาความเป็นแบบอย่างจากจีนในเรื่องของความขยันขันแข็ง ไม่ใช่แค่ความขยันในเรื่องการทำงานอย่างเดียว แต่เขามุ่งไปที่ความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา คนจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก นอกจากการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ที่เห็นได้ว่านักเรียนจีนมีความขยันอย่างมากในการศึกษาหาความรู้

ส่วนคนที่ด้อยการศึกษา เขาก็แสวงหาความรู้ เพียงแค่อ่านหนังสือออก ซึ่งคนจีนเขาขยันอ่านหนังสือ คนจีนเขาวัดกันที่คนหนึ่งอ่านหนังสือปีละกี่เล่ม อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสังคมไทยจะต้องศึกษาดู เพราะว่ามันมีประโยชน์

เนื่องจากผมมองว่าคนไทยมีวัฒนธรรมในการอ่านที่อ่อนแอมาก สิ่งนี้เป็นปัญหาในไทยที่เราเห็นกันมานานแล้ว ถ้าพูดให้เป็นภาษาวิชาการ คือคนจีนเขาสามารถเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ใจด้วย ถ้าไม่มีใจก็ไม่สำเร็จ

นี่คือกุญแจแห่งความสำเร็จของบ้านเขา ผ่านใต้ภูมิหลังและประวัติศาสตร์ที่เขาเคยยากลำบากมาก่อน