วิรัตน์ แสงทองคำ : ปตท. ขยับ แบบ ‘ยักษ์’

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ภาพประกอบจาก www.brandbuffet.in.th

 

วิรัตน์ แสงทองคำ / https://viratts.com/

 

ปตท. ขยับ แบบ ‘ยักษ์’

 

ได้เวลา “จับตา” บริษัทใหญ่ที่สุดในประเทศ มากับแผนการใหญ่ดูครึกโครม

ล่าสุด “ปตท. ร่วมทุนฟ็อกซ์คอนน์ เตรียมจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน เล็งพื้นที่ EEC สร้างโรงงานใหม่ วางระบบการผลิต การบริหาร Supply chain พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม ด้วยเงินลงทุน 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานในอนาคต…” หัวข้อความเคลื่อนไหวใหญ่ (14 กันยายน 2564)

อันที่จริง เป็นขั้นต่อเนื่องจากเมื่อเกือบๆ 4 เดือนก่อน (31 พฤษภาคม 2564) จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มาเป็นการลงนามความร่วมมือ (JVA) ตามแบบแผนในห้วงเวลาวิกฤต COVID-19 เป็นพิธีการในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Signing Ceremony) จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และกรุงไทเป ไต้หวัน

เชื่อว่าแวดวงคงตื่นเต้นกันบ้าง เป็นดีลโครงการใหม่ล่าสุด ดูจะแตกต่างจากแนวทางธุรกิจเดิมของ ปตท.ออกไปพอสมควร

ที่สำคัญมีพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าสนใจ “Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (Foxconn) ก่อตั้งขึ้นในไต้หวัน ในปี พ.ศ.2517 เป็นผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีโซลูชั่นชั้นนำ เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ อาทิ Cloud Computing, Mobile Devices, IoT, Big Data, AI, Smart Networks, Robotics, Automation และ Electric Vehicle เป็นต้น”

ถ้อยแถลงของ ปตท.ให้ข้อมูลสั้นๆ ไว้

 

ที่จริงเรื่องราว Foxconn ที่ตื่นเต้นมีมากทีเดียว เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในนาม Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. อย่างที่ว่าไว้ แต่เวลาเข้าตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ใช้นาม Foxconn Technology Group ปัจจุบันมีฐานะเป็นหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองที่นั่น

ที่สำคัญเมื่อพิจารณาข้อมูลทางการเงิน Foxconn พบว่ามีรายได้ต่อปีมากกว่า 6 ล้านล้านบาท (ปี 2562) ซึ่งมากกว่า ปตท. อย่างน้อย 2 เท่า (ในปีเดียวกัน)

Foxconn มีชื่อเสียงขึ้น ด้วยเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า Apple ที่มีฐานการผลิตใหญ่ที่สุดอยู่ในจีนที่มีมากถึง 12 แห่งใน 9 เมือง

โรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่ Shenzhen มณฑล Guangdong, (ก่อตั้งปี 2531) และโรงงานที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่ Zhengzhou มณฑล Henan ที่เรียกกันว่าเป็น “เมือง iPhone” ว่ากันว่าเป็นบริษัทเอกชนที่จ้างงานจำนวนมากที่สุดของประเทศจีน อยู่ในเขตอุตสาหกรรมไฮเทค (Zhengzhou New & Hi-Tech Industries Development Zone) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 3 ทศวรรษที่แล้ว

แต่ในระยะหลังๆ มานี้ Foxconn เริ่มสร้างโรงงานนอกประเทศจีน ไปตามภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่ายุโรป บราซิล และสหรัฐอเมริกา

ที่สำคัญมีเครือข่ายธุรกิจรอบๆ บ้านเราไม่น้อย ไม่ว่าอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงมาเลเซีย

Foxconn ใหญ่มากขึ้น เนื่องมาจากมีลูกค้ายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระดับโลกมากขึ้นๆ โดยเฉพาะบริษัทอเมริกัน ไม่ว่า Intel Microsoft, HP และ IBM

“เพื่อสร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของฟ็อกซ์คอนน์ ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า ผสานกับองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของกลุ่ม ปตท…” ถ้อยแถลงตอนสำคัญ ในแผนการร่วมทุน

โดยสาระอาจตีความได้ว่า Foxconn ขยายเครือข่ายมายังประเทศไทย เป็นไปตามเป้าหมายขยายเครือข่ายอย่างที่ว่าไว้ และมีลูกค้า (หรือคู่ค้า) รายใหญ่รายใหม่ ที่ถือว่าเทียบชั้นลูกค้ารายอื่น ในฐานะ ปตท.เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดประเทศไทย อยู่ในทำเนียบบริษัทระดับโลก (Fortune Global 500)

ทั้งนี้ ใช้เวลาอีกพอสมควร “เบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีในการเตรียมพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายการผลิตในระยะแรก 50,000 คัน/ปี และขยายเป็น 150,000 คัน/ปี ในอนาคต”

อีกตอนหนึ่งในถ้อยแถลง

 

ที่จริงแล้ว Foxconn เพิ่งจะเข้ามีบทบาทในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อไม่นานมานี้ เท่าที่ติดตามข่าว เมื่อต้นปีนี้เอง (มกราคม 2564) ได้ตัดสินใจลงทุนลงเงิน เข้ากอบกู้กิจการรถยนต์ไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจีน ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงิน ดูสอดคล้องกับแนวทางธุรกิจ แนวความคิดที่ว่า “…ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนที่เริ่มมีการปรับตัวและเติบโตแบบก้าวกระโดด” (อ้างอิงถ้อยแถลงของ Mr. Young Liu, Chairman and CEO of Foxconn ในข่าวการลงนามร่วมทุนกับ ปตท.)

สำหรับ ปตท. กับแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจครั้งใหญ่ๆ เป็นไปตามโอกาสที่มาถึง จะว่าไปแล้ว เดินไปตามกระแส ด้วยเชื่อมั่นพลังของตนเอง แม้ว่าจะมาทีหลัง แต่ไปได้ไกลทีเดียว

ไม่แน่ใจนักว่า เป็นมรดก ว่าด้วยประสบการณ์และแนวทางที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง หรือไม่อย่างไร

จุดเปลี่ยนสำคัญ อาจถือว่ามีขึ้นตั้งแต่ปี 2536 เมื่อ ปตท.สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นไปตามโมเดลกิจการน้ำมันแห่งชาติ ภายใต้โครงสร้าง ทั้งอำนาจได้จากรัฐว่าด้วยจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงแล้ว ยังมีเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถเอาชนะกิจการน้ำมันต่างชาติที่ปักหลักในประเทศไทยมานานมากกว่าร้อยปี

จากนั้นปี 2544 แปรสภาพรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในทันที ดำเนินไปอย่างเป็นจังหวะและมีความสำคัญ และแล้วโอกาสครั้งใหญ่ก็มาถึง จากสถานการณ์ดังที่ผมเคยว่าไว้

“ปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ปตท.ขยายตัวจากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548…”

เพียงปีเดียว ปตท.มีรายได้ทะลุหลักล้านล้านบาทเป็นกิจการแรกของไทย (ตั้งแต่ปี 2549) โดยเติบโตอย่างน่าทึ่ง ประมาณ 10 เท่าเพียงทศวรรษเดียว

อีกจังหวะก้าวปี 2549-2554 ก้าวเข้าสู่ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างท้าทาย เทียบเคียงกับเครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG ซึ่งปักหลักมาก่อนหน้า 2-3 ทศวรรษ ด้วยแผนการ Merger & Acquisition ธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ใหญ่ ยุค “โชติช่วงชัชวาล”

แต่เผชิญปัญหาอย่างหนัก จากผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นปี 2540

 

มาถึงผู้บริหารคนปัจจุบัน-อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (2563-2568) มีภูมิหลัง มีสีสันพอสมควร ในฐานะวิศวกร ที่มีประสบการณ์ด้าน Marketing เป็นพิเศษ มีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในงานที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักของ ปตท.โดยตรง หรือที่เรียกว่า Non-Oil Business โดยเฉพาะการจัดการกับสถานีบริการน้ำมันอย่างมีจินตนาการ

มีหมุดหมายสำคัญ ตั้งแต่ปรับโฉมให้มีร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการครั้งสำคัญ โดยร่วมมือกับ 7-Eleven (ปี 2545)

ตามมาด้วยเข้าซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมันเจ็ท และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ในประเทศไทย ของ ConocoPhillips (ปี 2552) จนมาบรรลุแนวคิดใหม่ในการปรับโฉมสถานีบริการน้ำมัน (ปี 2552) และแล้วเปิดตัวร้านกาแฟ Caf? Amazon (ปี 2553 ) ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวสนุกและมีสีสันที่สุดในตำนาน แม้ว่าได้ตามหลังกระแสร้านกาแฟในสังคมที่เฟื่องฟูขึ้น ซึ่งถูกปลุกโดย Starbucks เข้ามาเมืองไทยก่อนหน้านั้นกว่าทศวรรษ (ปี 2541) จนมีสาขาครบ 100 แห่งไปแล้ว

แผนการใหม่เข้าสู่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักนัก มีขึ้นตามจังหวะ ตามสถานการณ์ที่เป็นไป ในวิกฤต COVID-19 มีอีกบริษัทที่น่าสนใจ-บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ตามข้อมูลของ ปตท.ระบุว่าก่อตั้งเมื่อธันวาคม 2563 “…ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ Life Science ของกลุ่ม ปตท. …ดำเนินธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และระบบการวินิจฉัยโรค…”

หนึ่งในนั้นก็คือ “ยาชีววัตถุ” ว่าไปแล้ว ถือว่าเดินตามบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2552

ดูจะเป็นเรื่องราวที่ติดตามกันยาวพอสมควร