การเมืองอำนาจนิยม : ผู้นำสิ้นอำนาจอย่างไรบ้าง? (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

การเมืองอำนาจนิยม

: ผู้นำสิ้นอำนาจอย่างไรบ้าง? (จบ)

 

วิถีโค่นผู้นำอำนาจนิยม

จากข้อมูลในแผนภูมิข้างต้น เราอาจสังเกตความเปลี่ยนแปลงสำคัญในวิถีการสิ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยม 473 คนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1950-2012)

ได้ดังนี้ :

 

1)การพ้นอำนาจไปโดยคนในชักนำ (insider-led exits) ซึ่งประกอบด้วยรัฐประหาร (coups) และการพ้นจากตำแหน่ง “ตามปกติ” (“regular” removals from office) นั้น แม้จะยังมากที่สุด แต่ก็มีแนวโน้มลดน้อยถอยลงพอควรในปีหลังๆ มานี้ กล่าวคือ จากกว่า 70% ในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 –> ไม่ถึง 50% ในช่วงปี ค.ศ.2010-2012

สาเหตุก็เนื่องจากรัฐประหารลดลงฮวบฮาบหลังสิ้นสุดสงครามเย็น (ปี ค.ศ.1991 ตามเกณฑ์นับของสหรัฐอเมริกาผู้ชนะสงครามเย็น https://www.govinfo.gov/app/details/CFR-2006-title32-vol3/CFR-2006-title32-vol3-sec578-137) ขณะที่การพ้นจากตำแหน่ง “ตามปกติ” เพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน

กล่าวคือ จากเดิมที่รัฐประหารคิดเป็น 55% ของการพ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมทั้งหมดในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 –> เหลือแค่ 6% นับแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา

ความข้อนี้สอดรับกับงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงลำดับระเบียบวาระสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกตะวันตกหลังสิ้นสุดสงครามเย็น (จากเดิมที่ยอมรับรัฐประหารและหนุนหลังเผด็จการไว้เพื่อช่วยต้านคอมมิวนิสต์ –> แทบไม่เหลือคอมมิวนิสต์ให้ต้านแล้ว) นำไปสู่ความเสื่อมถอยของเผด็จการทหารและการลดต่ำลงของรัฐประหารในบรรดาประเทศอำนาจนิยมทั่วโลก (Andrea Kendall-Taylor & Erica Frantz, “How Autocracies Fall,” The Washington Quarterly, 37:1 (2014), 35-47)

นอกจากนี้ อวสานสงครามเย็นยังนำไปสู่การออกกฎหมายส่งเสริมประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งกำหนดให้เพิกถอนความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้รับหากเกิดรัฐประหารในประเทศเหล่านั้น อันเป็นการบั่นทอนแรงจูงใจของพวกวางแผนก่อการรัฐประหารและลดทอนความถี่ของการก่อรัฐประหารลง (Nikolay Marinov & Hein Goemans, “Coups and Democracy,” British Journal of Political Science, 44:4 (2013), 799-825)

แผนภูมิ : จอมเผด็จการสิ้นอำนาจอย่างไร? ค.ศ.1950-2012
แกนตั้งบอกร้อยละของจำนวนการสิ้นอำนาจทั้งหมด, แกนนอนบอกช่วงทศวรรษ
แท่งสีทึบ–>ขาว : รัฐประหาร/พ้นจากตำแหน่งตาม “ปกติ”/ประชาชนลุกฮือ/การก่อการกำเริบ/ตายในตำแหน่ง
(จาก Erica Frantz, Authoritariansim : What Everyone Needs to Know, p. 57)

ขณะเดียวกัน การพ้นจากตำแหน่ง “ตามปกติ” ของผู้นำอำนาจนิยมก็เพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน จากเดิมที่ไม่ถึง 25% ของการสิ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมทั้งหมดในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 และ 1970 –> 44% จากปี ค.ศ.2010-2012

อันสะท้อนความโดดเด่นของระบอบอำนาจนิยมประเภทที่มีพรรคการเมืองเข้มแข็งในปีหลังๆ นี้ โดยที่บางแห่งชนชั้นนำสามารถส่งอิทธิพลต่อการคัดเลือกและโละทิ้งผู้นำได้ อาทิ ระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนและเวียดนาม เป็นต้น

2) สำหรับการพ้นอำนาจไปโดยคนนอก/มวลชนชักนำ (outsider/mass-led exits) ซึ่งแบ่งได้เป็นการลุกฮือของประชาชน (popular uprisings) และการก่อการกำเริบ (insurgencies) นั้นก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับแต่สิ้นสงครามเย็นเป็นต้นมา

จากเดิมที่มีผู้นำอำนาจนิยมถูกมวลชนโค่นราว 5% ของการสิ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมทั้งหมด ในยุคสงครามเย็น (จาก ค.ศ.1945-1991) –> เพิ่มเป็นกว่า 10% หลังสิ้นสงครามเย็นเป็นต้นมา

อาทิ การก่อการกำเริบ (insurgency) อันเป็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน เดิมทีทางราชการไทยมักเรียกว่า “การก่อการร้าย” ส่วนในทางวิชาการหมายถึง “เทคโนโลยีการขัดแย้งทางทหารซึ่งมีลักษณะเฉพาะตรงอาศัยเหล่ากองกำลังขนาดเล็กติดอาวุธเบาทำสงครามจรยุทธ์จากฐานที่มั่นในชนบท” ตามนิยามของ James Fearon & David Laiten แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐนั้น

การก่อการกำเริบเคยคิดเป็นกรณีแค่หยิบมือของการโค่นผู้นำอำนาจนิยมในยุคสงครามเย็น –> ทว่า แพร่หลายขึ้นในภายหลังโดยเฉพาะช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งสอดรับไปกับการเพิ่มขึ้นของสงครามกลางเมือง (civil wars) ทั่วโลกในจังหวะที่สหภาพโซเวียตล่มสลายพอดี (https://ourworldindata.org/civil-wars) จนคิดเป็นกว่า 10% เล็กน้อยในช่วงปี ค.ศ.2010-2012

ส่วนการลุกฮือของประชาชนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ ในยุคสงครามเย็น มันคิดเป็นไม่ถึง 5% ของการสิ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมทั้งหมด –> แต่กลับพุ่งพรวดไปเป็น 25% ในช่วงปี ค.ศ.2010-2012 เช่น การโค่นประธานาธิบดีเคอร์มานเบก บากิเยฟ ในคีร์กีซสถานเมื่อปี ค.ศ.2010 (https://wikipang.com/wiki/Kurmanbek_Bakiyev) และการโค่นประธานาธิบดีเบน อาลี ในตูนิเซียเมื่อปี ค.ศ.2011 เป็นต้น (ศิวัช ศรีโภคางกุล, “การปฏิวัติดอกมะลิ : บทวิเคราะห์ว่าด้วยการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ที่สุด แห่งต้นศตวรรษที่ 21,” การประชุมวิชาการแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 10, 2556)

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระแสสูงแห่งการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นผู้นำอำนาจนิยมในช่วงดังกล่าวเป็นไปได้หลายประการด้วยกัน อาทิ หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ระบอบอำนาจนิยมหลายแห่งยอมผ่อนคลายให้เลือกตั้งแข่งขันกันทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางช่วยส่งเสริมสมรรถภาพของพลเมืองที่จะลงถนนรณรงค์ประท้วงให้สูงขึ้นไปด้วย ดังที่กระแสสูงการประท้วงของนักศึกษาประชาชนภายใต้ชื่อกลุ่มราษฎรและอื่นๆ ค่อยทยอยเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปประมาณหนึ่งปีภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น (“แฟลชม็อบนักศึกษาถึงชุมนุมใหญ่ของ “คณะราษฎร 2563″ ลำดับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2563”, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/thailand-54741254)

จะเห็นได้ว่ารอบทศวรรษที่ผ่านมา ด้านหนึ่งมีแนวโน้มที่การลุกฮือของประชาชนจะกลายเป็นพลังแข็งกล้าขึ้นในการท้าทายผู้นำอำนาจนิยม ทว่าในทางกลับกัน ฝ่ายระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในประเทศต่างๆ ก็หาได้อยู่นิ่งเฉยไม่ หากแต่เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนและปรับแต่งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของตนในการรับมือเพื่อคงอำนาจไว้ต่อไป ดังที่นักวิชาการด้านอารยะต่อต้าน (civil resistance) ตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลังนี้ การประท้วงของประชาชนในโลกมีจำนวนมากขึ้นแต่กลับสำเร็จน้อยลง (https://www.the101.world/loose-and-leaderless-movement/)

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ระบอบอำนาจนิยมในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยได้ปรับตัวในด้านต่างๆ จนเพิ่มความยืดหยุ่นคงทนต่ออารยะต่อต้าน (authoritarian resilience to civil resistance) ให้สูงขึ้นนั่นเอง