ก่อสร้างและที่ดิน : Evergrande ยักษ์อสังหาฯ จีนผิดนัดชำระหนี้ / นาย ต.

 

Evergrande

ยักษ์อสังหาฯ จีนผิดนัดชำระหนี้

 

ข่าวความเคลื่อนไหวในวงการอสังหาริมทรัพย์ระยะนี้ คงไม่มีเรื่องใดจะใหญ่ไปกว่ากรณีกลุ่ม Evergrande ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน เคยเป็นบริษัทที่ได้รับการจัดเป็น 1 ใน 50 บริษัทที่มีรายได้สูงของโลก แจ้งกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ว่า จะไม่สามารถชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ได้ในปลายเดือนกันยายนนี้

Evergrande กำลังประสบปัญหาทางการเงินมีหนี้สินสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน ประมาณ 356,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปีละประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

Evergrande เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 1,300 โครงการในกว่า 280 เมืองในประเทศจีน

นอกจากอสังหาริมทรัพย์แล้ว Evergrande ยังได้เข้าซื้อกิจการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ธุรกิจรถไฟฟ้า, โรงพยาบาล, สื่อบันเทิง, ธุรกิจการเงิน ไปจนถึงเข้าซื้อสโมสรฟุตบอล แน่นอนว่าเงินทุนส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืม

นอกจากการกู้หนี้สินจำนวนมากแล้ว ยังเป็นการกู้เงินระยะสั้นมาใช้ในการลงทุนระยะยาวด้วย

 

คนที่มีประสบการณ์หรือติดตามข่าววิกฤตปี 2540 ในไทยฟังดูคงคุ้นๆ หู

“กู้เงินมาก หนี้สินต่อทุนสูง กู้ระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว” เหมือนเคยเกิดกับธุรกิจอสังหาฯ ไทยช่วงก่อนปี 2540

ผลกระทบกรณี Evergrande หุ้นของบริษัทนี้ในตลาดหุ้นตกไปแล้ว 90% ลามไปถึงธนาคารเจ้าหนี้ ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงหุ้นของอสังหาฯ รายอื่นๆ ในตลาดจีน

เดือดร้อนไปถึงนักลงทุนอสังหาฯ รายย่อยเพราะเป็นเหตุให้อสังหาฯ ราคาตก ตลอดจนผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่การก่อสร้างโครงการต่างๆ หยุดชะงัก อาจทำให้ไม่ได้รับการส่งมอบที่อยู่อาศัยตามสัญญา

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า กรณี Evergrande คงไม่ส่งผลกระทบเป็นวิกฤตวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ กลายเป็นวิกฤตระดับภูมิภาค เหมือนวิกฤตสินเชื่อ subprime ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว (พ.ศ.2550-2551) ที่กระทบไปทั่วโลก

เนื่องจากกรณีสินเชื่อด้อยคุณภาพ subprime เป็นระบบสินเชื่อ และถูกทำเป็นทรัพย์สินชั้นดีที่ให้ผลตอบแทน สถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกลงทุนในทรัพย์ตัวนี้ รวมทั้งธนาคารบางแห่งในไทยด้วย ผลกระทบจึงกว้าง

แต่กรณี Evergrande คงกระทบเฉพาะสถาบัน บริษัท และบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นหลัก ส่วนอื่นๆ ก็คงได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาของตลาด

 

สําหรับในประเทศไทย ก็คงเป็นผลทางจิตวิทยาของนักลงทุนต่างชาติที่จะลงทุนในหุ้น ในตราสารหนี้อสังหาฯ ในย่านเอเชียในย่านอาเซียน ทำให้เกิดความกังวลระยะหนึ่งเท่านั้น

สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทย อันนี้การันตีกันได้เลยว่า ไม่มีการกู้เงินมากมายแบบนั้น อัตราหนี้สินต่อทุนต่ำมากประมาณ 1:1 เป็นส่วนมาก อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ

ทั้งนี้ เป็นบทเรียนมาจากประวัติศาสตร์วิกฤตปี 2540 ที่มีการกู้จำนวนมาก เอาเงินกู้ระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว D/E 5 เท่า 10 เท่า กลายเป็นวัคซีนคุณภาพสูงทำให้ไม่มีบริษัทอสังหาฯ รายไหนกู้เงินแบบนั้นอีกแล้ว ไม่มีธนาคารแห่งไหนจะปล่อยแบบนั้นอีกแล้ว

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและธุรกิจ มีความจดจำไม่ทำซ้ำรอยได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ระบบแข็งแกร่ง

แต่แปลกไหม ประวัติศาสตร์การเมืองกลับไม่ค่อยจดจำกัน ยังวนเวียนรัฐประหารกันไม่จบสิ้น ระบบการเมืองจึงยังอ่อนแอจนทุกวันนี้