คำ ผกา | บูด

คำ ผกา

ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานอะไรเป็นที่จดจำบ้าง?

ปี 2558 ประยุทธ์เคยแสดงวิสัยทัศน์ โดยแนะนำให้ชาวนาปลูกหมามุ่ยขายหากราคาข้าวตกต่ำ เพราะหมามุ่ยนั้นราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 800 บาท

ปี 2558 เช่นกัน ประยุทธ์แนะนำวิธีการแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีด และปลูกถั่ว

ปี 2562 ประยุทธ์แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คือให้ชาวนาที่เจอน้ำท่วมเปลี่ยนอาชีพมาเป็นชาวประมงแทน

ปี 2563 มีปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ประยุทธ์แนะนำให้เอาน้ำมะพร้าวมาล้างหน้า

ล่าสุดปี 2564 ประยุทธ์แนะนำให้คนไทยช่วยกันสวดมนต์ไล่พายุ แนะนำให้สร้างบ้านสองชั้นหนีน้ำท่วม หรือย้ายไปอยู่บนพื้นที่สูง

ก่อนจะโชว์วิสัยทัศน์สุดปังว่าด้วยให้ทุกโรงเรียนเลี้ยงวัวนม และทุกๆ เช้าให้รีดนมวัวสดๆ ให้นักเรียนกิน นักเรียนจะได้ไม่ต้องกินนมบูด

ฉันจะเริ่มต้นจากเรื่อง “นมวัว” ก่อน

ใครสักคนและโดยเฉพาะคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบดูเรื่องนโยบายสาธารณะจะต้องรู้ว่า โครงการนมโรงเรียนนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2535 โดยมีวัตถุประสงค์ในเชิงทฤษฎีว่า หากเด็กไทยได้ดื่มนมวัวอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะช่วยลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร (ที่เชื่อว่ามีผลต่อระดับสติปัญญา พัฒนาการของเด็ก)

ดังนั้น การผลักดันเรื่อง “นมโรงเรียน” จะได้ประโยชน์สองทางคือ เด็กไทยจะแข็งแรง ฉลาดเพราะได้ดื่มนม (น่าสนใจด้วยว่า โครงการนมโรงเรียนเป็นโครงการที่ไม่มานั่งดูว่าโรงเรียนไหนจน หรือรวย แต่เป็นโครงการที่ค่อนข้าง universal นั่นคือ ทุกโรงเรียนจะมีนมโรงเรียนไว้แจกเด็ก)

ประโยชน์ในทางที่สองคือ ได้ระบายน้ำนมดิบจากฟาร์มโคนม ที่ก่อนหน้าที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคนม จากนั้นก็เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด การแปรรูปน้ำนมดิบเป็นนมสดพาสเจอไรซ์ ส่งเป็นนมโรงเรียนสู่เด็กนักเรียนทุกคนด้วยเงินงบฯ รัฐบาล ย่อมถือว่าเป็นนโยบายที่ “ฉลาด”

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวิสัยทัศน์ของนายกฯ อย่างประยุทธ์ที่ไม่มีวันคิดอะไรแบบนี้ออก จนทำให้ย้อนกลับไปดูนโยบายนมโรงเรียนแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเป็นนโยบายอัจฉริยะไปเลย

ต่อมาโครงการนมโรงเรียนเจอปัญหาการทุจริตในสามรูปแบบคือ

หนึ่ง เอานมผงมาผสม เท่ากับว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการระบายน้ำนมดิบ

สอง การประมูลนมโรงเรียนโดยการแบ่งโซนนิ่ง ทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้โรงงานผลิตนมผ่านการจัดโซนนิ่ง

สาม มีการกินหัวคิวกันเกิดขึ้น

ปัญหาการทุจริตนี้ต่อมาทำให้เกิดเรื่อง “นมบูด” ของหลายโรงเรียน

ต่อมาในปี 2562 ยังมีปัญหาร้องเรียนเรื่องนมโรงเรียนที่ถูกโวยมาจากทั้งสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ และเกษตรกรเอง

ดังปรากฏเป็นข่าวว่า

“ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ ครม.พิจารณาอนุมัติ มีการยกอำนาจให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้จัดสรรโควต้าขายนมโรงเรียน แทนคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ที่มีตัวแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ด้วย เพราะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ในความเป็นจริงกรมปศุสัตว์และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ยังเป็นหน่วยงานรัฐสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ด้วยกัน จึงมีอำนาจในการจัดสรรโควต้าอยู่ นอกจากนี้ ตามมติ ครม.ล่าสุด อ.ส.ค.ยังรับมอบอำนาจจาก ครม.เป็นกรณีพิเศษ จะให้ผู้ใดขายหรือได้โควต้าขายนมโรงเรียนเท่าใดก็ได้ ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ตรงจุดนี้ว่า อ.ส.ค.จะจัดสรรเป็นธรรมแค่ไหน และผู้ประกอบการขนส่งยังมีการผูกขาดอยู่หรือไม่ เพื่อไม่ให้กลับไปวังวนเดิม”

“ก่อนหน้านั้น อ.ส.ค.เป็นผู้เสนอผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นมิลค์บอร์ด แต่ 4 ปีหลังมานี้ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยเป็นผู้เสนอตัวแทนเกษตรกรเข้ามาเป็นมิลค์บอร์ด ปัญหาเรื่องนมโรงเรียนไม่มีคุณภาพไม่มีแต่อย่างใด ไม่มีการทุจริต เพราะมีการจัดสรรโควต้าให้สหกรณ์หรือผู้ประกอบการเอกชนจำหน่ายในพื้นที่ตั้งเป็นหลัก ไม่ใช่อยู่จันทบุรีแล้วได้โควต้าขายที่พัทลุง เหมือนก่อนหน้านี้ แล้วนมจะมีคุณภาพได้อย่างไร และไม่ต้องพูดถึงกำไร การให้ขายข้ามเขตจึงมีแต่ปัญหา และการจะไม่ให้ผลิตนมถุงพาสเจอไรซ์ สหกรณ์ที่ลงทุนตั้งโรงงานมูลค่า 20-30 ล้านบาทไปแล้ว จะเสียหายหนักด้วย”

https://www.prachachat.net/economy/news-317629

 

งบประมาณนมโรงเรียนปีละหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาทจึงเป็นเค้กก้อนใหญ่อีกก้อนที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด

ไม่นับปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “ส่วนกลาง” กับ “ท้องถิ่น” ในเรื่องการบริหารจัดการงบฯ ก้อนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการซื้อนมข้ามแดน ข้ามห้วย ข้ามจังหวัดกันอย่างไร้เหตุผลที่ฟังขึ้น ไปจนถึงปัญหาโควต้านมผง!

พูดง่ายๆ คือ มีจุดให้ “กิน” ได้ทุกจุด

 

ฉันยกตัวอย่างเรื่อง “นมโรงเรียน” มาเพื่อจะไฮไลต์ “วิสัยทัศน์” ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกว่า วิธีแก้ปัญหา “นมโรงเรียนบูด” นั้นง่ายมาก แค่ไปซื้อวัวมมาเลี้ยงแล้วรีดนมให้เด็กกินทุกเช้า

มันชี้ให้เห็นว่า หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยเข้าใจหลักการของการออกแบบนโนบายสาธารณะ เช่น นโยบายนมโรงเรียนนั้น ไม่ได้มีเพื่อให้เด็กมีนมกิน จบ แต่บูรณาการทั้งมิติ สุขภาพของเด็ก การยกระดับอุตสาหกรรมนมยูเอชที และนมพาสเจอไรซ์ การผ่องถ่ายอาชีพเกษตรกรปลูกพืชไปสู่การทำปศุสัตว์ การช่วยเหลือเกษตรกรผ่านการพยุงราคาน้ำนมดิบ ด้วยการเอาเงินรัฐมาซื้อน้ำนมทางอ้อมในรูปของการทำนมโรงเรียน การจ้างงาน สุดท้ายคือมิติของเศรษฐกิจ การเงิน

ในหนึ่งโครงการหนึ่งนโยบายจึงเห็น “วิสัยทัศน์” ของผู้ออกแบบนโยบายว่าจะบูรณาการกี่เรื่องมาไว้ด้วยกันในเรื่องเดียว

แต่คนอย่างประยุทธ์รับรู้ได้แค่นมโรงเรียน คือ นักเรียนต้องกินนม

บุญบาป ยังมีหน้าไปบอกให้โรงเรียนเลี้ยงวัว คำถามคือ ใครจะดูแลวัว จะเอาที่ดินตรงไหนของโรงเรียนทำคอกวัว ใครจะเอาอาหารให้วัวกิน จะเอาเงินที่ไหนไปซื้ออาหารวัว ใครจะรู้ว่าวัวควรกินอะไรจึงมีน้ำนม

และใครจะเป็นคนรีดนม???????

ประยุทธ์คงนึกว่า เอาวัวมาตัวหนึ่ง ปล่อยมันเดินไปเดินมา กินหญ้าที่สนามฟุตบอล ถึงเวลาตอนเช้ามันก็จะเอานมมาให้รีด?

ประยุทธ์คงไม่รู้อีกว่า การเลี้ยงวัวนมนั้น ต้องการใช้ยาปฏิชีวนะมากขนาดไหน

สุดท้ายประยุทธ์ก็คิดไม่ได้ว่า หากคำนวณต้นทุนของการเลี้ยงวัวนมหนึ่งตัวกับการไปซื้อนมกล่องมาให้เด็กกิน อันไหนจะคุ้มค่า ใช้เงินน้อยกว่ากัน

การซื้อนมกล่องให้เด็กกินอาจใช้เงิน 1,000 บาท และเงินก้อนนี้สามารถหมุนอยู่ในระบบตั้งแต่มือของเกษตรกรยันโรงงานทำนมกล่อง แต่ถ้าโรงเรียนเลี้ยงวัวเอง อาจใช้เงิน 3,000 บาท แล้วเงินนี้ไม่ได้หมุนไปที่ไหนเลยนอกจากลายเป็นภาระของครู นักเรียน นักการภารโรงทุกคน

นี่คือ พล.อ.ประยุทธ์!!!! และนี่คือคนที่เราปล่อยให้บริหารประเทศมาแล้ว 7 ปี

พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ใช่คนโง่

แต่ พล.อ.ประยุทธ์คือตัวอย่างของบุคคลที่ขาดความสามารถในการคิดเชิงบูรณาการ เชื่อมโยง และขาดความสามารถในการมองเห็น “ภาพรวม” ของโลกและของสังคม

การที่คนเราจะมองเห็นภาพรวมของอะไรสักอย่างหนึ่งได้ ต้องมีความสามารถที่จะมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้

เช่น มองเห็นว่า หากเราใช้เงินสองล้านล้าน ปล่อยซอฟต์โลนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจากโควิด จะทำให้กลุ่มธุรกิจจ่ายเงินเดือนลูกจ้างต่อไปได้

ผลก็คือ ลดปัญหาคนว่างงาน และปัญหาคนว่างงานไม่ต้องมาเป็นภาระของกองทุนประกันสังคม คนงานยังมีเงินเดือน รัฐบาลไม่ต้องออกโครงการคนละครึ่ง กระตุ้นการใช้จ่าย เพราะคนมีเงินอยู่ในมือก็ออกไปใช้จ่ายตามปกติ การบริโภคภายในยังคงอยู่ รัฐยังคงมีรายได้จากแวตและภาษีสรรพสามิต ฯลฯ

ความสัมพันธ์เชื่อมโยงเหล่านี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์มองไม่เห็น ไม่เข้าใจ

แต่บริหารประเทศเหมือนทำงบฯ ใช้จ่ายครอบครัว เช่น กู้เงินมาแล้วไม่ได้ใช้ ก็บอกว่า เนี่ยะ รัฐบาลเก่ง ไม่สุรุ่ยสุร่าย ซื่อสัตย์ ประหยัด อดออม

เฮ้ย เดี๋ยว เขาไม่ได้ให้กู้เงินมาค้างท่อ เขาให้กู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถเข้าใจกลไกลเหล่านี้ได้เลย เพราะตลอดชีวิตไม่เคยต้อง “บริหาร” อะไร เป็นนายกฯ ขึ้นมาได้ก็เพราะ “รัฐประหาร” มาจนได้ครอบครอง “อำนาจรัฐ” จากนั้นก็ใช้วิธีขายต่อ เช่า เซ้ง อำนาจรัฐให้นักการเมือง ตัวเองนั่งกระดิกเท้าเก็บ “ค่าเช่า” ไปวันๆ มีบริวารคอยป้อยอ สรรเสริญ หลอกให้ประยุทธ์พูดอะไรบ้าๆ บอๆ ไปตามแรงอวย

นักการเมืองก็ไม่โง่ เช่า เซ้ง อำนาจรัฐจากประยุทธ์มาแล้วค่อยๆ สะสมกำไรส่วนต่างบนความป่วย ความตายของประชาชนไป ลึกๆ ก็คิดว่า วันหนึ่งถ้าประยุทธ์เผลอก็จะเอา “อำนาจรัฐ” นั้นกลับคืนมาเหมือนกัน เรื่องอะไรจะจ่ายค่าเช่าไปฟรีๆ โดยที่ประยุทธ์ในฐานะ “เจ้าของ” หรือ “นายหน้า” ก็ไม่เคยมาช่วยทำนุบำรุง “อำนาจ” นี้ให้มีศักยภาพที่จะเอาไปทำมาหากินได้

วันนี้เราจึงเห็นภาพรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐที่ดูเหมือนว่าประยุทธ์จะถูกนักการเมือง “เท”

ก็นั่นแหละ แค่เรื่อง “นมบูด” ยังไม่เข้าใจ แล้วประยุทธ์จะมาเข้าใจอะไรในเรื่อง “ความสัมพันธ์ของผู้คนและอำนาจ” ในโลกของ “การเมือง”