เรื่องของ 1 ป./โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เรื่องของ 1 ป.

 

“…เรื่องของ 3 ป. เรารักกันมายาวนานกว่า 50 ปี …เรื่อง 3 ป. เราจะรักกันจนวันตายจากกัน…”

ได้โปรดจดจำละครการเมืองเรื่องใหญ่นี้เอาไว้ด้วย

เนื่องจากท่ามกลางกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก แล้วไหลบ่าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านกว่า 50 จังหวัดอีกครั้งหนึ่ง เราก็ได้ยินคำทักทาย “จ๊ะจ๋า” ดังก้องจากไมค์ขยายเสียงของนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ตรวจเยี่ยมชาวบ้านที่กำลังตกทุกข์แสนสาหัสจากน้ำท่วม โดยที่ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านระทมชอกช้ำจากโรคระบาดโควิด-19 แต่หาวัคซีนฉีดให้ไม่ได้สักที เนื่องจากการเมืองของวัคซีนไม่เข้าใครออกใคร

ในเวลาเดียวกัน แม้แทบไม่ได้ยินเสียงออดอ้อน แต่ท่านผู้เฒ่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแล “น้ำแห่งชาติ” ก็ไปตรวจน้ำท่วมที่อยุธยา แล้วมีแผนไปตรวจน้ำท่วมที่จังหวัดนครสวรรค์ ท่ามกลางเสียงเชียร์ว่า 3 ป.เรารักกันจะตายอยู่แล้ว

ที่ท่านไปนี่ไม่ได้เพื่อเช็กคะแนนนิยม ไม่ได้เตรียมตัวเลือกตั้งอะไรเลย

มีข้อสังเกตว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทยร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางข้อสังเกตมากมายว่า แทบไม่ได้ยินเสียงท่าน แต่ไหนแต่ไรแล้วที่ไม่ค่อยได้ยินเสียงท่านอยู่แล้ว บ้างก็ว่าท่านไม่คบกับนักการเมือง ไม่ต้อนรับนักการเมืองที่บ้านและที่ไหนๆ นักการเมืองขออะไรก็ไม่ให้หรือเปล่า ผมไม่ทราบ บุคลิกเอกบุรุษพูดน้อยต่อยหนัก สั่งการแบบเด็ดขาดอย่าง ผบ.ทบ.ที่ยังทำงานอยู่ นับเป็นเอกลักษณ์ของท่าน ป.ที่ 2 น้อยคนนักจะเข้าใจความคิด

เส้นทางการเมืองซึ่งโลดโผนไม่แพ้ ป.อีก 2 ป. ขออนุญาตเล่าให้ฟัง ตามที่มีข้อมูล

 

ผบ.ทบ.กับนายกฯ สมัคร สุนทรเวช

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ช่วงเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 กำลังทหารภายใต้บังคับบัญชาของท่านเป็นกำลังหลักเข้ายึดอำนาจ ทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 สำคัญมากก็จริง แต่ไม่สำคัญเท่าแม่ทัพภาคที่ 1

ช่วงรัฐบาลรักษาการ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังรัฐประหาร พล.อ.อนุพงษ์ได้รับความสนับสนุนจาก พล.อ.สุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีกลาโหมให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พล.อ.สนธิ ในขณะที่ พล.อ.สนธิ ผบ.ทบ.และหัวหน้าคณะรัฐประหารเสนอชื่อ พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์1

เมื่อดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์เงียบเสียเป็นส่วนใหญ่ ท่านไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้นิรโทษกรรมทักษิณ ชินวัตร ของพรรคพลังประชาชน ท่านไม่ใช้อำนาจใดๆ จากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ท่านกลับประนีประนอมเพื่อนนายทหารรุ่น จปร.21 รุ่นเดียวกับท่านที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ (ยกเว้นตัวท่านเพราะท่านล้มรัฐบาลทักษิณ) ให้กลับสู่ตำแหน่งสำคัญทางทหารอีกครั้งหนึ่ง

อย่างที่ทราบกัน แม้รัฐประหาร 2549 แล้ว แต่ทักษิณยังคงอำนาจ ด้วยนายกรัฐมนตรีนอมินีท่านแรกของการเมืองไทย สมัคร สุนทรเวช ก็นำพรรคนอมินีชื่อพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง 2550 ด้วยคะแนนเสียง 14,071,799 เสียง ได้ที่นั่ง ส.ส.สัดส่วน 233 ที่นั่งจาก 240 ที่นั่ง แล้วตั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมา

ด้วยสมัคร สุนทรเวช เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์สมัยนั้นจึงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดด้วยไปราชการร่วมกับคณะของนายกฯ สมัครทั้งในและต่างประเทศ

แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนอมินีก็ไร้เสถียรภาพทางการเมือง เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขต้องลาออกเพราะไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินภรรยา

และยิ่งเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดตั้งรวมตัวกลุ่มอีกครั้ง แล้วเคลื่อนไหวต่อต้านนายกฯ และรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ระหว่างนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ สมัครและ พล.อ.อนุพงษ์ไปด้วยกันดี แม้แรงต่อต้านจากพันธมิตรฯ มากมาย พล.อ.อนุพงษ์ไม่ต้องการให้นายกฯ สมัครลาออกจากตำแหน่ง ท่านคิดว่านายกฯ สมัครเข้าใจทหาร

นายกฯ สมัครรับข้อเสนอเพิ่มงบประมาณกองทัพและอนุญาตรับข้อเสนอซื้อรถถังจากประเทศยูเครน2 เมื่อครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดอุดรธานีเมื่อ 9 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีอนุมติงบประมาณให้กองทัพเพิ่มอีก 7 พันล้านบาท3

สิงหาคม 2552 ที่ประชุมอนุมัติให้ พล.อ.ทรงกิตติ จักรบาตร เพื่อนนายทหาร จปร.รุ่น 21 ร่วมรุ่นทักษิณและ พลอ.อนุพงษ์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ4 ที่สำคัญที่สุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก5

ที่สำคัญ พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก เข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.เพื่อก้าวเข้าสู่ผู้บัญชาการทหารบกต่อไป6

 

เกมอำนาจเปลี่ยน

เมื่อแรงต่อต้านทักษิณเพิ่มและรุนแรงขึ้น กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสมัครใช้อำนาจศาลและกำลังตำรวจเอาม็อบพันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ 2 กันนายน 2552 นายกฯ สมัครประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร แต่ก็สั่งกำลังทหารและตำรวจไม่ได้ พล.อ.อนุพงษ์ซึ่งดำรงอีก 2 ตำแหน่งสำคัญคือ เป็นรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) และเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศว่า

“…ไม่ใช้กำลังทหาร ใช้การเจรจา ใช้รัฐสภายุติวิกฤตการณ์ความรุนแรง …ทหารใช้โล่ ไม้กระบอง แก๊ซน้ำตา ฉีดน้ำ ไม่ใช้ปืนยิงผู้ประท้วง เพื่อป้องกันมือที่ 3 ตำรวจจะพยายามอย่างดีที่สุดปกป้องประชาชนด้วย”7

ในความเข้าใจของผม เป็นไปได้ว่า ความเงียบ มีความสำคัญหากใช้ให้ถูกและเหมาะกับสถานการณ์และโอกาส โดยเฉพาะในทางการเมือง ช่วงเวลาหนึ่ง ความร่วมมือทางการเมืองระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอันซับซ้อน เป็นไปได้ว่า นายกรัฐมนตรีสมัครซึ่งช่วงนั้นมีฐานสนับสนุนเพียงแค่คนกรุงเทพฯ แต่ไม่มีฐานสนับสนุนจากต่างจังหวัดเลย

เมื่อนายกฯ สมัครเป็นฝ่ายข้างน้อยมากในพรรคพลังประชาชน จึงต้องร่วมมือกันให้ดีกับผู้นำของกองทัพ ผู้อยู่คนละฝั่งกับพรรคพลังประชาชน

ในเวลาเดียวกัน ท่านผู้บัญชาการทหารบกย่อมต้องร่วมมือทางการบริหารกับนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมอีกด้วย ไม่เพียงงานบริหารด้านความมั่นคงทางทหาร ยังต้องรวมความมั่นคงทางการเมืองอีกด้วย

ดังนั้น ความเงียบ นับเป็นหมากทางการเมืองที่เหมาะสม ทั้งกับนักการเมืองเขี้ยวรากดินและมีอุปนิสัยเผชิญหน้าอย่างสมัคร สุนทรเวช ความเงียบ เพื่อรอเวลาโยกย้ายนายทหาร จึงสำคัญที่แม้แต่เซียนการเมืองอย่างสมัคร สุนทรเวช ยังมองไม่ออก หูไม่ได้ยิน

 

แล้ววันนั้นก็มาถึง

จะเดินไปหาและให้คำแนะนำนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ให้ลาออกหรือยุบสภา

นี่เป็นข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์นะครับ จริงๆ เป็นเช่นไร ผมไม่ทราบ

แต่สมัคร สุนทรเวช ไม่ได้ถูกย้ายออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทหารและอาวุธ แต่โดยศาลศาลรัฐธรรมนูญตัดสินด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ว่า การจัดรายการ ชิมไป บ่นไป เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องห้ามในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หากประวัติศาสตร์เป็นครู ครูสอนสังคมไทยหลายอย่าง เมื่อมองละครการเมืองไม่ออก ก็ควรเงี่ยหูฟัง บางทีอาจได้ยินความเงียบ

ความเงียบสังหารไง

 

1Wassana Nanum, “Looking for the Right ( and Loyal) Man” Bangkok Post, 24 August 2007, 10.

2Wassana Nanum, “Gen. Anuphong’ s role in Samak’s crisis” Bangkok Post, 2008, 10

3มติชน 9 กันยายน 2552

4The Nation, 1 September 2008.

5กรุงเทพธุรกิจ, 26 สิงหาคม 2552

6The Nation, 1 September 2008.

7The Nation, 3 September 2008.