วันเคารพผู้สูงอายุ (敬老の日)ของญี่ปุ่น/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ
สุภา ปัทมานันท์

 

วันเคารพผู้สูงอายุ (敬老の日)ของญี่ปุ่น

 

วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกันยายน เป็น “วันเคารพผู้สูงอายุ” (敬老の日)ของญี่ปุ่นหรืออีกนัยหนึ่งคือ “วันผู้สูงอายุ” ปีนี้ตรงกับวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันหยุดต่อเนื่องเสาร์ – อาทิตย์รวม 3 วัน

แรกเริ่มเดิมที มาจากแนวความคิดของชาวเมืองทาคาโจ(多可町)จังหวัดเฮียวโกะ ในปี 1947 ได้ร่วมกันจัดงาน “วันผู้สูงอายุ”(年寄の日)เพื่อ “ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุและใช้ความรู้ ความสามารถของผู้สูงอายุให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น”

ต่อมา ในปี 1966 รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย เรียกว่า “วันเคารพผู้สูงอายุ”

“ผู้สูงอายุ” (高齢者)คือ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีอายุ 65 – 74 ปี เรียกว่า ผู้สูงอายุช่วงต้น และผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป เรียกว่า ผู้สูงอายุช่วงปลาย

ในปีนี้ ญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุทั่วประเทศ 36.4 ล้านคน คิดเป็น 29.1% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้น 220,000 คน นับเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลกด้วย และสูงกว่าประเทศอิตาลีซึ่งเป็นอันดับรองอยู่กว่า 5% แต่ในทางตรงกันข้าม ประชากรญี่ปุ่นทั่วประเทศกลับลดลง 510,000 คน

ในจำนวนประชากรผู้สูงอายุ แยกเป็น ชาย 15.83 ล้านคน หญิง 20.57 ล้านคน หญิงมากกว่าชายถึง 4.74 ล้านคน

ตามสถิติในปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ 9.06 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของคนทำงานทั้งระบบ เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันถึง 17 ปีทีเดียว ในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด มีถึง1 ใน 4 หรือ 25.1% ที่ยังคงทำงานอยู่ เป็นอัตราส่วนที่สูงขึ้นต่อเนื่องกัน 9 ปี คิดเป็นจำนวนที่สูงทีเดียวเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

ญี่ปุ่นไม่ได้ครองอันดับมีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ ทานาคะ คาเนะ คุณทวดหญิงชาวจังหวัดฟุคุโอคะ อายุ 118 ปี ยังครองสถิติกิเนสบุ๊คส์เป็น “ผู้มีอายุยืนที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่” (存命中の世界最高齢)ขณะนี้อีกด้วย ทางจังหวัดฟุคุโอคะได้มอบช่อดอกไม้และอวยพรให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง ท่านให้สัมภาษณ์ว่าอยากมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปี

นับว่าท่านเป็นผู้มีอายุผ่านมา 5 รัชศกญี่ปุ่นแล้ว (เมจิ ไทโช โชวะ เฮเซ และ เรวะ) ทำลาย

สถิติคุณทวดหญิง ทาจิมา นาบิ (อายุ 117 ปี 260 วัน) เสียชีวิตปี 2018 (เป็นผู้เสียชีวิตคนสุดท้ายของผู้ที่มีชีวิตตั้งแต่เริ่มและผ่านตลอดศตวรรษที่ 20) เป็นผู้อายุยืนที่สุดของญี่ปุ่นขณะนี้

ส่วนคุณทวดชาย อายุยืนที่สุดในญี่ปุ่น คือ อุเอดะ มิกิโซ อายุ 111 ปี ชาวจังหวัดนารา

ปีนี้ญี่ปุ่นมีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี 86,510 คน มากกว่าปีที่แล้วถึง 6,060 คน และเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 51 ปี นับตั้งแต่ปี 1970 ที่มีเพียง 310 คน ผู้สูงอายุที่เป็นหญิงมีถึง 88% คือ 76,450 คน ชาย 10,060 คน

ญี่ปุ่นไม่เพียงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (高齢化社会)อย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ซึ่งญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงการเตรียมรับมือตั้งแต่ก่อนย่างเข้าศตวรรษที่ 21แล้ว แต่ขณะนี้ญี่ปุ่นยังเข้าสู่ยุคสมัยที่มีผู้อายุเกิน 100 ปี(人生 100年時代)อีกด้วย

หากมองในแง่คุณภาพชีวิต เห็นได้ว่าชาวญี่ปุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่คุณภาพอาหารที่ทุกคนใส่ใจในการผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ชาวสวน การประมง การปศุสัตว์ เป็นต้น ภูมิอากาศที่มี 4 ฤดู มีผลผลิตหมุนเวียนตลอดทั้งปี และที่สำคัญยิ่งคือ ระบบสาธารณสุขและระบบประกันสังคมที่มีคุณภาพ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็แลกมาด้วยความตั้งใจอุตสาหะ ทำการงานมาตลอดช่วงชีวิตในวัยทำงาน และความมีวินัยในการใช้ชีวิต ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องรับมือกับจำนวนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปีในการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ สิ่งหนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือ การยืดอายุการเกษียณการทำงานเป็น 65 ปี และขอความร่วมมือในการจ้างงานภาคสมัครใจถึงอายุ 70 ปี เป็นต้น

จากเว็บไซต์หางานของผู้สูงอายุ ระบุว่ามีผู้ต้องการหางานกว่า 70% แยกประเภทเป็นงานสำหรับผู้มีอายุระหว่าง 60 – 65 ปี แยกตามงานที่ได้รับความนิยม คือ งานออฟฟิศ เป็นที่สนใจทั้งหญิงและชาย เพราะเป็นงานเบา สบาย แต่การแข่งขันให้ได้งานก็สูงตามไปด้วย งานที่เป็นกะ ทำให้มีเวลาชัดเจน อันดับรองๆลงมาคือ งานรปภ. ตามไซต์ก่อสร้าง งานทำความสะอาด เป็นงานหนัก แต่เงินดี ส่วนงานสำหรับผู้สูงอายุระหว่าง 70 – 75 ปี เช่น งานดูแลอพาร์ตเมนต์ แมนชั่น ได้ใช้ประสบการณ์การทำงานที่เคยทำมา เหมาะสำหรับผู้มีอัธยาศัย ชอบพบปะผู้คน งานรปภ.ตามออฟฟิศต่างๆ เป็นงานไม่หนัก ได้พบผู้คน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การทำงานที่กล่าวมานี้สำหรับผู้ที่ไม่มีครอบครัว มีค่าตอบแทนเพียงเพื่อยังชีพโดยไม่ต้องเอาเงินออมออกมาใช้ ซึ่งเป็นเงินที่ต้องเผื่อไว้หากมีอายุเกิน 100 ปี อาจต้องเข้าอาศัยบ้านพักคนชราแบบที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เป็นต้น ถึงตรงนี้แล้วก็ไม่แน่ใจว่า การเป็นผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องน่ายินดีหรือไม่

ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆวางขายสินค้าเพื่อให้ลูกหลานนำไปมอบให้คุณทวด ปู่ย่า ตายาย ใน “วันเคารพผู้สูงอายุ” เช่น โยคัง(羊羹)(ขนมถั่วแดงบด คล้ายวุ้น กินกับน้ำชา) เยลลีผลไม้ ปลาแห้งปรุงรสโรยข้าวราดน้ำชา(茶漬け) เป็นต้น พร้อมกับอวยพรให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงไปนานๆ…