เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (2) อยู่บนเตียงเท่านั้น/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

AFP

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (2)

อยู่บนเตียงเท่านั้น

 

เมื่อต้องอยู่แต่บนเตียง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องทำบนเตียง วัดไข้ วัดความดัน เจาะเลือด ฉีดยา รับยาผ่านสายน้ำเกลือ ไม่มีปัญหาเพราะพยาบาลทำให้ การเช็ดหน้า เช็ดผม เช็ดตัวด้วยผ้าทำความสะอาดผิวสำหรับผู้ใหญ่ ไม่มีปัญหาเพราะพยาบาลทำให้และผู้ป่วยทำเองได้ การรับประทานอาหาร การแปรงฟัน ไม่มีปัญหา ผู้ป่วยทำเองได้

แต่เรื่องใหญ่ที่ผู้ป่วยต้องทำเองและมีปัญหาคือการปัสสาวะและขับถ่าย

สำหรับทุกคนที่เคยแต่ลุกไปห้องน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผู้ป่วยพยายามจะลงจากเตียงก็เพราะอยากไปห้องน้ำ การนอนสวมแพมเพิสหรือผ้าอ้อมแล้วให้ฉี่นั้น ฉี่ไม่ออกค่ะ แม้พยาบาลจะมายืนให้กำลังใจว่า “ฉี่เลย ฉี่เลย” ก็ยากที่จะสำเร็จ สำหรับผู้ป่วยบางคนพยาบาลเอาหม้อนอนมารองให้ (ดิฉันทราบเพราะได้ยินที่พยาบาลพูดกับผู้ป่วย)

ไม่มีความลับในหอความดันลบ

ในส่วนของดิฉัน (ถ้าไม่อยากรับรู้ ก็ข้ามไปนะคะ ไม่ต้องอ่าน) ต้องพยายามอยู่นานกว่าจะสำเร็จ ดิฉันก็เลยคิดด้วยสมองอันมึนงงในขณะนั้นว่า ดื่มน้ำให้น้อยจะได้ไม่ต้องฉี่บ่อย สองสามวันต่อมาดิฉันก็ต้องมองดูแขนขาของตนผ่ายผอม ลีบเหมือนตะเกียบ ผิวหนังเหี่ยวย่น ลูบผิวหน้าก็เหมือนแตะกระดาษ งงอยู่เป็นชั่วโมงว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ และแม้จะดื่มน้ำน้อยแต่สองสามวันที่ผ่านมาก็ฉี่เท่าเดิม ในที่สุดก็นึกออกว่าร่างกายคนเราประกอบด้วยน้ำถึงประมาณ 70%

น้ำที่ออกจากร่างกายของดิฉันไม่มีน้ำใหม่เข้าไปทดแทนเพียงพอ

ดิฉันจึงเปลี่ยนวิธีการ ค่อยๆ ดื่มน้ำมื้อละ 2 ขวดหลังอาหารและยาแต่ละมื้อ จิบน้ำบ่อยๆ เมื่อกลับมาดื่มหลอดคอแห้งหมดแล้ว สำลักน้ำหากดื่มเร็วๆ

นอกจากนี้ ดิฉันได้ตระหนักว่าในช่วงที่นอนคว่ำ ดิฉันจะขับปัสสาวะได้ง่ายกว่านอนหงาย

มีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากกล่าวถึง คือทีมพยาบาลมีช่วงพักประมาณ 2 ชั่วโมงหลังผู้ป่วยรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ เพื่อออกไปถอดชุดพีพีอี รับประทานอาหาร พักผ่อนก่อนจะกลับเข้ามาดูแลผู้ป่วยอีกรอบ ผู้ป่วยจะต้องปัสสาวะให้เสร็จก่อนเวลาพยาบาลออกไป เพื่อที่จะได้ขอให้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ ผู้ป่วยจะได้นอนพักตัวแห้งสบาย

เวลาที่พยาบาลมาเปลี่ยนผ้าอ้อม จะมีพยาบาลอีกคนถือกระดาษพร้อมปากกา ดิฉันได้ยินเสียงพยาบาลคนแรกพูดว่า 300 บ้าง 600 บ้าง ตอนแรกดิฉันก็ยังไม่เข้าใจว่าคือจำนวนอะไร พอหลายครั้งเข้าก็เดาได้ว่าคือปริมาณน้ำปัสสาวะ

ครั้งหนึ่งดิฉันพลาดเพราะเผลอหลับก่อนที่ทีมพยาบาลจะออกไป ดิฉันปัสสาวะถึง 3 ครั้ง เมื่อน้องพยาบาลมาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ ดิฉันก็บอกเธอว่า วันนี้ป้าฉี่ 1000 น้องพยาบาลยิ้มแล้วบอกว่า เดี๋ยวหนูจะดูค่ะ

ดิฉันมาทราบภายหลังว่าพยาบาลได้รับการฝึกฝนให้คะเนปริมาณน้ำปัสสาวะจากน้ำหนักผ้าอ้อมได้ค่ะ และหากจำเป็นจริงๆ ก็จะมีการรีดน้ำออกเพื่อหาปริมาณที่แม่นยำได้

ในช่วงที่ทีมพยาบาลพัก จะมีพนักงานทำความสะอาดสวมชุดขาวแบบพีพีอี (แต่ไม่มีแถบผ้าสีน้ำเงินเย็บติดคาดไว้เหมือนชุดของแพทย์และพยาบาล) มาเก็บกวาดถูพื้น (เสื้อผ้าผู้ป่วย ผ้าปูที่นอนใช้แล้ว รวมทั้งผ้าอ้อมและแพมเพิส ทีมพยาบาลเก็บออกไปแต่แรก ดิฉันได้ยินเสียงประกาศทุกวันว่ารถเก็บขยะติดเชื้อออกจากโรงพยาบาลรามาฯ แล้ว ซึ่งหมายความว่ากำลังจะมาที่นี่) น้องเขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วย

ครั้งหนึ่งดิฉันอ้อนวอนให้เขาช่วยหยิบผ้าอ้อมจากห่อข้างเตียงซึ่งดิฉันเอื้อมมือลงไปหยิบเองไม่ถึง น้องลังเลอยู่ครู่หนึ่งแล้วหยิบให้ ดิฉันขอให้หยิบมาวางไว้บนเตียงหลายผืนเพื่อเก็บไว้เปลี่ยนเองเมื่อจำเป็น

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องขับถ่าย

ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม (วันถอดเครื่องช่วยหายใจไฮโฟล์) ดิฉันยังไม่ขับถ่าย รู้สึกอึดอัดมาก เมื่อถอดไฮโฟล์ก็ใส่สายให้ออกซิเจนทางจมูกแทน วันที่ 7 กรกฎาคม ดิฉันจึงขอยาถ่ายแบบน้ำในหลอดมาดูดซึ่งดิฉันได้เห็นพยาบาลให้ผู้ป่วยเตียงอื่นและดูได้ผล (ก่อนหน้านี้คุณหมอให้ยาเม็ดเซเนคอตแต่ไม่เกิดปฏิกิริยาอย่างใด) พยาบาลนำมาให้และเพียงประมาณหนึ่งชั่วโมงก็มาประกบพาดิฉันซึ่งถอดสายให้ออกซิเจนทางจมูกชั่วคราวลงจากเตียงไปห้องน้ำ จึงได้ขับถ่ายของเสียจำนวน 11 วันออกมาได้

“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่”

คุณหมอที่เข้ามาดูแลผู้ป่วยในหอความดันลบมี 2 ท่าน ดิฉันได้ยินคุณหมอพูดกับผู้ป่วยแต่ละคนถึงอาการของเขา ถึงการรักษาของคุณหมอ ในสมองของคุณหมอนั้นบรรจุข้อมูลของคนไข้แต่ละคนไว้

วันแรกที่คุณหมอมาถึงเตียงของดิฉัน คุณหมอก็แนะนำตัวโดยบอกชื่อก่อน แต่ช่วงนั้นดิฉันยังมึนงง จำชื่อคุณหมอไม่ได้

คุณหมอพูดให้ดิฉันฟังถึงอาการของสามีดิฉันทุกวัน

วันหนึ่งเป็นข่าวไม่ดีนักว่าเขาถ่ายเป็นเลือด ต้องใส่เลือดกลับเข้าไป วันรุ่งขึ้นคุณหมอก็มาบอกว่าจัดการเรียบร้อยแล้ว ไม่มีเลือดออกอีกแล้ว

อีกวันมาบอกว่าเขามีแผลกดทับเพราะพยาบาลงานเต็มมือ ไม่อาจพลิกตัวให้บ่อยๆ

เมื่อถึงวันที่ 3 กรกฎาคม ข่าวร้ายก็เริ่มก่อตัว การที่สามีดิฉันเป็นพาร์กินสันมา 9 ปี ประกอบกับอัลไซเมอร์ ทำให้ร่างกายของเขาไม่อาจตอบสนองการรักษาได้ดี

คุณหมอเริ่มพูดกับดิฉันเรื่องนี้ ย้ำว่าเรื่องที่จะพูดนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นดิฉันจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่

ดิฉันถามว่าการใส่ท่อช่วยหายใจเป็นการรักษาหรือไม่ คุณหมอตอบว่าไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการยื้อเวลา

ดิฉันอึ้งอยู่ชั่วขณะ แล้วตอบว่าไม่ต้องใส่ แต่ถ้าถึงเวลาที่เขาจำเป็นต้องไป ก็ขอให้ไปอย่างไม่ทรมาน คุณหมอพยักหน้ารับและย้ำอีกว่าเรื่องนี้ยังไม่เกิดนะครับ

วันรุ่งขึ้นคุณหมอผู้หญิงมาแนะนำตัวกับดิฉัน ถามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่าคุณป้าทราบแล้วใช่ไหมที่คุณหมอ (ชื่อคุณหมอผู้ชาย) มาพูดกับคุณป้า เรื่องยังไม่เกิดขึ้นนะคะ แต่เมื่อถึงเวลาคุณป้าจะตัดสินใจอย่างไร คุณป้าทำใจหรือยัง

ดิฉันยืนยันอย่างเดิมว่าขอให้สามีไปอย่างไม่ทรมาน คุณหมอถามว่ามีโอกาสร่ำลากันหรือเปล่า ดิฉันตอบว่าตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลยังไม่ได้มีโอกาสเจอกันเลย

คุณหมอคงเห็นแววตาดิฉันเหนือหน้ากากอนามัย จึงเอื้อมมือมาแตะไหล่เบาๆ แนะนำว่าคุณป้าควรจะหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อย่างหมอทำงานที่นี่ เวลามีปัญหา หมอก็จะนึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเป็นที่พึ่งทางใจ

วันถัดมาคุณหมอผู้หญิงก็กลับมาถามคำถามเดิม เมื่อดิฉันยืนยันว่าไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ คุณหมอก็บอกว่าจะให้ดิฉันเซ็นเอกสารยืนยัน (ซึ่งดิฉันได้เซ็นในวันที่ 8 กรกฎาคม)

คุณหมอผู้ชายมาบอกในวันรุ่งขึ้นว่า ถ้าความดันของสามีดิฉันตกถึง 80-40 คุณหมอจะให้ยานอนหลับ เป็นยาที่ไม่เร่งให้ความดันลดลง ความดันจะลดลงเองตามอาการ คนไข้จะหลับและจากไปโดยไม่ทรมาน

คำพูดของคุณหมอทั้งสองท่าน การตัดสินใจให้ยานอนหลับ การพยายามรักษาจิตใจของดิฉัน ทำให้ดิฉันตระหนักว่าคุณหมอทั้งสองเห็นความเป็นคนของคนไข้ เห็นทั้งคนทั้งไข้ มิได้เห็นแต่ไข้ เป็นคุณธรรมและจรรยาแพทย์ที่ควรแก่การสรรเสริญ เป็นความกรุณาปรานี สมดั่งพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า

“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”

แม้ต่อมาดิฉันจะสูญเสีย ดิฉันก็ซาบซึ้งใจ

 

แผลกดทับ

รอบเตียงผู้ป่วยแต่ละเตียง มีม่านพลาสติกใสสีขาวเนื้อขุ่นบดบังสายตา ม่านเหล่านี้ถูกรวบไว้ มองเห็นกันหมด สะดวกแก่พยาบาลเวลาดูความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย มองปราดเดียวเห็นได้หลายคน จะปิดม่านก็เวลาที่พยาบาลอยู่กับผู้ป่วยและเห็นว่าจำเป็นเท่านั้น

ขณะนอน นอกจากนอนคว่ำ ดิฉันนอนตะแคงซ้ายบ้างขวาบ้าง สลับกันไปเพื่อกันมิให้เกิดแผลกดทับ

ปัญหาคือผู้ป่วยเตียงข้างดิฉันไอตลอดเวลาและไม่สวมหน้ากากอนามัย ดิฉันให้หน้ากากและขอให้ใส่ เธอใส่ไม่นานก็ถอดออก เตียงตั้งห่างกันประมาณ 1 เมตร ดิฉันจึงจำต้องนอนตะแคงขวา หันหลังให้ (เตียงของดิฉันเป็นเตียงริม ดังกล่าวแล้ว)

ต่อมาดิฉันขอให้พยาบาลรูดม่านกั้นระหว่างเตียง พยาบาลบางคนทำให้ เป็นโอกาสให้ดิฉันได้พลิกตัวนอนตะแคงซ้าย

แต่พยาบาลบางคนก็มารวบม่านไว้เหมือนเดิม อ้างว่าบังกล้องมิให้เจ้าหน้าที่ในห้องบัญชาการมองเห็นผู้ป่วย ดังนั้น ดิฉันจึงจำต้องนอนตะแคงขวาในเวลาที่ไม่ได้นอนคว่ำ

วันที่ 5 กรกฎาคม พยาบาลที่มาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้บอกว่า คุณป้ามีแผลกดทับที่สะโพกขวา เดี๋ยวหนูจัดการให้นะคะ

เธอขอยืมมือถือของดิฉันถ่ายภาพแผลกดทับ ส่งไปยังไลน์ห้องบัญชาการ เธอยิ้มให้แล้วเดินจากไป จากนั้นไม่นานก็กลับมาพร้อมแผ่นผ้านุ่มๆ เปียกๆ หนาๆ มาแปะให้ ปิดปลาสเตอร์ตาข่ายทับ จากนั้นบอกว่าตอนนี้นอนตะแคงได้แล้วนะคะ น่าจะไม่เจ็บแล้ว

แผลกดทับนี้ค่อยๆ แห้ง พยาบาลมาดูให้เอาแผ่นปะยาวประมาณ 5 นิ้วนี้ออกได้อีกราวๆ สิบวันต่อมาที่อีกตึกหนึ่งซึ่งดิฉันย้ายไปเพราะอาการดีขึ้น

นอกจากที่สะโพกแล้ว ยังมีแผลกดทับเล็กๆ ที่ข้างหัวเข่าและตาตุ่มขวา เมื่อตกสะเก็ดแล้วผิวหนังบริเวณนั้นยังดำถึงทุกวันนี้

เรื่องแผลกดทับของดิฉันเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความหนักหนาสาหัสของการต่อสู้กับฤทธิ์ของไวรัสโควิด-19 แต่ที่นำมาเล่าก็เพราะอยากขอบคุณน้องพยาบาลที่ใส่ใจดูแลแผลกดทับให้ทันที