จากสถาบันขงจื่อถึงไซโนแวค/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

จากสถาบันขงจื่อถึงไซโนแวค

 

สถานทูตจีนออกแถลงการณ์ปกป้องวัคซีนไซโนแวค พร้อมทั้งกล่าวหาองค์กรและบุคคลที่ด้อยค่าวัคซีนนี้ว่า ไม่เคารพต่อวิทยาศาสตร์และความจริง ซึ่งสถานทูตต้องคัดค้าน “อย่างเด็ดขาด”

นับเป็นแถลงการณ์ของสถานทูตที่ออกจะประหลาดอยู่ การชี้แจงสิ่งที่เห็นว่าไม่จริงเพื่อปกป้องชื่อเสียงของสินค้าตนเองนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่สถานทูตต่างๆ ทำเป็นปรกติ แต่การลงมาวิวาทบาดทะลุงกับเอกชนนี่ เขามักจะหลีกเลี่ยงเพราะไม่จำเป็น โดยเฉพาะในประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองทูตเช่นไทย… สถานทูตกับกระทรวงมหาดไทยนั้นต่างกันมาก

แต่ขึ้นชื่อว่าไซโนแวคในประเทศไทยแล้ว ก็มีอะไรประหลาดๆ อยู่เสมอ คุณชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภาออกมาปราม ส.ส.ที่กำลังอภิปรายข้องใจคุณภาพของวัคซีนไซโนแวคว่า อาจกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ไม่สามารถพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ด้วยเหตุขัดข้องต่างๆ ที่ประธานคอยปรามอยู่เสมอ แม้แต่ในสภาผู้แทนราษฎร เสรีภาพการแสดงออกยังถูกรอนให้แคบลง เราจะมีสภาไปทำไม เพื่อเป็นเครื่องหมายของประชาธิปไตยเท่านั้นหรือ เหตุใดประธานรัฐสภาจึงอยากรักษาแค่เครื่องหมายเท่านั้น ไม่ใส่ใจต่อเนื้อหาของประชาธิปไตยเลยหรือ

และถ้าความสัมพันธ์อันดีกับประเทศใด ต้องแลกกับเสรีภาพในการแสดงออกของสมาชิกรัฐสภา ท่านประธานคิดว่าสมควรแลกกระนั้นหรือ

 

จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างอิทธิพลเหนือคนใหญ่คนโตในประเทศไทย นักวิชาการฝรั่งบางคนชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางทหารอันใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีน และเมื่อทหารยังเป็นใหญ่ในเมืองไทย จีนก็ต้องใหญ่ตามไปด้วย

แต่นอกจากการทหารแล้ว ผมคิดว่านโยบายสถาปนา “อำนาจอ่อน” ขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกของจีน ดูจะมีความสำคัญกว่า โดยทฤษฎีแล้ว อำนาจอ่อนโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ ให้การสนับสนุนในเวทีโลกได้มากกว่า เพราะกระทำโดยสมัครใจ ในขณะที่อำนาจแข็ง สร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น ถึงได้รับการสนับสนุนก็ด้วยความจำใจ

สถานะใหม่ของจีนในฐานะมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและแสนยานุภาพทางทหาร ย่อมบังคับให้จีนต้องเร่งสร้างอิทธิพลของตนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นธรรมดา โดยเฉพาะในหมู่ประเทศ “นันยาง” หรือทะเลใต้ ซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของจีนมาแต่โบราณ

การสถาปนาอำนาจอ่อนของจีนมีเป้าหมายว่า ต้องการเสนอภาพของจีนแก่โลกว่าเป็นประเทศ “อารยะ, ประชาธิปไตย (ตามนิยามของจีน), เปิด (ตามนิยามของจีน) และก้าวหน้า”

เครื่องมือสำคัญที่สุดในการสร้างอำนาจอ่อนด้วยภาพดังกล่าวในประเทศต่างๆ ทั่วโลกคือสถาบันขงจื่อ

 

จุดมุ่งหมายที่เป็นทางการของสถาบันขงจื่อคือการสอนภาษาจีนแก่ผู้สนใจ และเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ ผู้ก่อตั้งสถาบันอ้างว่าได้อาศัยสถาบันเกอเธ่ของเยอรมัน และบริติชเคาน์ซิลของอังกฤษเป็นต้นแบบ

ภาษาเป็นสะพานสำคัญในการสถาปนาอำนาจอ่อนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจอ่อนในเมืองไทยที่สุดคือสหรัฐ ส่วนหนึ่งมีภาษีกว่าเยอรมันหรือฝรั่งเศส ก็เพราะภาษาอังกฤษพอเป็นที่คุ้นเคยในเมืองไทย และเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาอย่างเป็นทางการด้วย แน่นอนไม่นับการลงทุนมหาศาล และสินค้าวัฒนธรรมซึ่งเป็นที่นิยมในเมืองไทย เช่น ภาพยนตร์และเพลง

สถาบันขงจื่อมักจะตั้งอยู่และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันทางวิชาการที่มีชื่อเสียงในประเทศต่างๆ ทั้งนี้ นับเป็นนโยบายมาแต่ต้นแล้ว ด้วยเหตุดังนั้นสถาบันขงจื่อจึงอาจร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือวิชาการในด้านจีนศึกษา กลายเป็นช่องทางให้จีนสามารถเผยแพร่นโยบายของตนให้เป็นที่ยอมรับไปด้วย เช่น โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ก็มีการจัดสัมมนาทางวิชาการในหลายประเทศทั่วโลก

ในยุโรป, แคนาดา และสหรัฐ สถาบันการศึกษาและวิชาการ มักมีเรื่องขัดแย้งกับสถาบันขงจื่อ ด้วยเหตุที่อ้างว่าสถาบันขงจื่อเข้ามาขัดขวางเสรีภาพทางวิชาการ เช่น ในการจัดสัมมนาเกี่ยวกับจีน สถาบันเจ้าภาพเสนอชื่อนักวิชาการที่ตนเห็นว่าเหมาะสม แต่สถาบันขงจื่อซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเงินรายใหญ่อาจคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นนักวิชาการที่ไม่เป็นมิตรกับจีนนัก ในที่สุด ก็ลงเอยที่สถาบันเจ้าภาพยกเลิกความร่วมมือกับสถาบันขงจื่อ จนต้องปิดสถาบันขงจื่อไปหลายแห่ง

ความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่เห็นความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการเช่นไทย

 

สถาบันขงจื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐสูงมาก เช่น เฉพาะในปี 2015 สถาบันขงจื่อใช้จ่ายเงินถึงกว่า 300 ล้านเหรียญอเมริกัน (แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วเป็นรายจ่ายประจำเท่านั้น เราไม่รู้งบประมาณรวม) นอกจากมีเงินจำนวนมากในการดำเนินงานของตนแล้ว ยังอาจสนับสนุนโครงการของสถาบันเจ้าภาพที่สถาบันขงจื่อเห็นชอบได้อีก นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ยังมีทุนส่งทั้งนักศึกษาและนักวิชาการท้องถิ่นไปศึกษาหรือดูงานในประเทศจีนอีกด้วย

เงินมีส่วนอย่างมากในความสำเร็จของสถาบันขงจื่ออย่างปฏิเสธไม่ได้ (ไม่ต่างจากที่สหรัฐเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว) ในทุกวันนี้ มีสถาบันขงจื่อและชั้นเรียนขงจื่อ (ส่วนขยายการสอนภาษาจีนที่สถาบันสนับสนุน) อยู่ทั่วโลกถึง 1,500 แห่ง ในประเทศอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่มีสถาบันขงจื่อและชั้นเรียนขงจื่อสูงสุดคือ 33 แห่ง (เทียบกับอินโดนีเซีย 8 แห่ง, กัมพูชา 4 แห่ง, ลาว 1 แห่ง, เวียดนาม 1 แห่ง มาเลเซีย 2 แห่ง)

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจากการเผยแพร่ภาษาให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคมหนึ่งๆ ไม่ประกันว่า สังคมนั้นหรือรัฐนั้นจะให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลจีนในฐานะมหาอำนาจโลกตลอดไป (คงจำได้ว่า ยิ่งคนไทยอ่านภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้น ก็ยิ่งต่อต้านสงครามเวียดนามของสหรัฐหนักขึ้น) ดังนั้น บทบาทสำคัญของสถาบันขงจื่อ จึงไม่ใช่สอนภาษาเพียงอย่างเดียว แต่ที่จะประกันความสำเร็จได้ยืนนานคือการกระทำที่เขียนในระบบถ่ายเสียงแบบพิงอินว่า Guanxi (ส่วนจะออกเสียงว่าอย่างไร ผมไม่ทราบ) แปลว่าการสร้างเครือข่ายท้องถิ่น ให้เชื่อมโยงกับ “จีน” – ซึ่งหมายถึงรัฐบาลจีนซึ่งมีสถาบันขงจื่อเป็นตัวแทน, สถานทูตจีนในประเทศนั้นๆ และชนชั้นนำของจีน – กับกลุ่มเดียวกันในประเทศเจ้าภาพ

เฉพาะในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มที่สถาบันขงจื่อพยายามเข้าไปสร้างเครือข่ายด้วยในนโยบาย Guanxi ก็คือ ชนชั้นนำระดับชาติหรือท้องถิ่น, หน่วยราชการ, องค์กรทางการศึกษา และกลุ่มคนเชื้อสายจีน (อันมีอยู่ในทุกประเทศของอาเซียน)

 

ในประเทศไทย แม้ว่าสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งอยู่แล้ว แต่สถาบันขงจื่อก็ยังพยายามสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับหน่วยราชการอื่นด้วย โดยการสอนภาษาจีนให้แก่หน่วยงานบางแห่ง เช่น สถาบันขงจื่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังรับสอนภาษาจีนให้แก่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศึกษาธิการจังหวัด สถาบันขงจื่อที่จุฬาฯ ทำงานร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ และตัวผู้อำนวยการเองเป็นผู้ถวายวิชาภาษาสนทนาจีนแก่เจ้านายที่สนพระทัย นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม, กระทรวงพานิชย์, กระทรวงศึกษา, กระทรวงการต่างประเทศ และกรมศุลกากร ก็เข้าเรียนภาษาจีนตามโปรแกรมของสถาบันขงจื่อ

สถาบันขงจื่อที่ทำงานด้านนี้สำเร็จได้ดียังได้รับรางวัลยกย่องอีกด้วย เช่น ในปี 2013 สถาบันขงจื่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ได้รับรางวัลยกย่องจากสำนักงานใหญ่ในจีน เพราะได้จัดหลักสูตรสอนภาษาจีนแก่ข้าราชการและชนชั้นนำ

และดังที่ทราบอยู่แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานการอุดหนุนแก่สถาบันขงจื่อเป็นอย่างมาก ได้เสด็จไปร่วมเปิดงานด้านวัฒนธรรมของสถาบันขงจื่อหลายครั้ง ในปี 2010 ทรงได้รับการประกาศยกย่องจากรัฐบาลจีนให้เป็นหนึ่งในสิบของบุคคลที่เป็นสุดยอดของ “เพื่อนจีน” นานาชาติ

ส่วนด้านความร่วมมือกับชุมชนเชื้อสายจีนในประเทศไทยนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่ของคนเชื้อสายจีนได้กลายเป็นไทยไปหมดแล้ว อย่าพูดถึงการรู้หนังสือจีนเลย แม้แต่พูดภาษาจีนก็ยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่จีนเป็นตลาดใหญ่และผู้ลงทุนรายใหญ่ของไทย คงแทบจะหาชนชั้นนำเชื้อสายจีนในวงการธุรกิจ-อุตสาหกรรมคนใดในเมืองไทยที่ไม่ทำมาค้าขายหรือร่วมทุนกับจีนไม่ได้เลย ดังนั้น กลุ่มชนชั้นนำของคนเชื้อสายจีนในวงการนี้ จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันขงจื่ออย่างเต็มที่

การฉลองวันครบรอบ 60 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2009 จัดกันอย่างกว้างขวางทั้งประเทศ สถิติของสถานทูตจีนในกรุงเทพฯ ระบุว่ามีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในประเทศไทยถึง 54 ประเภท และจัดกันใน 62 จังหวัดด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีน, สถาบันขงจื่อ และกลุ่มคนเชื้อสายจีนในท้องถิ่นต่างๆ (ซึ่งเราคงไม่คิดว่ารวมตาแป๊ะที่หาบเต้าฮวยขายข้างบ้านอย่างแน่นอน)

 

เมื่อเปรียบเทียบกับความสำเร็จของสถาบันขงจื่อในสิงคโปร์และกัมพูชา ก็จะพบปฏิบัติการ Guanxi หรือสร้างเครือข่ายที่คล้ายกับไทย เช่น ลีกวนยิวและลีเซียนลุงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ต่างจากนายกฯ ฮุน เซน มีการเชื่อมต่อกับหน่วยราชการและสถาบันการศึกษาชั้นนำเหมือนกัน และได้แรงหนุนจากพ่อค้าเชื้อสายจีนอย่างเต็มที่เหมือนกัน

ด้วยเงื่อนไขที่เพียบพร้อมของ Guanxi เช่นนี้ คงยากที่นายทหารกลุ่ม คสช.จะมีทางเลือกอื่นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การวางระยะห่างที่เท่ากันระหว่างสหรัฐและจีน เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ไม่ใช่เพราะปัจจัยภายนอก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับมหาอำนาจสองฝั่ง หรือนโยบายอเมริกันที่เปลี่ยนไป ฯลฯ เพียงอย่างเดียว ปัจจัยภายใน ซึ่งก็คือ “รอยเท้าของจีน” ก็มีส่วนอย่างมากในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

และด้วยเงื่อนไขภายในเช่นนี้ ประธานรัฐสภาก็ไม่มีทางเลือกเป็นอื่นเหมือนกัน

 

น่าสังเกตด้วยว่า นโยบายสร้างเครือข่ายหรือ Guanxi ของจีน เน้นที่ชนชั้นนำของสังคมต่างๆ ในอาเซียน จนอาจกล่าวได้ว่าข้ามหัวประชาชนไปเลย และนั่นคือเหตุผลที่สถาบันขงจื่อไม่เคยนำภาพยนตร์ “นอกกระแส” มาฉายให้ชม ดังสถาบันเกอเธ่และบริติชเคาน์ซิลเคยทำ ไม่มีห้องสมุดสาธารณะ ไม่มีการรณรงค์กับประชาชนในรูปต่างๆ (เช่น ยูซิส-ยูซอมเคยจ้างลิเกแสดงเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ หรือพิมพ์หนังสือภาษาไทยราคาถูกเผยแพร่อเมริกันและอุดมคติอเมริกัน) การดำเนินงานทั้งหมดของสถาบันขงจื่อผูกพันอยู่กับชนชั้นนำของสังคมอาเซียนเท่านั้น (ผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือวัฒนธรรมการเมือง, ข้าราชการ, สถาบันการศึกษาเด่นๆ, เจ้าสัว)

ส่วนหนึ่งก็เพราะประชาชนในประเทศจีนเอง แม้มีความสำคัญสุดยอดตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่เป็นประชาชนในจินตนาการของชนชั้นนำ ไม่ใช่อาเจ๊, อาเฮีย, และอาซิ้ม-อาแป๊ะ ตัวจริง เครือข่ายของ Guanxi จึงเป็นชนชั้นนำตามสัญชาตญาณ นอกจากนี้ ประเทศอาเซียนทั้งหลายก็ยังไม่ใช่สังคมประชาธิปไตยจริง ชนชั้นนำมีเสียงดังจนกลบประชาชนทั่วไปเหมือนกันทุกประเทศ ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ควรสร้างเครือข่ายกับใครก็เห็นได้ชัดอยู่แล้ว

ปัญหาที่น่าคิดก็คือ ความสำเร็จของจีนในการใช้อำนาจอ่อนประทับ “รอยเท้า” ไว้ในอาเซียนเช่นนี้ จะมีกำลังในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของประเทศอาเซียนต่อไปในระยะยาวได้เพียงไร สภาวะทางสังคมและการเมืองของประเทศอาเซียนในปัจจุบันล้วนเป็นสภาวะที่อาจกล่าวได้ว่าชั่วคราวทั้งนั้น อาจเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น, ประชาธิปไตยภายใต้การนำที่เด็ดขาดของผู้นำประชานิยม, เผด็จการกลุ่มใหม่ที่กำกับอย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้น ฯลฯ

ถ้าอำนาจของชนชั้นนำเดิมลดลง ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม เครือข่ายเดิมของชนชั้นนำที่จีนได้ Guanxi เอาไว้ จะกลายเป็นพลังหรือภาระของสถาบันขงจื่อกันแน่ ยกตัวอย่างเล่นๆ ก็ได้ ถ้าผู้บริหารจุฬาฯ ต้องฟัง “เนติวิทย์” มากขึ้น กิจกรรมของสถาบันขงจื่อที่จุฬาฯ จะยังราบรื่นเหมือนเก่าหรือไม่

(ข้อมูลเกี่ยวกับอำนาจอ่อนของจีนและสถาบันขงจื่อได้จาก Diokno, Maria Serena I., et.al., eds., China’s Footprints in Southeast Asia โดยเฉพาะบท “Confucius Institutes in Southeast Asia : Assessing the New Trends in China’s Soft Diplomacy.” ของ H. H. Michael Hsiao & Alan H. Yang)