ใช้ AR เอาชนะความกลัว/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ใช้ AR เอาชนะความกลัว

 

ไม่รู้ว่าความกลัวสัตว์เล็กสัตว์น้อยนานาชนิดของคนอื่นเริ่มต้นอย่างไร แต่ความกลัวแมลงสาบของฉันเริ่มต้นขึ้นได้ด้วยวิธีที่งี่เง่าที่สุด ซึ่งก็คือการสะกดจิตตัวเองล้วนๆ

ตอนเด็กๆ ฉันเคยคิดว่าเพื่อนผู้หญิงคนอื่นๆ ที่กลัวมด กลัวหนู กลัวจิ้งจก ดูเป็นคนน่ารักบอบบางดีจัง เวลาเจอสัตว์ที่ตัวเองไม่ชอบก็สามารถร้องกรี๊ดแล้วให้เพื่อนคนอื่นเข้ามาปกป้องได้

ฉันที่ไม่กลัวอะไรเลยนี่ช่างน่าเบื่อ แข็งทื่อ ดูไม่มีคอนเทนต์เอาเสียเลย

คิดได้อย่างนั้นก็ตัดสินใจว่าเอาล่ะ เราน่าจะต้องลองกลัวอะไรบางอย่างดูบ้าง

แล้วจังหวะนั้นแมลงสาบตัวหนึ่งก็เดินตัดหน้าฉันไปราวกับโชคชะตาฟ้าลิขิต

ใช้เวลาแกล้งทำเป็นกลัวแมลงสาบไม่นาน อยู่ๆ จากที่มันสามารถเดินเฉียดฉันไป-มาได้โดยที่ฉันไม่ได้แยแสหรือแม้แต่จะสังเกตเสียด้วยซ้ำ

ฉันก็กลายเป็นคนที่กลัวแมลงสาบสุดๆ หางตาของฉันจะว่องไวต่อการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วและจับทิศทางไม่ได้ของมันจนทำให้ฉันเป็นคนแรกที่จะเห็นแมลงสาบก่อนใครเสมอ

และความกลัวก็ทำให้ฉันใช้ชีวิตได้ยากขึ้นในประเทศที่เต็มไปด้วยแมลงสาบในทุกๆ ที่

บ่อยครั้งฉันก็มักจะนึกย้อนกลับไปถึงวันนั้นในวัยเด็กแล้วพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับตัวเองว่า…ไม่น่าเลย

 

ฉันเชื่อว่าถ้าฉันฝึกตัวเองให้กลัวแมลงสาบได้ ฉันก็น่าจะฝึกตัวเองให้หายกลัวมันได้เหมือนกัน แต่การฝึกให้กลัวกับฝึกให้หายกลัวดูเหมือนจะเป็นไปในอัตราความเร็วที่แตกต่างกันเสียเหลือเกิน

ข่าวดีสำหรับคนอย่างฉันก็คือบางทีเทคโนโลยีอาจจะเข้ามาช่วยให้เราจัดการความกลัวประเภทนี้ได้ดีและเร็วขึ้นก็ได้

นักวิจัยจาก University of Basel ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสมาร์ตโฟนที่ใช้เทคโนโลยี augmented reality หรือการซ้อนความจริงเสมือนเข้ากับโลกความเป็นจริงเพื่อช่วยบำบัดความกลัวแมงมุมซึ่งเป็นหนึ่งในอาการกลัวที่เกิดขึ้นกับคนได้บ่อยที่สุด

คนที่กลัวแมงมุมมากๆ บางคนถึงขั้นหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน หรือเลือกไม่ไปสถานที่บางแห่ง ไปจนถึงการต้องคอยตรวจเช็กห้องทุกห้องอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุมเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีแมงมุมแอบซ่อนอยู่

ซึ่งถ้าเป็นในระดับที่ค่อนข้างหนักก็จะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยบำบัดอาการกลัวแมงมุมได้ก็คือการต้องค่อยๆ ปล่อยให้ตัวเองได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวไปทีละนิดๆ โดยมีนักบำบัดคอยช่วยแนะนำอยู่ด้วยซึ่งก็อาจจะช่วยให้เอาชนะความกลัวได้ในที่สุด

แต่ปัญหาของการบำบัดวิธีนี้ก็คือคนที่กลัวแมงมุมก็ไม่อยากจะเข้าร่วมตั้งแต่แรกเพราะไม่อยากอยู่ใกล้แมงมุมของจริง

 

นักวิจัยทีมนี้จึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ Phobys ขึ้นมาเพื่อจำลองให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใกล้แมงมุมได้มากขึ้น

เมื่อผู้ใช้งานเปิดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ขึ้นมาและใช้กล้องส่องไปที่พื้นผิวที่อยู่ข้างหน้า ตัวแอพพ์ก็จะซ้อนภาพแมงมุมสามมิติที่จำลองขึ้นมาให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดให้เราสามารถเห็นได้ผ่านหน้าจอโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นแมงมุมบนโต๊ะ บนเตียง บนหน้าต่าง หรือบนพื้น

ซึ่งไม่ว่าจะจำลองมาได้เหมือนจริงอย่างไรก็คงดีกว่าเอาตัวจริงมาเกาะแน่ๆ ใช่ไหมคะ

แอพพ์จะมีระดับความเข้าใกล้แมงมุมให้เลือกทั้งหมด 9 ระดับ เริ่มจากดูมันอยู่ห่างๆ ไปจนถึงระดับที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์หรือจับแมงมุมเสมือนจริงได้ เมื่อจบแต่ละระดับแอพพ์จะประเมินความกลัวและความขยะแขยงของผู้ใช้พร้อมกับวิเคราะห์ให้ว่าเพียงพอที่จะปล่อยให้ผ่านไปด่านต่อไปที่ยากขึ้นหรือจะต้องเล่นด่านเดิมซ้ำ นอกจากนี้ แอพพ์ก็ยังถูกออกแบบมาให้ใส่ความเป็นเกมเข้าไปด้วยการให้รางวัลหรือใช้ภาพแอนิเมชั่นแมงมุมน่ารักและเสียงในการกระตุ้นให้ผู้เล่นมีแรงจูงใจที่อยากจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ

สำหรับวิธีการวัดผลตั้งแต่ก่อนไปจนถึงหลังใช้งานแอพพ์เพื่อบำบัด นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมทุกคนลองเข้าใกล้แมงมุมตัวจริงที่อยู่ในกล่องใสให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ จากนั้นก็นำผลลัพธ์มาเปรียบเทียบกัน

ซึ่งทีมนักวิจัยก็พบว่าอาสาสมัครที่บำบัดด้วยแอพพลิเคชั่น Phobys แสดงออกถึงอาการหวาดกลัวและขยะแขยงแมงมุมน้อยลงและสามารถเข้าใกล้แมงมุมได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้บำบัดด้วยแอพพ์

ซึ่งระยะเวลาในการบำบัดอยู่ที่เพียง 2 สัปดาห์ คิดเป็นระยะเวลาการใช้แอพพ์รวมแล้ว 6 ชั่วโมง

 

อ่านมาถึงตรงนี้ฉันก็รีบคว้าโทรศัพท์มือถือมาดาวน์โหลดแอพพ์แล้วทดลองใช้กับตัวเองดูบ้าง แอพพ์นี้สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีทั้งบน iOS และ Android

แต่สิ่งเดียวที่ฟรีก็คือการทดลองใช้เพื่อทดสอบระดับความกลัวแมงมุมในตัวของคุณ

ถ้าหากต้องการเริ่มบำบัดตั้งแต่ระดับหนึ่งก็จะต้องเสียเงินเพื่อปลดล็อก 149 บาท

ฉันเริ่มต้นใช้งานด้วยระดับความกลัวแมงมุมที่ถือว่าค่อนข้างน้อย ฉันคิดว่าฉันไม่ถึงกับกลัวจนขาสั่นแต่ก็ไม่ได้พิศวาสอะไรมันมากมายถึงกับจะไปจับมาเล่นได้

ถึงกระนั้นแอพพ์นี้ก็ยังทำให้ฉันขนลุกเกรียวได้ตั้งแต่เลเวลแรกเริ่มที่สุด

แอพพ์จะให้เราวัดระดับพื้นผิวตรงหน้าด้วยการหมุนโทรศัพท์วนๆ ช้าๆ จากนั้นก็จะให้เราแตะหน้าจอเพื่อปล่อยให้แมงมุมออกมา โดยจะเริ่มจากพื้นผิวบนโต๊ะก่อน เมื่อเราแตะลงไป แมงมุมจำลองตัวหนึ่งก็จะโผล่ขึ้นมา แอพพ์จะสั่งให้เราค่อยๆ เข้าไปหาแมงมุมใกล้ๆ ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยี AR เมื่อเราถือโทรศัพท์อยู่ห่างๆ แมงมุมบนโต๊ะก็จะตัวเล็กกระจิริด แต่พอเราขยับโทรศัพท์เข้าไปใกล้ๆ ขนาดของมันก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดจริง

ถึงแม้ว่าภาพแมงมุมที่เราเห็นจะเป็นแค่ภาพจำลองที่เราดูออกได้ทันทีว่าไม่ใช่ของจริง แต่พอมันมาปรากฏให้เห็นแบบที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกับเราก็ทำให้ฉันอดไม่ได้ที่จะขนลุกเกรียวขึ้นมา

 

ฉันลองเล่นตั้งแต่ระดับแรกๆ ที่แอพพ์จะให้เราแค่มองแมงมุมเฉยๆ ไปจนถึงระดับที่แมงมุมจะล่องลอยอยู่รอบตัวเราและเราต้องเดินเข้าไปเก็บมันให้ครบทุกตัว สยองที่สุดคือแมงมุมสามมิติที่ไปโผล่อยู่บนผ้าม่านในห้องของฉันและฉันก็ต้องเดินเข้าไปหามันใกล้ๆ

แต่สิ่งที่ทำให้ฉันเริ่มกลัวจริงๆ ก็คือด่านที่แมงมุมตัวเล็กๆ หลายสิบตัวอยู่บนพื้นและแอพพ์สั่งให้ฉันเดินเข้าไปอย่างระมัดระวังไม่เหยียบแมงมุม แต่พอเดินเข้าไปจริงๆ มันก็มาเกาะอยู่บนหลังเท้าของฉัน แม้จะรู้ว่าทั้งหมดนี่ไม่ใช่ของจริง แต่ปฏิกิริยาอัตโนมัติของฉันก็คือหวีดร้องออกมาและแทบจะโยนโทรศัพท์มือถือทิ้งเลยทีเดียว (ซึ่งแอพพ์ก็รู้และสั่งให้ฉันกลับไปทำใหม่อีกรอบ)

ระดับความสมจริงของแอพพ์นี้ทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าน่าจะมีตัวเลือกให้เปลี่ยนเป็นแมลงสาบดูบ้าง เพราะฉันอยากรู้จริงๆ ว่ามันจะช่วยบำบัดได้มากน้อยแค่ไหน

แต่สำหรับการใช้งานเพื่อบำบัดความกลัวแมงมุม ฉันว่าน่าจะต้องทำตามขั้นตอนไปช้าๆ อาจจะทำวันละด่านโดยที่ไม่เร่งรีบมากเกินไป หรือจะวางแผนให้อยู่ในระยะเวลา 2 สัปดาห์เหมือนที่ทีมนักวิจัยทำก็ได้

เพราะหากลองเล่นแบบเร็วๆ และกระโดดข้ามด่านแบบที่ฉันทำก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่กลับกัน

จากเริ่มต้นด้วยความไม่กลัว ฉันอาจจะลงเอยด้วยอาการกลัวแมงมุมแถมมาอีกหนึ่งก็เป็นไปได้