คณิตศาสตร์เลือกตั้ง คำนวณบัญชีรายชื่อแบบ MMP./บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

คณิตศาสตร์เลือกตั้ง

คำนวณบัญชีรายชื่อแบบ MMP.

 

ในตอนที่แล้วผู้เขียนได้ทดลองนำเสนอผลการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภายใต้หลักการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบและเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 400 : 100 ภายใต้วิธีการคำนวณแบบคู่ขนาน หรือระบบ MMM. (Mixed Member Majoritarian System) ตามแบบรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และ 2550 ไปแล้ว

ผลที่ได้คือ พรรคขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จากการได้ส่วนแบ่งเพิ่มใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคขนาดกลางได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และพรรคขนาดเล็กถึงขั้นสูญพันธุ์

ในตอนนี้จะได้ทดลองนำตัวเลขชุดเดียวกันมาคำนวณภายใต้ระบบสัดส่วนผสม หรือระบบเยอรมัน (Mixed Member Proportional System) หรือ MMP. ที่มีการระบุว่าจะเป็นการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.ในสภาโดยคำนึงถึงสัดส่วนที่พึงจะมีและก่อให้เกิดการกระจายไปยังพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

หลักการของ MMP.

วิธีการของ MMP. นั้นมีวิธีการคำนวณที่ยุ่งยากกว่าระบบการคำนวณแบบคู่ขนาน โดยมีขั้นตอนของการคำนวณดังนี้

1) ใช้คะแนนจากบัตรบัญชีรายชื่อที่ประชาชนมาใช้สิทธิทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100 เท่ากับจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน

2) เทียบคะแนนจากบัตรใบที่สองของแต่ละพรรคการเมืองคิดเป็นร้อยละ แล้วไปคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีของพรรคดังกล่าวว่าจะได้กี่คนจาก 500 คน

3) ในกรณีที่พรรคดังกล่าวได้จำนวน ส.ส.จากเขตน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี ให้เพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามลำดับในบัญชีรายชื่อของพรรคจนครบจำนวน

4) ในกรณีที่พรรคใดมี ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.ที่พึงจะมี พรรคนั้นจะไม่ได้การจัดสรรในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

หลักการของ MMP. จึงเป็นหลักการเดียวกับระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 เพียงแต่คราวนี้ใช้บัตรสองใบ และพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส.เขตเพียงเขตเดียว ก็จะมีชื่อและหมายเลขพรรคในบัตรใบที่สองให้ประชาชนเลือกทั้งประเทศ

แตกต่างจากบัตรใบเดียวที่ส่งเขตใดก็จะมีหมายเลขพรรคให้กาเฉพาะเขตนั้นทำให้พรรคที่ส่งผู้สมัครลงเขตไม่ครบจะเสียเปรียบพรรคที่ส่งครบทุกเขต

ผลการคำนวณจากบัตรใบที่สองในระบบ MMP.

แน่นอนว่าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคที่เคยได้ต้องลดลง เนื่องจากจำนวนรวมของ ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกลดลงจาก 150 คน เป็นเหลือแค่ 100 คน หรือลดลงไปถึง 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.3 ผลการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ปรากฏตามแผนภูมิที่ 1

จากแผนภูมิที่ 1 มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 20 พรรค โดยพรรคที่ได้จัดสรรสูงสุดคือพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 39 คน รองลงมาคือ ประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทย ภูมิใจไทยและเศรษฐกิจใหม่ ในขณะที่พรรค 1 เสียงมี 9 พรรคคือ พรรครักษ์ผืนป่าฯ และพรรคอื่นๆ อีก 8 พรรค โดยพรรคเล็กอีก 4 พรรคที่มีคะแนนน้อยรั้งท้ายคือ พรรคประชาชนปฏิรูป (ปัจจุบันยุบพรรคไปแล้ว) พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่และ พรรคพลังธรรมใหม่ ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เมื่อนำจำนวนที่ได้จากการคำนวณในระบบ MMP. มาเทียบกับการคำนวณในระบบคู่ขนาน หรือ MMM. ตามที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และ 2550 ปรากฏผลความแตกต่างตามแผนภูมิที่ 2

จากแผนภูมิที่ 2 เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อระหว่างแบบคู่ขนาน MMM. และระบบจัดสรรปันส่วนผสม MMP. จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนในหลายประเด็นดังนี้

ประการแรก ระบบ MMM. เป็นการออกแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคใหญ่อย่างชัดเจน โดยพรรคการเมือง 5 พรรคแรก คือ เพื่อไทย พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย มีที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมแล้วถึง 86 ที่ หรือร้อยละ 86 ของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 100 คน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ถึง 46 ที่ หรือร้อยละ 46

ประการที่สอง ระบบ MMP. เป็นระบบที่นำไปสู่การสร้างความได้เปรียบแก่พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก โดยพรรคก้าวไกลจะได้ประโยชน์สูงสุดถึง 39 ที่ รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ 13 ที่ และมีการกระจายให้แก่พรรคเล็ก โดยมีพรรคเล็ก 1 ที่ ที่ไม่ได้ที่นั่งจากระบบ MMM. เพิ่มขึ้นอีกถึง 8 พรรค

ประการที่สาม ระบบ MMP. เป็นระบบที่ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่สามารถมีที่ในสภามากเกินไปจากสัดส่วนที่พึงจะมี โดยในกรณีที่พรรคขนาดใหญ่ได้ที่นั่งจาก ส.ส.เขตจำนวนมากจะได้สัดส่วนของบัญชีรายชื่อน้อยลง โดยจะเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคพลังประชารัฐก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียง 6 ที่

การจัดตั้งรัฐบาลที่จะเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดจึงเป็นไปได้ยากกว่าระบบ MMM. โดยมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค

 

การออกแบบที่ยังขาดความสมบูรณ์

แม้ว่าระบบ MMP. จะได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบที่สามารถทำให้พรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส.ในสภา ตามสัดส่วนที่ควรจะเป็นโดยทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ใช่ระบบที่ผู้ชนะคะแนนสูงสุดได้เข้าสภา (First Past The Post : FPTP)โดยคะแนนของผู้แพ้ไม่ได้รับความสนใจใดๆ แต่วิธีการคำนวณเป็นที่เข้าใจได้ยาก รวมถึงควรยังต้องมีกลไกเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดสัดส่วนที่ถูกต้องและการป้องกันการใช้ประโยชน์จากพรรคการเมืองขนาดเล็กที่อาศัยการปัดเศษให้ได้จำนวน ส.ส.จากคะแนนที่ได้รับเลือกอย่างไม่เหมาะสม

กลไกอย่างน้อยอีก 3 ประการ จำเป็นต้องมาใช้ประกอบในการออกแบบคือ

หนึ่ง การให้มีที่นั่งส่วนขยาย (Overhang seats) ในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้แก่พรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรตามสูตรแล้วยังไม่ได้สัดส่วนตาม ส.ส.ที่พึงจะมี เนื่องจากมีพรรคการเมืองอื่นชนะในเขตเป็นจำนวนมาก แม้พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย แต่การมีจำนวน ส.ส.เขตมากนั้นมากกว่าสัดส่วนที่พึงจะมี จึงต้องเพิ่มที่นั่งส่วนขยายในฝั่งบัญชีรายชื่อให้กับพรรคอื่นเพื่อให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงที่พึงจะมี ภายใต้ระบบนี้ จำนวน ส.ส.ในสภาจะไม่แน่นอนตายตัว โดยสามารถขยายได้ในส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

สอง การกำหนดจำนวนคะแนนขั้นต่ำเป็นร้อยละที่พรรคการเมืองพึงได้ก่อนนำมาจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่น ร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 5 เพื่อไม่ให้ระบบการปัดเศษลงไปถึงพรรคที่มีคะแนนเพียงไม่กี่หมื่นสามารถได้ประโยชน์จากการปัดเศษและเป็นช่องทางการได้ ส.ส. โดยไม่สมเหตุสมผล

สาม การกำหนดจำนวน ส.ส.เขต ว่าจะต้องได้ ส.ส.เขตด้วยอย่างน้อย 1 เขต จึงจะจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ เพื่อส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีตัวแทนในระดับเขต ไม่ใช่หวังเพียง ส.ส.บัญชีรายชื่อจากบัตรใบที่สองแต่เพียงอย่างเดียว

การออกแบบระบบเลือกตั้งแบบ MMP. จึงเป็นระบบที่มีความซับซ้อนต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ

หากไม่ใช้ประโยชน์พรรคเป็นที่ตั้ง หรือไม่สนใจแต่เพียงตัวเลขว่าใครได้ใครเสีย ระบบนี้กลับเป็นระบบที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพียงแต่ปัจจุบัน ทุกครั้งที่ออกแบบเราไม่เคยคิดถึงประโยชน์ประเทศเหนือประโยชน์พรรคการเมืองเท่านั้น