E-DUANG : ปฎิกิริยา ต่อพิธีกรรม สวดมนต์ เบื้องหน้าไวรัส เบื้องหน้า พายุ

คำชี้แนะจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องของการสวดมนต์เพื่อมิให้”พายุ”หรือ”มรสุม”พัดผ่านเข้ามา ระหว่างการเดินทาง ไปยังสุโขทัย

ถือเป็นคำชี้แนะที่ปรกติธรรมดาอย่างยิ่งของ”ชาวพุทธ” เพราะเมื่อไวรัสโควิดระบาดเข้ามา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เปรยเช่นนี้

ถามว่าเหตุใดคำชี้แนะในเชิงปรารภจึงกลายเป็น”ประเด็น”

เป็นประเด็นทั้งสร้างความหงุดหงิด ไม่พอใจ และนำไปสู่การเยาะหยัน ไยไพ ราวกับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังสร้างปรากฎการณ์ประหลาดในทางสังคม

หากมองจากรากฐานความเป็น”ชาวพุทธ” หรือแม้กระทั่งความ เชื่อใน”ลัทธิ”อะไรก็ตาม ถ้อยปรารภในแบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเรื่องธรรมดาอย่างปรกติยิ่ง

เพราะไม่ว่าใครก็ตามเมื่อตกอยู่ในความมืดและเกิดความกลัว 

ก็มักจะนึกถึง”พระ”พร้อมกับยกมือขึ้นกุมที่หน้าอกเพื่อปลอบใจตนเองและวิงวอน

แม้จะรู้อยู่เป็นอย่างดีว่าทุกอย่างเสมอเป็นเพียงการปลอบใจ

 

ไม่ว่าจะเป็นการร้องขอวิงวอนผ่านกระบวนการสวดมนต์เพื่อให้รอด พ้นจากการคุกคามของไวรัสโควิด ไม่ว่าจะเป็นการร้องขอวิงวอนเพื่อให้พายุพัดผ่านไปจากประเทศไทย

ถือว่าเป็นคำวิงวอนร้องขอที่ติดปากและได้ยินอยู่เป็นประจำเมื่อประสบกับภัยที่รุกคุกคามเข้ามา

ในอดีตอาจรับฟังอย่างเห็นใจ แต่ปัจจุบันกลับเป็นการเยาะเย้ย

เพราะไม่นานมานี้พระที่ตั้งวงกิน”ชาบู”ในยามวิกาลก็รับรู้กันว่ามีกิจที่จะต้องสวดมนต์อยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกับมีการโพสต์ภาพพระยืนแช่น้ำอันมาพร้อมกับอุทกภัย

ภาพเหล่านี้ได้กลายเป็น”ไวรัล”อยู่ในโลกของโซเชียล มีเดียเท่า 

กับยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่าถึง”สวดมนต์”ก็ไม่ได้อะไร

 

ปฏิกิริยาในทางสังคมต่อคำชี้แนะและหาทางออกผ่านกระบวนการสวดมนต์จากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิได้เป็นเพียงการวิ จารณ์ต่อผู้นำซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

หากแต่ยังเป็นการพุ่งตรงไปยังกระบวนการของ”การสวดมนต์”

ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งอาจเห็นเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ขรึมขลัง เพราะมากับพิธีกรรมในทางศาสนา แต่มาอีกยุคหนึ่งกลับกลายเป็นหัวร่อ

ทั้งหมดนี้ดำรงอยู่ภายใต้กฎแห่ง”อนิจจัง”อย่างเที่ยงแท้แน่นอน