ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต เยฟกินี โทมิคิน
125 ปีสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย (ตอน 1)
เมื่อต้นปี มีการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-รัสเซีย อย่างรอบด้าน ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ณ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องการเตรียมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 125 ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียในปี 2022 ที่ใกล้จะถึงนี้รวมอยู่ด้วย
เราได้รับเกียรติอีกวาระหนึ่งจากนายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ได้มาให้ข้อมูลแก่เราในประเด็นสำคัญต่างๆ
ซึ่งได้แก่ การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันครบรอบ 125 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-รัสเซียปี 2022
“เรามองว่าในเวลาที่ใกล้เข้ามานี้ ความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างรัสเซีย-ไทย จะเติบโตพัฒนาขึ้นไปตามบริบทของการเฉลิมฉลองในวันครบรอบ 125 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศของเรา”
ไทยและรัสเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1897 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสรัสเซียอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลสยามได้แต่งตั้งราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กคนแรก คือพระยาสุริยานุวัตร (เล็ก บุนนาค)
“รัสเซียยังคงสานสัมพันธ์กับเพื่อนชาวไทยอย่างใกล้ชิด ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดทำแผนการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราเชื่อมั่นว่าแม้สถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกจะสร้างความยุ่งยาก แต่ในความพยายามร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ประเทศของเราจะสามารถเฉลิมฉลองวันครบรอบนี้ได้อย่างสมบูรณ์”
“แม้ในขณะนี้อาจจะยังไม่สามารถตั้งกรอบเวลาในการทำงานใดๆ เกี่ยวกับการจัดงานดังกล่าวได้ แต่เราสามารถชี้แจงทิศทางการทำงานของเราได้”
“ประการแรก เราได้ประสานงานในระดับทวิภาคีที่สำคัญสูงสุดให้เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น ‘ในกรอบความร่วมมือ’ ของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค-2022 (APEC-2022 summit) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในบริบทของวันครบรอบ โดยเราตั้งใจว่าจะมีการลงนามในเอกสารระดับทวิภาคีจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และงานด้านมนุษยธรรม ตลอดจนความร่วมมือทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์”
“เรามั่นใจว่ากิจกรรมความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านวัฒนธรรม จะช่วยดึงดูดความสนใจของทุกคนที่ต้องการสัมผัสกับประเพณีและวัฒนธรรมที่รุ่มรวยและหลากหลายของประเทศไทยและรัสเซีย”
“ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศรัสเซียได้จัดการแข่งขันประกวดเครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือโลโก้ (Logo) ขึ้น เพื่อหาโลโก้ที่ดีที่สุดสำหรับวันครบรอบ 125 ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียที่กำลังจะมาถึง โดยทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญนี้ สำหรับรายละเอียดในการประกวดนั้นได้ปรากฏอยู่ในหน้าเว็บไซต์ของสถานทูตรัสเซียและสื่อสังคมออนไลน์ของสถานทูตด้วยเช่นกัน”
การประกวดครั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่ครอบคลุมระหว่างสองประเทศ และการมีส่วนร่วมโดยตรงของพลเมือง “รัสเซีย” และ “ไทย” โดยการเลือกโลโก้ที่น่าจดจำ เป็นที่เข้าใจง่ายสำหรับพลเมืองของทั้งสองประเทศ โดยอาจจะมีชื่อรัฐและคำอื่นๆ จากทั้งสองภาษาได้ สามารถส่งในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ PDF หรือ JPEG ได้ที่ [email protected] หรือ [email protected] พร้อมระบุชื่อผู้เขียน นามสกุล ข้อมูลติดต่อ (E-Mail) ตลอดจนคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับแนวคิด ส่งได้จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2021
ซึ่งผลการแข่งขันจะประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2021 บนเว็บไซต์ของสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย
สำหรับโลโก้ที่ชนะการประกวดจะได้นำไปใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการสำหรับกิจกรรมตลอดปี 2022 ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิตอล
การเข้าร่วม
การประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจเอเปค (APEC)
ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2022
“รัสเซียได้ติดตามการเตรียมการเป็นประธานเอเปคของไทยอย่างใกล้ชิด โดยในปี 2022 นี้ สำหรับเรา เอเปคจัดว่าเป็นหนึ่งในนโยบายหลักสำหรับความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรามองว่าการจัดลำดับความสำคัญและหัวข้อในการทำงานของการเป็นประธานเอเปคของประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มไปในทางที่ดี”
“กิจกรรมของงานนี้ ล้วนมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับรัสเซีย รัสเซียมีความตั้งใจที่จะร่วมมือทำงานอย่างสร้างสรรค์กับตำแหน่งประธานของประเทศไทย”
“นอกจากนี้ รัสเซียพร้อมเปิดให้มีการอภิปรายเพิ่มเติมเพื่อหาจุดสนใจร่วมกันที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับภูมิภาค”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงข้อมูล ‘รูปแบบกายภาพ’ เป็น ‘รูปแบบดิจิตอล’ และความมั่นคงด้านอาหาร โดยสามารถเสนอโครงการและความคิดริเริ่มร่วมกันที่เป็นไปได้ในวงกว้างให้เกิดขึ้น”
การประชุม
คณะกรรมาธิการร่วมไทย-รัสเซีย
ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีครั้งที่ 8
“เราทราบว่า งานของคณะกรรมาธิการร่วมไทย-รัสเซียว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคียังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อปีที่แล้ว มีการประชุมคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ในเดือนตุลาคม) ความร่วมมือด้านการเกษตรกรรม (ในเดือนธันวาคม) และคณะทำงานด้านความร่วมมือในด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ (ในเดือนตุลาคม)”
“การประชุมคณะทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Commission) และกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยได้จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านพลังงานครั้งต่อไป (ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2021) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา”
“ซึ่งอาจมีการประชุมของหน่วยงานด้านทวิภาคี (Joint Commission on Bilateral Cooperation) ในเรื่องอื่นๆ ด้วย”
ความร่วมมือในด้านวัคซีน
ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19
“ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันที่เกี่ยวข้องของรัสเซีย (ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก) ได้มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยในการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ตัวอย่าง ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมงานของ Rospotrebnadzor (Federal Service for Supervision of Consumers Protection and Human Well-being of Russia) ร่วมกับกรมควบคุมโรคของประเทศไทยได้ตกลงกันที่จะเริ่มการเจรจาเพื่อจัดหาชุดทดสอบโควิด-19 จากประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นระบบที่สามารถค้นหาสายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“เรายินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่จะรวม ‘สปุตนิกวี’ (Sputnik V) ไว้ในรายชื่อวัคซีนที่ได้รับการรับรองสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากแผน ‘แซนด์บ็อกซ์’ (sandbox) ในบางพื้นที่ของประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ขั้นตอนนี้ยืนยันตามแนวทางที่สร้างสรรค์ของฝ่ายไทยในการเอาชนะข้อจำกัดหลายประการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้ฟื้นคืนกลับมา”
“เมื่อพูดถึงการจัดหาวัคซีน ‘สปุตนิกวี’ และ ‘สปุตนิกไลต์’ (Sputnik Light) นั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการลงทะเบียนในองค์การอาหารและยา หลังจากขั้นตอนนี้เสร็จสิ้น เราจึงจะสามารถหารือเกี่ยวกับข้อกำหนดและปริมาณการจัดหา”
“ส่วนการเจรจาระหว่างกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติรัสเซีย (RDIF) และพันธมิตรในท้องถิ่นก็กำลังดำเนินการอยู่”
ความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์หลังโควิด-19
ท่านทูตเยฟกินี โทมิคิน กล่าวว่า
“จากการที่เรามีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์อันแน่นแฟ้น มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน จึงช่วยให้เราสามารถพูดคุยกันได้อย่างมั่นใจในเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในเกือบทุกด้านโดยมุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งสองประเทศ”
“ผมยังมั่นใจด้วยว่า เราจะเอาชนะวิกฤตโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน ความร่วมมือระหว่างกันจะช่วยทำให้เราทั้งสองประเทศก้าวไปสู่ความทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการเปิดโอกาสใหม่ๆ”
“ทั้งสองฝ่ายจะยังคงรักษาการติดต่อสื่อสารกันทั้งด้วยตัวเองและทางออนไลน์ โดยอัพเดตวาระการสนทนาให้มีความหลากหลายและอย่างต่อเนื่องตามผลประโยชน์และความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี ตลอดจนการคำนึงถึงความท้าทายและภัยคุกคามรูปแบบใหม่”
ประวัติ นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย 1966 : เกิด 1989 : สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเลนินกราด Leningrad (Saint Petersburg) State University 1990 : เริ่มปฏิบัติงานด้านการทูต กระทรวงต่างประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย 2007-2009 : รองอธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงต่างประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย 2009-2016 : อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศจีน 2016-2018 : เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษ ประจำกระทรวงต่างประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ค.ศ.2018-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย และผู้แทนถาวรคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ณ กรุงเทพฯ ภาษา : รัสเซีย จีน และอังกฤษ สถานภาพ : สมรส บุตรชายสามคน |