ปริศนาโบราณคดี : ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ศิลปินของเรา ศิลปินของโลก (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’

ศิลปินของเรา ศิลปินของโลก (จบ)

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ต้องทุ่มเทลมหายใจทั้งหมดของเขาเพื่อให้นักวรรณกรรมไทยได้เปิดโลกทัศน์แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกเรื่องราวทุกมิติชนิด “ครบเครื่องเรื่องวรรณกรรมไทย-เทศ” ตั้งแต่เก่าสุดยันใหม่สุด ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจากบางมุมในท้องนาเล็กๆ อันทุรกันดารของประเทศไทย ไปจนถึงรางวัลใหญ่ๆ ระดับชาติ ระดับเอเชีย และระดับโลก

บางท่านอาจย้อนว่า ก็ถูกต้องแล้วนี่ มันเป็นอาชีพของเขา เขาเลือกจะทำงานแบบนี้เอง มันก็ต้องหนักและเหนื่อยกว่าคนอื่น

ถามว่า พี่สุชาติมีทางเลือกอื่นไหมในการดำรงชีพ แน่นอนว่าเขามิใช่คนสิ้นไร้ไม้ตรอก เขาจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความรู้ความสามารถคับแก้ว เป็นคนอินเตอร์ก้าวข้ามพรมแดนแห่งความเป็น national ไปตั้งนานนมแล้วด้วยซ้ำ เขามีความคิดอ่านแบบสากลมาตั้งแต่วัย 20 ต้น

เขาสามารถเลือกทำงานเป็นข้าราชการ องค์การระหว่างประเทศ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือทำงานในบริษัทเอกชนแห่งไหนก็ได้

หากเขาเลือกทางเดินเฉกเช่นคนอื่นๆ ขอถามว่า “ใคร” จะมาแบกรับภารกิจด้านนี้ ในยุคสมัยหนึ่งที่เรายังไม่มีโลกออนไลน์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีแม้แต่อีเมล เมื่อผู้เสพงานวรรณกรรมยังโหยหา “ใครสักคน” มาช่วยไขปริศนาคาใจเรื่องสารพัดสารพันเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมไทย-เทศ

ขอถามว่าใครจะมาแบกรับหน้าที่นี้ อาชีพที่ไม่มีเงินเดือน นี่คือคุณูปการอันใหญ่หลวงที่พี่สุชาติฝากไว้ให้แก่โลก ดิฉันถือว่าเป็นภาระอันหนักอึ้ง เสียยิ่งกว่าการที่คุณเกิดมาแล้วเป็นนักเขียน-นักแปลเก็บตัวเงียบๆ อย่างสงบ

ภาพจากนิตยสาร ฅ ฅน ฉบับเดือนกันยายน 2550

 

ในวัย 76 ปี (พี่สุชาติเกิด 24 มิถุนายน 2488) แทนที่พี่เขาควรจะมีความสุขกับการนอนอ่านหนังสือนับแสนเล่มที่หลายเล่มยังค้างอ่านไม่จบในเปลญวน หรือการได้ละเลงสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ (ซึ่งเข้าใจว่า ป่านนี้พื้นที่ของบ้านส่วนหนึ่งที่เคยมีแต่กองหนังสือ คงถูกเบียดบังแย่งชิงไปให้ภาพเขียนวางกองแทนที่อย่างมากแล้ว) ด้วยความหฤหรรษ์เปรมปรีดิ์

กลับยังต้องมาเป็นหัวหอก คอยโพสต์กระตุ้นเตือนสติฝ่ายเผด็จการ ยังต้องออกมาเย้วๆ ชูสามนิ้วต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียม ประชาธิปไตยเต็มใบ ร่วมกับคนหนุ่ม-สาวรุ่นลูกคราวหลานอยู่อีก

สังคมไทยมันวิปริตใช่หรือไม่ ไฉนยิ่งนานวันยิ่งถอยหลังเข้าคลอง

ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนเดือนตุลาอย่างพี่สุชาติ ที่เคยแบก “วรรณกรรมบาดแผล” ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 6 ตุลา ไว้บนบ่าทั้งสองข้าง ด้วยการสานต่ออุดมการณ์จากรุ่นนายผี ศรีบูรพา จิตร ภูมิศักดิ์ มาอย่างยาวนาน

ณ วันนี้ยังไม่ได้พักได้ผ่อน ยังต้องลุกขึ้นมาใช้กาพยาวุธประกาศก้องตะโกนหาอิสรีย์ แทบจะเป็นศิลปินแถวหน้าเพียงไม่กี่คนที่ยืนยันยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างไม่ยำเยงฟ้าดิน

นับแต่รัฐประหาร 2557 จวบจนปัจจุบัน พี่สุชาติไม่เคยหยุดนิ่งในการร่วมแสดงความเห็น โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความในหน้าเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้มีลักษณะหมิ่นเหม่อันใดเลย เขาเพียงตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยจึงกลายเป็นรัฐล้มเหลว

ประชาชนไม่มีที่พึ่งอีกแล้วหรือจากสามเสาหลักคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ?

ภาพจากนิตยสาร ฅ ฅน ฉบับเดือนกันยายน 2550

 

นอกจากจะไม่มีคำตอบในสายลม ในที่สุดพี่สุชาติเองกลับต้องตกเป็น “เหยื่อของอำนาจที่ไม่ชอบมาพากล” การปลดพี่สุชาติออกจากรางวัลหรือตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” นั้น นอกจากจะเป็นการลดทอนเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แล้ว ยังถือว่าเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” อีกด้วย

คือถือโอกาสเด็ดหัวลูกพี่ใหญ่ ที่เป็น “หัวหอก” แห่งโลกวรรณกรรมให้กระเด็นกระดอน ประมาณว่าจะไม่ให้มีที่อยู่ที่ยืนทางสังคมอีกต่อไป หมายใจว่าจะเป็นการ “ปราม” ศิลปินแห่งชาติคนอื่นๆ ไปในตัวว่าอย่าแตกแถว อย่านอกลู่นอกทาง ไม่งั้นคุณอาจจะโดนหวดด้วยไม้เรียวอีกคน

นอกจากนี้ ยังเท่ากับเป็นการส่งสารไปถึงนักเขียน ศิลปินทุกคนที่กำลังรวบรวมเสนอผลงานรอการพิจารณารางวัลใดๆ อยู่ก็ตาม ต้องทำตัวให้เรียบร้อยเป็นเด็กดี อย่าอืออย่าหือ ไม่งั้นอาจถูกเขี่ยตกตั้งแต่รอบแรก

ในอดีตราวปี 2553 นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งเคยมีการประชดประชันรางวัล SEA-WRITE ที่เชื่อกันว่ามีการเล่นเส้นเล่นสาย ด้วยการตั้งรางวัล FREE-WRITE ขึ้นมาประกบ แม้เงินรางวัลมีเพียงน้อยนิด และกติกาก็ง่ายๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน

แต่อย่างน้อยที่สุด รางวัลนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของคนวรรณกรรมกลุ่มหนึ่งว่าต้องการช่วยเปิดพื้นที่ให้แก่นักเขียน กวี ผู้มีหัวใจประชาธิปไตยได้แสดงทรรศนะอย่างเสรี โดยไม่จำเป็นต้องก้มหัวต่ออำนาจเผด็จการ

แม้พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถูกถอดถอนออกจากความเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ไปแล้ว ทว่า กระแสกองเชียร์ของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ ต่างพร้อมใจกันมอบรางวัลนี้ให้แด่เขา…

“ศิลปินแห่งราษฎร” คนแรกประจำปีพุทธศักราช 2564

ภาพจากนิตยสาร ฅ ฅน ฉบับเดือนกันยายน 2550