ของดีมีอยู่ : ความทรงจำถึง “แมนนี่ ปาเกียว” / ปราปต์ บุนปาน

ภาพโดย Jobelle Macayan

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

“แมนนี่ ปาเกียว” ยอดมวยระดับโลกชาวฟิลิปปินส์ เพิ่งจะประกาศแขวนนวมอย่างเป็นทางการ เพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

เมื่อเอ่ยชื่อปาเกียว เชื่อว่าคนไทยคงมีเรื่องเล่า-ความทรงจำเกี่ยวกับเขากันเยอะแยะมากมาย

ส่วนหนึ่งเพราะมวยสากลคือกีฬายอดนิยม (ในอดีต?) ของสังคมไทย ขณะเดียวกัน ปาเกียวยังเป็นนักมวยของประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มต้นประสบความสำเร็จทางวิชาชีพ จากการเดินทางเข้ามาค้ากำปั้นในประเทศไทย

เหตุผลข้อหลังนี่แหละที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตนเองเคยมี “ความทรงจำ-ประสบการณ์ร่วมกัน” กับ “แมนนี่ ปาเกียว”

กล่าวคือ ดูเหมือนคนไทยจะพากัน “จดจำ” ขึ้นใจว่าตนเองคือสักขีพยานลำดับต้นๆ ผู้ได้มองเห็นย่างก้าวอันยิ่งใหญ่ก้าวแรกของยอดนักชกชาวฟิลิปปินส์

“ความทรงจำ” เช่นนั้น วางพื้นฐานอยู่บน “ความเชื่อ” ที่ว่าคนไทยจำนวนมากได้นั่งชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันชกมวยสากลระหว่าง “ฉัตรชัย สาสะกุล” แชมป์โลกรุ่นฟลายเวต สภามวยโลก กับ “แมนนี่ ปาเกียว” ผู้ท้าชิงวัยไม่ถึง 20 ปี จากฟิลิปปินส์ ณ สังเวียนชั่วคราวในมหาวิทยาลัยทองสุข

ซึ่งผลการแข่งขันก็ลงเอยด้วยการที่ปาเกียวสามารถพลิกล็อกเอาชนะน็อกแชมเปี้ยนโลกชาวไทยไปได้ในยกที่ 8

นี่คือเข็มขัดแชมป์โลกเส้นแรกของปาเกียว ก่อนที่เขาจะมีสถานภาพเป็น “แชมเปี้ยนโลก 8 รุ่น” ในเวลาต่อมา

 

เหตุการณ์การฟาดหมัดระหว่างฉัตรชัยกับปาเกียวนั้นเกิดขึ้นในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2541 (ค.ศ.1998)

วัน-เวลาดังกล่าวนี่เองที่นำมาสู่ปริศนาอีกข้อหนึ่ง

ปริศนาหรือปัญหาข้อนั้น ก็คือ คนไทย (หรือแฟนกีฬาไทย) จำนวนมาก ได้รับชมการถ่ายทอดสดมวยโลกคู่ “ฉัตรชัย-ปาเกียว” กันจริงๆ หรือ?

คำถามในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาจากบริบทที่ว่า ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทยกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 พอดิบพอดี

และเมื่อเวลา 15.30 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม 2541 (ซึ่งฉัตรชัยและปาเกียวกำลังจะขึ้นเวที) ก็มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชายรอบแรกระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติโอมาน จากสนามศุภชลาศัย

ผลปรากฏว่า นักเตะไทยที่คุมทีมโดยโค้ชชาวอังกฤษ “ปีเตอร์ วิธ” เอาชนะคู่แข่งจากตะวันออกกลางไป 2-0 ก่อนจะทะลุเข้าถึงรอบสี่ทีมสุดท้ายในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนั้น

ผมตั้งสมมุติฐานว่า ถ้านำข้อมูลเรตติ้งการชมโทรทัศน์ของคนไทยในช่วงบ่ายวันที่ 4 ธันวาคม 2541 มาโชว์กันให้เห็น การถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์น่าจะได้รับความนิยมสูงกว่าโปรแกรมการถ่ายทอดสดมวยสากลชิงแชมป์โลก

ประการหนึ่ง เป็นเพราะว่าการถ่ายทอดสดมวยสากลตอนช่วงบ่ายๆ วันธรรมดานั้นเกิดขึ้นมากมายแบบถี่ยิบในยุคสมัยนั้น มีทั้งการชิงแชมป์ของ “สถาบันหลัก” และการชิงแชมป์ของ “สถาบันรองๆ” ที่เข้ามาทำตลาดหาเงินแถบบ้านเรา

ประการต่อมา แม้ฉัตรชัยจะถือเป็นแชมเปี้ยนสถาบันหลักที่แย่งเข็มขัดมาได้จาก “ยูริ อาร์บาชาคอฟ” ยอดมวยชาวรัสเซียที่ไปปักหลักค้ากำปั้นในประเทศญี่ปุ่น แต่พอคู่ท้าชิงของเขาคือนักมวยฟิลิปปินส์ ซึ่งมักถูกแฟนมวยชาวไทยปรามาสว่าเป็นเพียง “มวยส้วม” ซึ่งเตรียมตัวมาถูกน็อกคาเวที

คนดูจึงมีแนวโน้มจะกดรีโมตเปลี่ยนช่องไปลุ้นบอลไทยกันเยอะกว่า

 

จากประสบการณ์และความทรงจำส่วนตัว ช่วงบ่ายสองโมงกว่าๆ ของวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541 ผมกำลังนั่งดูโทรทัศน์อยู่ในบ้าน

เริ่มต้นด้วยการชมมวยคู่ประกอบรายการก่อน “ฉัตรชัย-ปาเกียว” จะขึ้นเวทีเป็นคู่เอก แต่พอได้เวลาฟุตบอล “ไทย-โอมาน” แข่งกัน ผมก็เปลี่ยนช่องไปดูบอลเอเชี่ยนเกมส์ โดยที่มวยคู่ชิงแชมป์โลกยังไม่ทันขึ้นชก

ผมเชียร์บอลเพลินแบบลืมเวลา จนเมื่อนึกขึ้นได้ว่าตนเองลืมดูฉัตรชัยชกป้องกันแชมป์ไปเกือบสนิท จึงรีบกดรีโมตกลับไปยังช่องมวย (น่าจะช่อง 7) เพื่อจะพบว่าการถ่ายทอดสดมวยโลกคู่ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงเรียบร้อยแล้ว

ตกเย็นวันนั้น ผมยังหลงคิดว่าฉัตรชัยคงสามารถป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกเอาไว้ได้โดยปราศจากปัญหาใดๆ กระทั่งเมื่อมาดูข่าวกีฬาหลังสองทุ่ม ถึงเพิ่งทราบว่าแชมเปี้ยนชาวไทยโดนคู่ท้าชิงชื่อ “ปาเกียว” น็อกในยกที่ 8!

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยน่าจะมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน คือ พวกเราไม่ทันได้เห็นวินาทีที่ “แมนนี่ ปาเกียว” เอาชนะน็อก “ฉัตรชัย สาสะกุล” แบบสดๆ

ทว่าเพิ่งจะมาเห็นภาพดังกล่าวในข่าวกีฬาหลังจากนั้น หรือในคลิปยูทูบ ณ อีก 1-2 ทศวรรษถัดมา