ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
‘กลิ่น’
…ผมไม่ค่อยรู้จักต้นไม้ในป่า จะว่าไม่สนใจก็ดูเหมือนไม่ตรงกับความจริงนัก รู้เพียงกว้างๆ ว่า บริเวณนั้นๆ เรียกว่าเป็นป่าประเภทไหน ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ หรือไม่พลัดใบ
พันธุ์ไม้ในป่ามีมากมายเกินกว่าผมจะจดจำได้
แต่ก็เถอะ ถ้าเป็นใบไม้ หรือผักที่กินเป็นอาหาร หรือกินเพื่อเป็นยานั้น ผมพอคุ้นๆ บ้าง
เพื่อนร่วมทางหลายคน โดยเฉพาะคนซึ่งเป็น “คู่หู” อยู่ในป่าด้วยกันนานๆ ทำให้ผมรู้ว่า ใบไม้ส่วนใหญ่กินได้ แต่ต้องรู้ว่า กินอย่างไร
บางชนิดต้องกินตอนต้มหรือย่างแล้ว บางชนิดกินสดๆ
เรื่องนี้ สัตว์ป่าบางทีพวกมันกินผลไม้บางชนิดที่เป็นพิษ แต่พวกมันจะรู้ว่า ต้องไปกินลูกอะไรอีกเพื่อปรับให้สมดุล
อดิเทพ คู่หูชาวกะเหรี่ยง เตือนผมเสมอว่า อย่าคิดว่านกกินได้ ลิงกินได้ เราก็กินได้
บางอย่างพบเจอทั่วทุกพื้นที่ บางอย่างนานๆ จะได้กิน
และบางอย่าง แม้ว่าจะไม่ใช่พืชซึ่งมีต้นกำเนิดในป่า แต่เป็นพืชที่ผมรู้จัก จำได้ และใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้บ่อยๆ
นั่นคือพืชที่ถูกเรียกว่า สาบเสือ…
ผมไม่แน่ใจนักว่า ทำไมพืชชนิดนี้จึงได้รับชื่อนี้ อาจเพราะใบมีกลิ่นคล้ายกลิ่นกายเสือ
คุณสมบัติของใบสาบเสือ คือ นำมาขยี้ๆ ใส่น้ำสักหน่อย นำมาโปะแผล เพื่อห้ามเลือดได้ผล
คนในป่า แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หยุดเลือดด้วยใบสาบเสือเสมอ
ในความเป็นพืชต่างถิ่นผมไม่รู้ที่มาของต้นสาบเสือ แต่เคยใช้ประโยชน์ อีกสิ่งที่รู้คือ กลิ่นกายของเสือ ดูเหมือนจะห่างไกลจากคำว่า “สาบ”
ด้วยความโชคดี มีโอกาสได้เป็นลูกมือนักวิจัย ได้ใกล้ชิดกับเสือโคร่ง ผมไม่เคยได้กลิ่นซึ่งเรียกว่าสาบเสือ อีกนั่นแหละ เรื่องเล่าเกี่ยวกับเสือมีมากมาย ดูคล้ายเป็นเรื่องธรรมดา
“เรื่องเล่า” หลายเรื่องราวก็ห่างไกลจากความจริง…
ผมพบว่า กลิ่นเหม็นๆ หรือที่เมื่อคนได้กลิ่นจากเสือแล้ว เรียกว่าสาบเสือนั่น ไม่ใช่กลิ่นจริงๆ ของเสือ แต่มันคือกลิ่นซากเหยื่อที่เสือล่าได้ และกลิ่นนี้จะติดตัวเสือไม่นานนัก เพราะมันจะลงอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ไม่ก็นอนกลิ้งเกลือกกับพื้นหญ้า
ในการล่าจนกระทั่งประสบผลสำเร็จนั้นไม่ง่ายเลย เสือจึงใช้ซากอย่างคุ้มค่า ซากเก่าๆ นั้นมีกลิ่นสาบที่ติดตัวเสือ
กลิ่นนี้ ดูลึกลับ อันตราย แต่ไม่ใช่กลิ่นของเสือ…
โอกาสได้ใกล้ชิดเสือ คือช่วงเวลาที่มันหลับเพราะฤทธิ์ยาสลบ
นักวิจัยมีเวลาราว 45 นาทีในการทำงาน ตรวจดูสภาพร่างกาย ดูอวัยวะทุกส่วน หู ตา จมูก และฟัน ต่อด้วยการวัดขนาดเขี้ยว ความยาวลำตัว อุ้งตีน จนถึงการชั่งน้ำหนักตัว รวมทั้งใส่ปลอกคอวิทยุแบบสัญญาณผ่านดาวเทียม ซึ่งนักวิจัยจะสามารถติดตามความเป็นไปของเสือตัวนี้ได้
เมื่อทำทุกอย่างเสร็จ เสือจะถูกหามไปอยู่ในที่แดดไม่ส่อง ไกลจากด่าน บางครั้งต้องเอาผ้ายางมาขึงกันแดด กันฝน และนั่งเฝ้า รอเวลาให้เสือฟื้น
ช่วงเวลาก่อนเสือฟื้นต้องเฝ้าดูว่า เสือจะปลอดภัย เพราะมันยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ผมบอกบ่อยๆ ว่า ตอนที่เสือไม่รู้สึกตัว ช่วงเวลานี้แหละ ที่ผมถือโอกาสล่วงเกินสัมผัสตัวเสืออย่างใกล้ชิด โอบกอดลำตัวนุ่มๆ สูดกลิ่นตัว
ผมเขียนประโยคนี้บ่อยๆ เพื่อเตือนตัวเอง
ทำเช่นนี้ได้ เพียงแค่ก่อนเสือฟื้น ก่อนโลกแห่งความเป็นจริงระหว่างเสือกับคนจะกลับมา…
กลิ่นจริงๆ ของเสือ และผมได้กลิ่นเสมอ คือ กลิ่นฉี่ กลิ่นฉี่เสือเรารับได้ ขณะเดินไปตามด่าน อันเป็นคล้ายถนนที่สัตว์ป่าใช้สัญจร
การพ่นฉี่ คือการสื่อสารแบบหนึ่ง เสือใช้กลิ่นในการสื่อสารแทนการมองเห็น เสือโคร่งทั้งตัวผู้และตัวเมียใช้การพ่นฉี่เพื่อบอกอาณาเขต โดยเลือกพ่นใส่ต้นไม้ บางครั้งพุ่มไม้ ถ้าเป็นต้นไม้ เสือจะเลือกพ่นใส่ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่มีเปลือกขรุขระ ข้างทาง เหตุผลคือ ต้นใหญ่มองเห็นชัด อีกทั้งเปลือกขรุขระมีร่องลึกจะช่วยเก็บกลิ่นให้นานขึ้น
ถ้ามันพ่นใส่พุ่มไม้ คนสังเกตเห็นง่าย เพราะใบจะเปลี่ยนเป็นมีน้ำตาลลักษณะคล้ายรอยไหม้ เหมือนโดนความร้อน
ถ้าในช่วงฤดูฝน เสือจะพ่นฉี่ใส่ใต้ใบไม้มากกว่าด้านบน เพื่อเลี่ยงการโดนฝนชะ
ฉี่เสือมีกลิ่นเฉพาะ เดินผ่านกลิ่นจะโชยเข้าจมูก อดไม่ได้จะก้มลงไปดม สำหรับเสือต่างถิ่น ยังไม่มีอาณาเขตของตัวเอง นี่คือป้ายประกาศเตือนว่า ห้ามบุกรุก
เสือตัวเมียเช่นกัน เมื่อเธอพร้อมรับความสัมพันธ์ เธอจะใช้ฉี่บอกให้ตัวผู้รู้
ฉี่เสือ ไม่ใช่กลิ่นเหม็นๆ ว่าตามจริง มันหอมด้วยซ้ำ
เสือจะอยู่ได้เพราะมีเหยื่อก็จริง แต่ที่สำคัญกว่าคือ การล่าของมันต้องสำเร็จ ตอนที่ตามเสือเข้าไปดูบริเวณที่เราเรียกว่า เป็นพื้นที่สังหาร นั่นแหละจะได้กลิ่นสาบเหม็นๆ
หากซากมีอายุสักสองวัน กลิ่นจะเหม็นเน่า
ถ้าซากอายุเกินหนึ่งสัปดาห์ กลิ่นสาบสางจะโชยมา
เสือมีกลิ่นของมัน กลิ่นอันถูกเรียกว่า “สาบเสือ” ที่คนได้รับคือกลิ่นซาก “กลิ่น” อันเป็นงานที่มันทำ
ในความเป็นเสือ เพียงแค่กลิ่น พวกมันก็เคารพและรู้ได้ถึงความเข้มแข็ง ยอมรับสถานะของกันและกัน
เอาเข้าจริง ผมคงพูดไม่ได้หรอกว่ารู้จักเสือ
ที่ทำได้ คือ พูดถึงเสือในแบบที่ผมรู้จักและเข้าใจเท่านั้น…