สิ่งแวดล้อม : อนุรักษ์ ‘ดอยเชียงดาว’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ภาพจากเพจ เรารักดอยหลวงเชียงดาว - We love Doi Luang Chiang Dao / ภาพโดย ชัยณรงค์ พราหมณี

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

อนุรักษ์ ‘ดอยเชียงดาว’

 

องค์การยูเนสโก ขึ้นทะเบียนดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑลพิจารณาเห็นว่าดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์สัตว์ป่าและธรรมชาติสวยงาม

ดอยเชียงดาวตั้งอยู่ในพื้นที่ติดต่อระหว่าง อ.เชียงดาว กับ อ.เวียงแห จ.เชียงใหม่ มีจุดเด่นตรงเป็นภูเขาหินปูนทั้งลูกลักษณะเป็นรูปกรวยคว่ำ ยอดดอยสูงจากระดับน้ำทะเล 2,195 เมตร

สูงเป็นอันดับ 3 รองจากดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก

 

เว็บไซต์ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จ.เชียงใหม่ บรรยายว่า ผืนป่าเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ดอยเชียงดาวมีความชุ่มชื้นสูงที่สุด เมฆหมอกปกคลุมตลอดปี สังเกตได้จากพรรณไม้ต่างๆ ตามกิ่งก้าน ปกคลุมไปด้วย มอส เฟิร์น และพืชอิงอาศัยต่างๆ

ไม้ล้มลุกและพืชชั้นล่างพบแทรกอยู่ทั่วไปตามหลืบหิน อาทิ ข้าหลวงหลังลาย ชาหิน เทียนนกแก้ว แพรกหิน รองเท้านารีฝาหอย

ป่าสนเขา เป็นป่าที่ขึ้นบริเวณสันเขา สภาพของป่าสนเขามีพันธุ์ไม้ อาทิ สนสามใบ สนสองใบ พื้นดินถูกปกคลุมด้วยหญ้าแวง และมีไม้ต้นขึ้นทั่วไป ได้แก่ เลียงมัน สกุลปอขี้แฮด และกว้าว

ป่าเต็งรัง พรรณไม้เด่นในป่าเต็งรัง ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม

ป่าดิบแล้งกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่เป็นหุบและที่เนินเขา พันธุ์ไม้เด่น อาทิ ยางแดง ยางหมอก และปอขี้แฮด

ป่าเปิดระดับสูง ที่ระดับสูง 1,900 เมตร จะพบพืชเขตอบอุ่นหลายชนิด โดยเฉพาะไม้พุ่ม ที่พบมาก อาทิ พวงแก้วกุดั่น หรีดเชียงดาว เอื้องดิน กูดผา กุหลาบพันปีเชียงดาว และสุวรรณภา กล้วยไม้ดิน

 

จากการสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าบริเวณเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวพบว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 150 ชนิด จาก 84 สกุล ใน 27 วงศ์ เป็นสัตว์ป่าสงวน 2 ชนิด คือเลียงผาและกวางผา และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ ลิงภูเขา ลิงอ้ายเงี้ยะ เก้ง

สัตว์ปีก สำรวจพบ 383 ชนิด จาก 192 สกุล ใน 42 วงศ์ นกที่พบและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์หรืออยู่ในภาวะถูกคุกคาม อาทิ นกกก นกแก๊ก นกกางเขนดง นกตั้งล้อ นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนน้ำ นกขุนทอง ฯลฯ

สัตว์ที่หายากที่สุดซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ดอยเชียงดาวคือ ไก่ฟ้าหางลายขวาง

สัตว์เลื้อยคลาน สำรวจพบ 91 ชนิด จาก 57 สกุล ใน 15 วงศ์ ส่วนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สำรวจในพื้นที่พบในบริเวณแหล่งน้ำ ลำห้วย น้ำตก แอ่งน้ำ ซอกหิน ที่มีความชุ่มชื้น ได้แก่ สภาพป่าดงดิบที่สมบรูณ์ พบ 48 ชนิด จาก 27 สกุล ใน 7 วงศ์ และพบว่ามีสัตว์ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ กระท่าง กบ

ปลาน้ำจืด จากแหล่งน้ำพบ 25 ชนิด จาก 23 สกุล ใน 11 วงศ์ ชนิดที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลาจาด ปลาขี้ยอก ปลาแม่แปบ ปลาสร้อยเกล็ดถี่ ปลาตะเพียน ปลากด

แมลง แมลงที่หายากที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่พบ ได้แก่ ด้วงกว่างดาว ด้วงกว่างห้าเขา ด้วงคีมยีราฟ ผีเสื้อกลางคืนหางยาว ผีเสื้อถุงทอง ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ และผีเสื้อที่พบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว และคาดว่าอาจสูญพันธุ์แล้วคือ ผีเสื้อภูฐาน หรือผีเสื้อสมิงเชียงดาว

 

ถํ้าเชียงดาว เป็นอีกจุดเด่น มีลักษณะเป็นถ้ำหินปูน นักธรณีวิทยาประเมินว่าเป็นหินช่วงอายุประมาณ 250-300 ล้านปี โถงถ้ำเชื่อมต่อกัน 5 โถง ภายในถ้ำมีหินย้อย หินงอก

ภูมิอากาศของเทือกเขาดอยเชียงดาวเป็นแบบภาคพื้นทวีปหรือมรสุมเขตร้อนมีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้งชัดเจน ในฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในช่วงกลางเดือนธันวาคม ถึงกลางเดือนมกราคม 6.7 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอากาศเย็นและแห้ง

บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด บางปีอุณหภูมิจะลดลงต่ำสุดกว่า 0 องศาเซลเซียส ซึ่งปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งในตอนเช้า เป็นเกล็ดสีขาวตามยอดหญ้า หรือที่เรียกว่า “เหมยขาบ”

ดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นสถานที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา

การขึ้นทะเบียนของ “ยูเนสโก” แน่นอนว่าจะปลุกฝันให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปชื่นชมธรรมชาติของดอยเชียงดาวมากขึ้น

 

คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาให้สัมภาษณ์หลังการประกาศให้ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลว่า ดอยเชียงดาวเป็นต้นแบบการทำงานที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วัฒนธรรม แนวคิด เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ในระดับประเทศและสากลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ และ จ.เชียงใหม่

คุณวราวุธบอกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ พัฒนากลไกในพื้นที่ด้วยรูปแบบคนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน

“หลังจากนี้จะร่วมกับเครือข่ายให้มีผู้จัดการพื้นที่โดยตรงและประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ มีคณะอนุกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑลในพื้นที่ จัดทำแผนบริหารจัดการในการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่”

คุณวราวุธบอกกับสื่อไว้อย่างนั้น

 

การส่งเสริมพัฒนาให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน อย่างที่คุณวราวุธให้สัมภาษณ์นั้นจะเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากของไทยที่มีสภาพเละตุ้มเป๊ะเพราะขาดการวางแผนป้องกันและระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างชัดๆ ก็คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก เพราะมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก แต่เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ ปลุกกระแสการท่องเที่ยว ส่งเสริมทำเกษตรกรรม ปรากฏว่าสภาพพื้นที่โดยรอบเขาใหญ่ถูกบุกรุกทำลายอย่างไม่บันยะบันยัง

ตั้งแต่ทำข่าวเมื่อ 30 ปีก่อนกระทั่งวันนี้เข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ข่าวการบุกรุกทำลายป่าเขาใหญ่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แทบทุกปีเมื่อเดินทางไปพักเขาใหญ่เห็นสภาพสองข้างทางเปลี่ยนแปลงตลอด เป็นการเปลี่ยนแปลงไร้ทิศทาง บ้านเรือน โรงแรม รีสอร์ตปลูกสร้างกันตามใจชอบ ชุมชนผุดขึ้นไร้ระเบียบ ขยะเกลื่อนกลาด และน้ำเน่าเสียในลำคลอง

ทิศทางอนาคตดอยเชียงดาวไม่น่าจะมีสภาพต่างไปจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ถ้าการดูแลอนุรักษ์ล้มเหลวการพัฒนาที่ไม่ไปสู่จุดความสมดุลและยั่งยืน