ธุรกิจพอดีคำ : “ชู้รัก เรือล่ม”

ย้อนไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

ผมยังจำได้แม่นครับ

ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ ม.3 ขึ้น ม.4

ผมในตอนนั้นใส่ชุดนักเรียน อัสสัมชัญ บางรัก กางเกงน้ำเงิน รองเท้านักเรียน หนังขัดมัน

แต่ทว่า สถานที่ที่ผมยืนรออย่างใจจดใจจ่อนั้น

กลับเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ครับ

ใช่ครับ วันนี้คือวันประกาศผลสอบเข้าระดับชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ผมไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันนี้ การประกาศผลสอบทำนองนี้ ทำผ่านคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ กันหมดแล้วหรือยัง

สมัยนั้น ช่วงเวลาคลาสสิคที่ตื่นเต้นมากๆ ก็คือ เวลาเช้าตรู่ ที่เราเดินไปที่ “กระดาน” ในโรงยิม

ภาพกระดาษสีขาวๆ ที่แปะอยู่ มีรายชื่อของนักเรียนที่สอบผ่าน ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนอย่างภาคภูมิ หลังจากการสอบแข่งขันนั้น ช่างเป็นช่วงเวลาที่ผมเชื่อว่า คนหลายๆ คน หวนนึกถึงครั้งใด

ภาพก็น่าจะยังคง “ชัดเจน”

รายชื่อของผม “ด.ช.กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” ปรากฏขึ้นบน “กระดาน” นั้น

ผมสอบติดโรงเรียนเตรียมอุดม กำลังได้ย้ายมาในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งนี้

ตื่นเต้นครับ จึงต้องให้รางวัลกับตัวเอง ให้สาสมสักหน่อย

จำได้ว่า ผมกับเพื่อนอีกสิบกว่าคน ไป “ดูหนัง” กันครับ

เรื่อง “ไททานิก” เรือยักษ์ที่ นายแจ๊ก กับ สาวโรส สร้างชื่อเสียงไว้

ระดับ “รางวัลออสการ์” เชียวนะครับ

“ไททานิก” เรือยักษ์ ที่ไม่มีทางล่ม

สุดท้ายก็ต้องกลับล่ม เมื่อเจอ “ภูเขาน้ำแข็ง”

คำถามที่ผมยัง “สงสัย” มาจนทุกวันนี้

เรือลำก็ใหญ่ มีคนตั้งมากมาย

ไม่มีใครเห็นเจ้าภูเขาน้ำแข็งนี้ก่อนเลยหรืออย่างไร?

บริษัท General Electrics ก่อตั้งโดย โทมัส อัลวา เอดิสัน อัจฉริยะผู้ผลิตหลอดไฟดวงแรกของโลก

บริษัทนี้ อายุ 100 กว่าปีแล้ว ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกบริษัทหนึ่งทีเดียว

ปัจจุบัน ไม่ขายหลอดไฟแล้ว

แต่ขายเครื่องยนต์ เครื่องบินเจ๊ต และอุปกรณ์การแพทย์ล้ำๆ แทน

เป็นแนวเครื่องจักรไฮเทค ที่มีมูลค่าสูง จากเทคโนโลยีที่ตัวเองสร้างขึ้น

ปี 2009 เจฟ อิมเมลต์ (Jeff Immelt) CEO ของ GE คนปัจจุบัน เกิดรู้ตัวขึ้นมา

ด้วยยุคสมัย “ดิจิตอล” ที่กำลังจะมาถึง

GE จะต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัท “ซอฟต์แวร์” แทนการขาย “เครื่องจักร”

จะทำได้หรือไม่ เขาไม่รู้

แต่เขาตั้งเป้าหมายให้กับลูกน้องทั้งบริษัทว่า GE จะต้องเป็นบริษัท “ซอฟต์แวร์” ที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในปี 2020

เขามุ่งหน้าตั้งหน่วยงาน GE Software ขึ้นมา สร้างทีมภายในที่ “แข็งแกร่ง” ตั้งแต่ปี 2011

เวลาผ่านไปหลายปี ผลกลับว่าบริษัทยังไปได้ไม่ไกลนัก ด้วยวัฒนธรรมองค์กร ความใหญ่ของ GE ทำให้ทุกอย่างดูมีอุปสรรคไปเสียหมด

ทำอะไรที่ “แตกต่าง” ไปจากของเดิม ก็จะมี “ผู้รู้” คอยแนะเสมอ

ลงเอยคือ “ไม่มีอะไรเสร็จ” เท่าที่ควร

ปี2014 บริษัท GE ตั้งบริษัทลูก เพื่อลงทุนในรูปแบบ Venture Capital ขึ้นมา

ตั้งชื่อว่า GE Venture เอาไว้ลงทุนในบริษัท Start-Up ทางด้าน software เป็นหลัก

GE ไม่ได้เริ่มทำทุกอย่างเองเหมือนเดิม

แต่เลือกที่ลงทุนกับ “เทคโนโลยี” ภายนอกบริษัท

กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เรียนรู้กันไป

อันไหนดี ก็ให้เงินเพิ่ม อันไหนไม่ดี ก็หยุดใส่เงิน

GE เริ่มลงทุนในบริษัทที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

จนสามารถรวมๆ กันตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อว่า GE Digital ทำเกี่ยวกับเรื่อง Software ล้วนๆ

ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ของ GE มีมูลค่าถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นที่เรียบร้อย

และคาดว่าขนาดของธุรกิจนี้จะใหญ่ขึ้นถึงหนึ่งหมื่นห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020

ซึ่งจะทำให้ GE ติดอันดับบริษัท Software ที่ใหญ่ติดอันดับโลก ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้

การสร้าง “นวัตกรรม” นั้น ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเองจาก “ศูนย์” เสียทุกเรื่อง

Venture Capital เองก็เป็น “ทางออก” หนึ่งในการเร่งการสร้าง “นวัตกรรม” ในองค์กรได้

หาก “เข้าใจ” และ “ทำเป็น”

องค์กรใหญ่ ก็เปรียบเสมือน “เรือยักษ์” ล่องไปในมหาสมุทร

บนเรือลำนี้ มีคนมากมาย มีผู้มีประสบการณ์ในการเดินเรือ มีทรัพย์สินเงินทอง มีระบบ ระเบียบ ที่จะปกครองคนบนเรือ ให้สามารถเดินทางล่องข้ามมหาสมุทรไปได้ตลอดรอดฝั่ง

แม้มันอาจจะไม่ได้แล่นเร็วมาก แต่ก็แล่นด้วยความ “มั่นคง”

หากแต่วันนี้ โลกธุรกิจที่อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน

เรากำลังต่อสู่กับ “อะไรก็ไม่รู้” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ก็เปรียบเสมือนกับ “หมอก” ที่ลงจัด พร้อมกับ “ฟ้า” ในคืนเดือนมืด ไร้ซึ่งแสงจากดวงจันทร์

“วิสัยทัศน์” ด้านหน้าลำเรือนั้น เอาแน่เอานอนไม่ได้

จะดีมั้ย ถ้าเราจะปล่อย “เรือเล็ก” ลำหนึ่ง ออกไปจาก “เรือแม่”

เรือลำนี้ ลำเล็ก ไม่สามารถใส่คนลงไปเยอะได้

ไม่ต้องการทรัพย์สินเงินทอง หรือเสบียงอะไรมากมาย

หน้าที่คือ แล่นไปดูข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ไปดูซิว่า ด้านหน้า ภายใน “หมอก” นั้น มีอะไรอยู่กันแน่

ด้านหนึ่งอาจจะเป็น “ภูเขาน้ำแข็ง”

อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็น “เกาะมหาสมบัติ”

เห็นแล้ว รู้แล้ว ก็ส่งข่าวกลับมาบอก “เรือแม่” ให้หันหัวเรือไปใน “ทิศทาง” ที่ถูกต้อง

ไหวตัวทันก่อน ที่อะไรๆ มันจะสายเกินไป

หากเรื่อลำนี้ต้องไปเจอกับ “มรสุม” อับปางลง

ก็ไม่ได้ทำให้ “เรือแม่” เสียหายแต่อย่างใด

“เรือลำเล็ก” ก็เปรียบเสมือนการลงทุนแบบ “Venture Capital”

ลงทุนกับ “ของใหม่ๆ” ที่อาจจะสำเร็จหรือไม่ เราไม่อาจรู้

อย่างน้อยถ้า “ไม่สำเร็จ” ก็ไม่ใช่เงินมากมายอะไร ไม่ได้กระทบกับ “เรือแม่”

จะล่มลงกลางทางบ้าง ก็ไม่ทำให้ “เรือแม่” เสียหาย

แต่ถ้า “เรือเล็กนี้” ออกไปเจอ “เกาะมหาสมบัติ”

เรือแม่ ก็เหมือนได้ “แจ๊กพ็อต” เช่นกัน

ในโลกธุรกิจที่องค์กรกำลังต่อสู้กับ “อะไรก็ไม่รู้”

ความใหญ่ อาจจะเป็น “ต้นเหตุ” ให้องค์กร “ปรับตัว” ไม่ทัน

การมี “เรือเล็ก” สักลำ ช่วยคอยบอกทิศทาง ตรงนี้อย่ามานะ มันเป็น “ภูเขาน้ำแข็ง”

มาตรงนี้ดีกว่า เป็น “เกาะมหาสมบัติ”

ก็เป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ของการอยู่รอด

เรือ “ไททานิก” เองก็เช่นกัน