ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “โกฐจุฬาลัมพา”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “โกดจุลาลำพา”

หมายถึง สมุนไพร “โกฐจุฬาลัมพา”

คำว่าโกฐ ในที่นี้ใช้เป็น “ฐ” สะกด ซึ่งแปลว่า ยุ้ง ฉาง คลัง และเครื่องยาต่างๆ กร่อนมาจากคำว่า “โกฏฐ” หากสะกดด้วย “ศ” แปลว่า ถัง เหยือก ถ้วย หีบ หรือโลง จึงหมายถึงที่ใส่ศพสำหรับเจ้านายด้วย หากสะกดด้วย “ษ” แปลว่า โลก (ใช้ในกลอน)

โกฐจุฬาลัมพา หมายถึง เครื่องยาที่ได้จากพืชชนิดหนึ่ง ชื่อ Artemisia annua L. ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACESE หรือ COMPOSITAE) มีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Wormwood

ในบ้านเรามีพืชสกุล Artemisia ซึ่งนับว่าเป็นญาติกันคือ A. lactiflora Wall. ex DC. และ A. roxburghiana Besser. ต้นแรกคือ ดอกแก้วเมืองจีน หรือดอกออมแก้ว หรืออีกชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ จิงจูฉ่ายที่ใส่ในต้มเลือดหมูนั่นเอง คนล้านนานอกจากใช้เป็นอาหารแล้วเรายังใช้ดอกแก้วเมืองจีนประดับบนยอดก๋วยในการถวายทานก๋วยสลากอีกด้วย เนื่องจากดอกแก้วเมืองจีนผลิดอกในช่วงนั้นพอดี ประกอบกับดอกมีสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ด้วย

อีกชนิดหนึ่ง คือ “หญ้าขี้ทูด” เป็นวัชพืชชอบขึ้นในพื้นที่รกร้าง ที่ที่ถูกถาง ใบมีกลิ่นฉุน ใช้ขยี้ดมแก้หน้ามืดตาลาย ทั้งต้นทุบแช่น้ำข้าวจ้าว ทาบริเวณที่ฟกช้ำ ระบม ปวด ช่วยบรรเทาอาการได้

รากใช้รักษาริดสีดวงโดยใช้ใบอังไฟแล้วนั่งทับ ช่วยบรรเทาอาการปวด

 

ลักษณะของโกฐจุฬาลัมพา โดยทั่วไปคล้ายคลึงกับพืชทั้งสองชนิดที่กล่าวมา คือ เป็นพืชล้มลุก อายุ 1 ปี สูงถึง 1.5 เมตร มีกลิ่นหอมฉุน

ใบเรียงสลับ แผ่นใบมีขอบหยักเว้าลึกตามเส้นใบ เป็นรูปขนนก 3 ชั้น

ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด มีช่อกระจุกย่อยสีขาวขนาดเล็ก (1.5-2.5 ม.ม.) จำนวนมาก

ผลแบบเม็ดทานตะวันขนาดเล็กมาก

ออกดอกและติดผลในช่วงปลายฝนต้นหนาว

ช่วงอายุที่มีสารสำคัญสูงสุดคือช่วงที่กำลังผลิดอก ก่อนดอกบาน

สรรพคุณทางยาของโกฐจุฬาลัมพา ทั้งต้นมีรสขม กลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็น ใช้แก้ร้อนใน ลดไข้ ทำให้เลือดเย็น แก้ร่างกายอ่อนแอ มีไข้กระสับกระส่าย ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย แก้ไข้เพื่อลดเสมหะ แก้หืด หอบ ไอ ช่วยขับเหงื่อ

ในตำรายาไทยใช้ทั้งต้นเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอม ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นท้อง 2 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร และยาหอมนวโกฐ

และใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้ไข้ บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู 2 ตำรับ ได้แก่ ตำรับยาจันทลีลา และยาแก้ห้าราก

 

ในพิกัดนั้น โกฐจุฬาลัมพา จัดอยู่ในพิกัดโกฐทั้งห้า (เบญจโกฐ), พิกัดโกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และพิกัดโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก และเป็นยาชูกำลัง

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญคือ เซสควิเทอร์พีนแล็กโตน (sesquiterpene lactone) ชื่อ ชิงเฮาซู (quinghaosu) หรือสารอาร์เทแอนนิวอิน (arteannuin) หรือสารอาร์เทมิซินิน (artemisinin) มีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย (ชนิดฟัลชิปารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (P. vivax) ) ฤทธิ์ลดไข้ และฤทธิ์ห้ามเลือด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท (acethylcholine) ในสมอง ฤทธิ์ระงับปวดในผู้ป่วยกระดูกและข้ออักเสบ

จากสรรพคุณและการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งฤทธิ์ลดไข้ ลดไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ หอบ ลดการอักเสบ จึงทำให้สมุนไพรโกฐจุฬาลัมพามีศักยภาพสถานที่อาจจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จากเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

 

ต้นหญ้าขี้ตู้ด ก่แม่นโกดจุลาลัมพาเน่อเจ้า

แปลว่า ต้นหญ้าขี้ทูดก็คือโกฐจุฬาลัมพานั่นเอง