มงกุฎ-ชฎา ‘ลิซ่า-จา พนม’ บนเส้นแบ่งพรมแดน ‘ชาตินิยม’/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

มงกุฎ-ชฎา

‘ลิซ่า-จา พนม’

บนเส้นแบ่งพรมแดน ‘ชาตินิยม’

 

บทสนทนาของฉันหนนั้นได้สร้างมุมมองต่อเจีย และเธอนั่นเองที่ถามฉันว่า “จริงหรือพี่ คนไทยไม่โกรธเรื่องนี้เหรอ?”

เจียบอกว่าประหลาดใจมากตอนนั้น เธอมาเมืองไทยและพบกับความหมายเชิงบวกขณะที่ม็อบบุกเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญอันเกิดจากประเด็นนครวัด

มิทันจะจางหายไปกับความบ้าคลั่งของเพื่อนร่วมชาติ เจียกลับตกใจต่อวุฒิภาวะทางความคิดของคนไทยในประเด็นอ่อนไหวว่าด้วยเรื่อง “คลั่งชาติ”

เธอยังต่อขานถึงการที่ฉันตีพิมพ์ผลงานอดีตผู้นำเขมรแดงซึ่งเจียยังชิงชังและไม่อาจให้อภัย

สมัยนั้น เรายังไม่มี “โลกสวย-บูลลี่” และวลีเจ็บช้ำน้ำใจในโซเชียลเช่นทุกวันนี้ แต่ครานั้น วุฒิภาวะในถูกกระทำของฝ่ายไทยก็ซื้อใจเขมรได้

เช่นวันนี้ วันที่ลลิษา มโนบาล หรือลิซ่า แบล็กพิงก์ กลายเป็นคู่มือคลั่งชาติ (ทางโซเซียล) ในไม่กี่นาทีนั้น MV ของลิซ่าได้เฆี่ยนตีความรู้สึกชาวเขมรบางกลุ่มด้วยเครื่องทรงอลังการ์ที่เธอสวมใส่มันอันมีมงกุฎ-ชฎา หรือแม้แต่บัลลังก์และฉากหลังอันจำลองจากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งไม่ว่าจะที่ไหนสำหรับสถาปัตย์แห่งยุคกลาง ทุกอย่างช่างเหมือน “นครวัด” ไปเสียหมด

และจากนั้น การระบายอารมณ์ในโลกเสมือนจริงก็เกิดขึ้นอย่างเหลืออด!

อื่นใด กว่าครึ่งศตวรรษมานี้ ตั้งแต่ “ปักษาสวรรค์” (2507) ถ่ายทำที่กัมพูชาและปราสาทหินนครวัด นั่นเองที่ภาพชุดนางรำอัปสราในเครื่องอลังการ์, ชฎา, ภูระย้าและเครื่องประดับเศียร

นับแต่นั้น ความสำคัญของท่ารำกรีดนิ้วที่เรียกว่า “กบัจ” ก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เพียงไม่กี่นาทีนั้น ความน่าตกตะลึงพรึงเพริดของภาพเคลื่อนไหวนั้น โดยมีไอดอลเจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี เป็นผู้ถ่ายทอดกริยาอันน่าตรึงตรา

ปักษาสวรรค์คือ “ไวรัล” ยุคอะนาล็อกที่กลายเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เขมร ที่ต่อมา ฉากอันน่าลุ่มหลงนี้ยังถูกผลิตซ้ำโดยพระบิดาเจ้าหญิงบุปผาเทวีคือกษัตริย์นโรดม สีหนุ

ชื่อเสียงของราชสำนักนโรดมกลายเป็นที่ประจักษ์ถึงอัตลักษณ์ศิลปะชั้นสูงและย้อนไปถึงยุคกลาง และโลกก็จดจำแล้วว่านี่คือทรัพย์สินทางปัญญาอันทรงค่าของเขมร มันยังขยายความหมายเชิงวัฒนธรรมอย่างรอบด้านต่อมาอย่างจริงใน 2 ทศวรรษหลัง

เพราะเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมนั้น เจ้าหญิงบุปผาเทวี ทรงผลักดันกระบวนอัปสรา ต่อองค์การยูเนสโก เพื่อรับรองความเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างประสบความสำเร็จ

และต่อมา การขึ้นทะเบียนท่ารำหรือ “กบัจ” การกรีดนิ้วที่มีความหมายของนางรำเขมรให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกครั้ง รวมทั้งอีกหลายชุดมิติวัฒนธรรมที่กัมพูชาผลักดัน

แลบางครั้งเช่นกรณี “โขน” ก็เป็นเรื่องราวใหญ่โต โต้กันไป-มา ราวกับเกมกีฬา

 

แต่แล้ว การเต้นเคป๊อปและเพลงแร็พไม่กี่คำในเอ็มวีโซโล่อัลบั้มของ “Lalisa” ที่ปล่อยออกมาเท่านั้น ปรากฏการณ์เคป๊อปในกัมพูชาก็เช่นกัน มันคือการตีความ

และจากนั้น ภาพลักษณ์อัปสราของเจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี ที่มีมาตลอดศตวรรษที่ 20 ได้ถูกเด็กสาวคนหนึ่งจากไทย-ลลิษา มโนบาล ทำลายมันด้วยกฎวิถีใหม่ พลัน การมาถึงของลลิษา มโนบาล ในอัตลักษณ์ในเครื่องทรงอัปสราเพียงไม่กี่นาทีของเพียงไม่กี่วินาทีนั้น

มันคือแว่บแรกที่ทำให้ทัศนะชาวโซเชียลเขมรไม่อาจยับยั้งใจ!

แต่เชื่อไหม แม้จะเกิดกันต่างเวลา ทั้งเจ้าหญิงบุปผาเทวีและลลิษา พวกเธอต่างรับการเจียระไนคุณค่าอันน่าหวงแหนนั้นมาจากชนชาติอื่นซึ่งไม่ใช่ทั้งเขมรและไทย!

ดังที่รู้ว่า บริษัทภาพยนตร์ฝรั่งเศสคือคนที่ปั้นนโรดม บุปผาเทวี ในกบัจอัปสราราวกับหลุดมาจากโลกสวรรค์

ส่วนวายจีเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก็ทำให้ลลิษาทรงพลัง

โดยแม้ว่าลิซ่าจะรำอัปสราไม่ได้ แต่ในชุดเครื่องทรงอลังการ์ตลอดจนมุมกล้องโปรดักชั่นนั้น มันกลับทำให้เห็นว่ากลวิธีเล่าเรื่องเท่านั้นที่ทำให้ศิลปะมีสาระต่างไป แต่แท้จริงแล้ว จะคลาสสิค-โมเดิร์น พวกเธอต่างมี “แก่น” เนื้อเดียวกัน

นั่นคือ “กบัจ” เคลื่อนไหวที่ทรงพลัง และนี่คือผลพวงอำนาจของวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม คุณค่าทั้งหมดนั้นจะไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ตอบสนองต่อความต้องการทางสังคม ยิ่งตลาดทุนนิยมยุคใหม่ ไม่เว้นแต่สินค้าวัฒนธรรม!

และไทยคือสินค้าตัวนั้นไม่เว้นว่าใครจะปั้น!

 

ก่อนหน้าปรากฏการณ์ลิซ่า แบล็กพิงก์ จะกลายเป็นกระแสไปทั่วนั้น 10 กว่าปีก่อน “จาพนม” แห่ง “องค์บาก” คือสิ่งที่ชาวเขมรจดจำและบ้างถึงกับเชื่อว่าคือตัวแทนชนชาติตน

ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อจา พนม, จาพนม ยีรัมย์, หรือโทนี่ จาฯ จา พนมในความหมายกัมพูชา พวกเขาคิดว่า คือฮีโร่แห่งศิลปะกบัจคุน-ศิลปะโบราณที่สาบสูญไปจากยุคกลาง-ศิลปะนครวัด

“กบัจคุน” เกือบจะเป็นทั้งหมดขององค์บากโดยเฉพาะภาค 2 และ 3 ที่ใส่อรรถรส “วรยุทธ์” การต่อสู้และนาฏศิลป์การรำซึ่งรวมกันเรียกว่า “นาฏยุทธ์” ที่น่าทึ่งทั้ง “กบัจอัปสรา” และ “กบัจคุน”

จา พนม เกิดบุรีรัมย์ถิ่นอีสานใต้ ใบหน้า สรีระและผิวพรรณของเขาคืออัตลักษณ์พิมพ์นิยมแบบชนเขมรในอดีตที่บรรพบุรุษเก่งกาจด้านการจับช้างและการรบที่เรียกว่า “กบัจคุนวิทยา” ศิลปะการต่อสู้เก่าแก่ด้วยมือเปล่าที่หายไป

แต่พลัน ในทุกเคลื่อนไหวของจา พนม ในหนัง มันกลับมาทำให้หนุ่ม-สาวกัมพูชาเลือดสูบฉีด และคิดว่า และเชื่อว่านักแสดงสัญชาติไทยรายนี้คือเขมรพลัดถิ่นผู้นำกบัจคุนกลับมาให้เป็นที่รู้จักอย่างพลัง

แต่ด้านหนึ่งในโลกของความจริง “จา พนม” ก็คือไทย

ดังนั้น การแสวงหากบัจคุนโดยครูท้องถิ่นที่โรยราจากระบอบเขมรแดง คือภารกิจยิ่งใหญ่ที่ทำให้การกลับมาของกบัจคุนกัมพูชาแพร่หลายออกไปในคนรุ่นหลัง

นี่ไม่ใช่เรื่องปัจเจกและพรสวรรค์ แต่เป็นชาติพันธุ์วิทยาที่ถ่ายทอดเป็นมรดกวัฒนธรรมตามที่ชาวเขมรเชื่อกัน และมีจา พนม ประดับไว้ในยุคนั้น

เขาจึงเป็นฮีโร่ของภาพลักษณ์แห่งการแสวงหาจิตวิญญาณที่สูญหายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

การตามหาจา พนม แบบเขมร จึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อแย่งชิงแบรนด์สินค้าดังที่เกิดขึ้นในวงการของหนังไทย แต่เป็นมูลค่าของเขมรวิทยา-อัตลักษณ์ที่ชาวกัมพูชามักคิดว่าตนเป็นฝ่ายถูกปล้นชิงอยู่เสมอ

และจอมโจรกรรมรายใหญ่ก็ไม่ใช่ใครอื่น คือไทยนี่แหละ!

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเด็นไทย-เขมรนับวันมีแต่ร้อนระอุใน “โซเชียล-ดราม่า” มาตลอด

แต่เชื่อไหม แต่หนนี้ ปรากฏการณ์ชฎาและฉากปราสาทหินใน “MV-Lalisa” ของลิซ่า แบล็กพิงก์ กลับฟาดทุกอย่างที่ต่างไปหลังโดนโจมตีฉากหลังและชฎา แต่ชาวเขมรรุ่นใหม่กลับพากันโต้แย้งและกล่าวหานักโจมตีวัฒนธรรมทางไซเบอร์ ว่านิยม “ล้าหลัง” ของกลุ่มอนุรักษนิยม

“มันน่าละอาย!” ในความพยายามอ้างทุกอย่างว่าเป็นเขมร! แทนการเปิดใจวัฒนธรรม “ร่วม” ที่มีอยู่ในชนชาติอื่นของภูมิภาคนี้

โอ ทัศนะที่น่าสะทกสะท้านและเกรงขามอย่างมากสำหรับ “รัฐอำนาจ”

และขอต้อนรับการก้าวผ่านพรมแดน “ชาตินิยม” ในยุวรุ่นกัมพูชา