จับตาสัญญาณใหม่/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

จับตาสัญญาณใหม่

 

หลังฝุ่นควันในศึกระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เริ่มจางลงไป สถานการณ์หลังการสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัสพร้อมกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีผ่านพ้นไป 2-3 สัปดาห์ ทำให้ยิ่งเห็นอะไรต่อมิอะไรชัดเจนมากขึ้น

โดยเห็นได้ว่า ป.ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่ง 3 ป. ได้พยายามกลบเกลื่อนรอยปริร้าวในหมู่ 3 ป. อย่างทุกวิถีทาง โดยยอมกลืนเลือดหลังอาการกระอักโลหิต ไม่ยอมให้เกิดภาพความขัดแย้งอย่างเด็ดขาด ต้องประคับประคองกอดคอกันไป จนกว่าจะสิ้นสุดอายุรัฐบาลปัจจุบัน

ถึงขั้นบิ๊กป้อมกล่าวกับนักข่าวว่า “จำไว้ ให้ตายจากกัน เรา 3 ป.ถึงจะเลิกรักกัน”

แต่หลายคนตีความว่า คงหมายถึงรักกันจนกว่าจะถึงวันหมดสิ้นรัฐบาลนี้แล้ว คงถึงเวลาต้องแยกย้ายกันแล้ว

จะให้รักกันเหมือนเดิมได้อย่างไร ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์สั่งปลด 2 รัฐมนตรีใกล้ชิด โดยไม่บอกกล่าวกับบิ๊กป้อมก่อน ปลดแล้วมาบอกทีหลัง ทั้งที่บิ๊กป้อมสั่ง ร.อ.ธรรมนัสให้ยอมหยุดแผนโหวตไม่วางใจนายกฯ ได้แล้ว ธรรมนัสยอมจบแล้ว แต่บิ๊กตู่กลับไม่ยอมจบ

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นประเด็นนี้อีกประการก็คือ เมื่อบิ๊กป้อมยังยืนยันให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐต่อไป แถมยังตั้ง “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มานั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค เพื่อเดินหน้าปรับโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ เลิกระบบมุ้งเล็กมุ้งน้อย

เป็นการยืนยันว่า พปชร.จะเป็นพรรคที่บิ๊กป้อมกับ ร.อ.ธรรมนัส จะร่วมกันเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อรับการเลือกตั้งในสมัยหน้า เพื่อโค่นพรรคเพื่อไทยให้ได้

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสเองก็วางจุดยืนคือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาล แต่จะมาทำงานสร้างพรรค พปชร.ให้เป็นพรรคมืออาชีพ ไม่ใช่แค่พรรคเฉพาะกิจ

เห็นทิศทางชัดเจนเช่นนี้ เห็นการวางบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัสเช่นนี้

คนที่ควรจะหนาวสะท้านก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้สั่งปลด ร.อ.ธรรมนัสพ้นจาก ครม.

เช่นนี้แล้วพรรค พปชร.ที่ ร.อ.ธรรมนัสจะร่วมกับบิ๊กป้อมและบิ๊กน้อยสร้างความแข็งแกร่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เขียนแปะข้างฝาเอาไว้ล่วงหน้าได้เลยว่า สมัยต่อไปพรรคพลังประชารัฐจะไม่ใส่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ในบัญชีผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ของพรรคนี้อีกต่อไปอย่างแน่นอน!

 

เมื่อไม่นานมานี้ นิด้าโพลได้สร้างความฮือฮาทางการเมือง ด้วยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยหัวคำถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมัยหน้า เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่เห็นด้วยเลย

ระบุเหตุผลอีกว่า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์บริหารงานล้มเหลว ขาดภาวะผู้นำ ไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้ ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ถึงเวลาที่ท่านควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว

นี่คือเสียงสะท้อนจากประชาชน ต่ออนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์

ไม่จำเป็นต้องผ่านนิด้าโพลเท่านั้น หากสำรวจเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยของชาวบ้านทั่วไป ในสถานการณ์ที่วัคซีนมาไม่เพียงพอหยุดการระบาดโควิด จึงทำให้การฟื้นเศรษฐกิจยิ่งล่าช้า กระทบต่อปากท้องประชาชนอย่างหนัก คนตกงานมากมาย หนี้สินพอกพูน

คนส่วนใหญ่อยู่ในอารมณ์ไม่พึงพอใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างกว้างขวาง

ยิ่งการแตกหักกับธรรมนัส แล้วธรรมนัสกลับมาตั้งหลักที่พลังประชารัฐ ก็เป็นอันชัดเจนว่าพรรคที่เคยเป็นฐานให้ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่เอาประยุทธ์แล้วอีกต่อไป

หากจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในการเมืองสมัยหน้า

ปฏิกิริยาของชาวบ้านที่แสดงผ่านโพลดังกล่าวก็คือ อย่าตั้งเลย เพราะที่ผ่านมาบริหารงานล้มเหลว แก้ปัญหาประเทศชาติไม่ได้

ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวชัดเจนว่า กำลังมีการเตรียมตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ผ่านเครือข่ายของมหาดไทย โดยมีข้าราชการระดับปลัดที่กำลังจะเกษียณในเดือนตุลาคมนี้ ทำหน้าที่เป็นคีย์แมนสำคัญในการตั้งพรรคใหม่

การเตรียมตั้งพรรคนี้มีมานานแล้ว รู้กันไปทั่วในหมู่กลไกราชการมหาดไทย เดิมทีวางเอาไว้ว่า จะมี 2 พรรคร่วมกับพลังประชารัฐ เพื่อเอาชนะเพื่อไทยให้ได้ในสมัยหน้า สนับสนุนอำนาจ 3 ป.ต่อไป

แต่หลังกรณีหักกับ ร.อ.ธรรมนัสแล้ว เชื่อว่าพลังประชารัฐจะเลิกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน การตั้งพรรคใหม่ยิ่งจำเป็น และคงจะเป็นพรรคที่เตรียมเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกในสมัยหน้า

เพียงแต่น่าคิดวิเคราะห์ว่า พรรคที่อยู่บนฐานกลไกราชการนั้น จะเป็นมืออาชีพเพียงพอสำหรับลงสู่สนามการเมืองจริงได้หรือไม่

ตั้งแล้วจะเกิดได้จริงหรือไม่

ประการต่อมา คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ที่สะบักสบอมจากสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจทรุดหนัก จะยิ่งทำให้พรรคใหม่ยากลำบากหรือไม่!?

 

เวลาของรัฐบาลปัจจุบันยังเหลืออีกเกือบ 2 ปี ปัญหาก็คือ จะอยู่ได้ครบวาระหรือไม่ เพราะสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจยังรุนแรงอยู่ หรือหากโรคระบาดซาลงไป น่าสงสัยว่าจะยิ่งเกิดปัญหาคนยากจนคนตกงานล้มหลาม เศรษฐกิจอาจไม่ฟื้นง่ายๆ จะยิ่งเป็นจุดลำบากของรัฐบาลประยุทธ์ได้มากขึ้น

เสียงในสภาเอง จะมั่นคงเหมือนยุคที่ ร.อ.ธรรมนัสยังเป็นตัวจักรสำคัญหรือไม่

อีกประการที่น่าห่วงมากๆ ก็คือ สถานการณ์การชุมนุมประท้วง เพราะคนรุ่นใหม่ปูพื้นมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว มาสะดุดเพราะโควิด แต่หากโรคระบาดเริ่มหายไปแล้ว ม็อบคนรุ่นใหม่ต้องกลับมาร้อนแรงอีกแน่นอน

แถมตอนนี้ม็อบเสื้อแดงภายใต้การนำของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เริ่มฟื้นคืนชีพคึกคักอย่างมากด้วย

จึงยังตอบได้ยากว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ครบวาระหรือไม่

แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ได้ครบวาระ หรือหากเลือกการยุบสภา แล้วเดินหน้าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ก็คือ สัมพันธ์ 3 ป.คงจะเหลือแค่ 2 ป. กับอีก 1 ป.

ที่แน่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพึ่งพิงพรรคการเมืองใหม่ ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐที่มี ร.อ.ธรรมนัสเป็นแม่ทัพ

พรรคใหม่จะตั้งแล้วโตเหมือนพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2562 หรือไม่ เพราะไม่ใช่ตั้งด้วยมืออาชีพทางการเมือง

อีกทั้งคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์เอง จะนำมาใช้ได้แค่ไหนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

จุดสำคัญที่สุด สิ่งที่แตกต่างไปอย่างมากกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็คือ การใช้ประเด็น “นายกฯ ที่กำหนดเอาไว้แล้ว” เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักการเมืองให้หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเครือข่าย และเป็นจุดที่ทำให้ 250 ส.ว.ไม่มีแตกแถวนั้น

กรณี ร.อ.ธรรมนัส เป็นการบ่งบอกว่า สัญญาณได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

เมื่อค้นหาคำตอบว่า ร.อ.ธรรมนัสกินดีหมีใจมังกรมาจากไหน ใครไฟเขียวให้เดินเครื่องในสภา โหวตเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมือง

ก็จะรู้ว่า สัญญาณเดิมๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้วแน่นอน

จะบอกว่าบิ๊กป้อมแอบไฟเขียวให้ ร.อ.ธรรมนัสนำ ส.ส.โหวตพลิกโฉมการเมือง ก็เป็นไปไม่ได้ แถมบิ๊กป้อมนั่นแหละเป็นคนติดเบรกธรรมนัสจนยอมหยุด

ยิ่งบอกว่าเป็นดีลทักษิณ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะ ร.อ.ธรรมนัสก็คือคนในเครือข่ายอำนาจนอกระบบ จะไปจับมือกับทักษิณได้อย่างไร

คือ การฆ่าตัวตายชัดๆ

ในแวดวงการเมืองระดับวงในรู้กันแล้วว่า กรณีธรรมนัสคือการส่งสัญญาณใหม่

สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ทั้งในการเมืองปัจจุบัน และการเมืองอนาคต!