ตุลารำลึก (1) สงครามที่ยังไม่จบ!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (1)

สงครามที่ยังไม่จบ!

 

“มือคู่นี้รี่ประคองผองประชา มือนิสิตนักศึกษาประดาไทย”

อุชเชนี (2500)

 

เหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เดินทางมาครบรอบ 45 ปี และในปีที่ 45 นี้ เรายังคงเห็นการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม

อันอาจกล่าวได้ว่าจิตวิญญาณการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนจะจางหายไปจากสังคมไทย ได้หวนกลับมาสู่เวทีการต่อสู้อีกครั้ง

จนอยากจะขอใช้โอกาสนี้รำลึกถึงการต่อสู้ของขบวนนิสิต-นักศึกษาจากปี 2516-2519 แม้ว่าสงครามของคนหนุ่ม-สาวแห่ง “ยุคตุลาชัย” ในสังคมไทยจบไปนานมากแล้ว

จนเรื่องราวเหล่านี้ในอดีตกลายเป็น “ตำนาน” ที่เล่าขานถึงชีวิตการต่อสู้และการสูญเสียในยุคแห่งการปฏิวัติ

ในที่สุดแล้วความน่ากลัวด้านความมั่นคงของรัฐไทยก็เกิดขึ้นจริง

เมื่อ “การปฏิวัติไทย” หรือสงครามปฏิวัติได้ก่อตัวขึ้นในรูปแบบของ “การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ” ในวันที่ 7 สิงหาคม 2508

และสงครามชุดนี้ดำเนินสืบเนื่องมา แม้ผู้นำทหารขณะนั้นเชื่อมั่นอย่างมากว่า ถ้าฝ่ายรัฐบาลทุ่มกำลังเข้าปราบปรามอย่างเต็มที่แล้ว การก่อความไม่สงบในชนบทน่าจะยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐในปีถัดมา

เพราะผู้ก่อความไม่สงบไม่มีกำลังรบขนาดใหญ่

ไม่มียุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก

ไม่มีปัจจัยทางทหารที่เหนือกว่า

จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะชนะ “รัฐไทย” ในสงครามเช่นนี้

แม้รัฐไทยมีทุกอย่างที่เหนือกว่า แต่แล้ว “สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์” กลับไม่ยุติลงอย่างรวดเร็วดังที่หวัง

หลังจากสงครามเริ่มอย่างไม่คาดคิดในปี 2508 ขยับสูงขึ้นในปี 2511 แล้วจึงขยายตัวไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย

จนกลายเป็นคำถามทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวว่า “ไทยจะก้าวเข้าสู่สงครามกลางเมืองหรือไม่?”

เพราะภาพของสงครามคู่ขนานคือ สงครามในอินโดจีน โดยเฉพาะในเวียดนาม

 

การลุกขึ้นสู้ในปี 2516

สถานการณ์สงครามภายในของไทยมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516…

ภูมิทัศน์การเมืองที่กรุงเทพฯ เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ พร้อมกับการเคลื่อนไหวของขบวนนิสิต-นักศึกษา

การเมืองไทยนับจากตุลาคม 2516 จึงเป็น “ยุคแห่งการเคลื่อนไหวของคนหนุ่ม-สาว” ที่ยืนอยู่บนความเชื่อที่สำคัญว่า “คนหนุ่ม-สาวจะเปลี่ยนแปลงโลก” ว่าที่จริงก็แทบไม่ต่างจากขบวนก่อนหน้านี้ในเวทีโลก เมื่อคนหนุ่ม-สาวในโลกตะวันตกเดินออกมาสู่การเรียกร้องบนท้องถนนในปี 2511 (ค.ศ.1968)

ภาพที่ไม่แตกต่างกันก็คือ พวกเขาต่างเรียกร้องถึง “การปฏิวัติ”… โลกก้าวสู่ยุคแห่ง “การปฏิวัติของคนหนุ่ม-สาว” แล้ว

แน่นอนว่าในความเป็นคนหนุ่ม-สาวของยุคสมัยจะต้องเป็น “ซ้าย” เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่มีทางเป็นฝ่ายขวาได้เลย

และอุดมการณ์แบบฝ่าย “ขวา” ก็ล้าหลังเกินกว่าที่นำเสนอขายให้แก่คนหนุ่ม-สาว

ความเป็นซ้ายจึงไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่ลัทธิเอาอย่าง แต่เกิดจากความฝันใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนสังคมไทย

แต่การขยายตัวของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในหมู่คนหนุ่ม-สาวได้กลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งในบริบทของยุคสงครามเย็นทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมือง

แต่แล้วสิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นในปี 2518 รัฐบาลนิยมตะวันตกในอินโดจีนล้มลงตามกัน…

“โดมิโนอินโดจีน” สามตัวล้มลงแล้ว ถ้าเช่นนั้น “โดมิโนตัวที่สี่” ที่กรุงเทพฯ จะล้มตามด้วยหรือไม่?

แน่นอนว่าคำถามเช่นนี้เป็นโจทย์ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่ออนาคตของไทยและของภูมิภาค

คำถามทางด้านความมั่นคงเช่นนี้ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยแว่นตาของฝ่ายขวา ขบวนนักศึกษาที่ “เอียงซ้าย” ย่อมเป็น “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง”

ดังนั้น ฝ่ายรัฐไทยจะต้องหาทางหยุดยั้งให้ได้ เพื่อไม่ให้ “โดมิโนไทย” ล้มตาม

ซึ่งในมุมมองของชนชั้นนำและผู้นำฝ่ายขวาแล้ว พวกเขาเชื่อว่าการใช้กำลังเข้าจัดการกับการขยายตัวของขบวนนักศึกษาในเมืองเป็นวิธีการแก้ปัญหาสงครามที่ดีที่สุด

การเปิดปฏิบัติการ “ล้อมปราบในเมือง” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรืออยากขอเรียกในแบบสำนวนไทยว่า “การปิดประตูตีแมว” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การเสียชีวิตของนักศึกษาและประชาชน และมีนิสิต-นักศึกษาถูกจับกุมในวันนั้นมากกว่า 3,000 คน

ซึ่งผลจากการปลุกระดมและการปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้าง “วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง” และตามมาด้วยการใส่ร้ายป้ายสีด้วย “วาทกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์” และการดำเนินการเช่นนี้จึงกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขอย่างดีสำหรับการ “สังหารหมู่” ที่ท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น

ในอีกด้านการสังหารและจับกุมในเดือนตุลาคม 2519 กลายเป็นแรงผลักดันในตัวเองที่ทำให้นิสิต-นักศึกษาตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตของคนหนุ่ม-สาวยุคนั้น ด้วยการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ป่าเขา เพื่อเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

แน่นอนว่า “การเข้าป่า” ไม่ใช่การไป “เที่ยวป่า” เพราะการเข้าป่าครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการเข้าร่วมสงครามที่ขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง”

การตัดสินใจเข้าสู่ฐานที่มั่นจึงเป็นการเปลี่ยนชีวิตตนเองจาก “นักศึกษา” ในห้องเรียนเป็น “นักปฏิวัติ” ในสงครามชนบทอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ทั้งหมดนี้ก็คือ ความใฝ่ฝันของคนหนุ่ม-สาวในยุคนั้น

สำหรับหลายคนแล้ว ความฝันนี้จะต้องแลกด้วยชีวิต เพราะกฎก็คือ สงครามไม่เคยปรานีใคร

ทหารจำนวนมากในแนวรบต้องเสียชีวิต พี่น้องในแนวหลังต้องเสียใจกับการจากไปของคนเหล่านั้น

และสำคัญที่สุด สงครามทิ้งบาดแผลใหญ่ไว้กับทุกฝ่ายในสังคมเสมอ

อีกทั้งสงครามมีความผันผวนในตัวเอง ผลของสงครามจึงไม่เคยผันแปรไปตามเจตนารมณ์ของผู้หนึ่งผู้ใด

เนื่องจากสงครามมีความเกี่ยวพันกับปัจจัยแวดล้อมที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมเสมอ

 

เมื่อสงครามพลิกกลับ

แม้สงครามปฏิวัติไทยจะไม่ใช่สงครามใหญ่ในตัวเอง แต่ก็มีความเกี่ยวโยงกับการเมืองโลกและการเมืองในภูมิภาคอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย

และไม่ใช่สงครามที่แยกเป็นเอกเทศว่า เป็นเพียงสงครามภายในของไทย

ฉะนั้น เมื่อทิศทางการเมืองภูมิภาคเปลี่ยนไป อันเป็นผลจาก “สงครามระหว่างพรรคพี่น้อง” ในอินโดจีนในต้นปี 2522 แล้ว สงครามปฏิวัติไทยก็เสมือนถูก “ติดกับ” ไปด้วย ไม่อาจขยับเขยื้อนได้มาก

แต่กลับมีอาการถดถอยไปตามเงื่อนไขใหม่ของสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค

ขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัจจัยบังคับให้ฝ่ายรัฐไทยเองต้องปรับตัวในทางยุทธศาสตร์

ดังนั้น สถานการณ์นับจากความขัดแย้งในอินโดจีนในปี 2522 แล้วคือ บททดสอบขีดความสามารถในการ “ปรับยุทธศาสตร์” ที่ต้องต่อสู้ระหว่าง “รัฐไทย vs พรรคไทย”

และการทดสอบนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายปฏิวัติ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนถึงสภาวะ “ป่าแตก” ที่เริ่มประมาณปี 2523 ด้วยการที่คนหนุ่ม-สาวที่เคยตัดสินใจครั้งสำคัญในการเข้าร่วมสงครามในชนบท ก็เริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าเมือง ทิ้งความเป็น “นักปฏิวัติ” ไว้เบื้องหลัง

และกลับมาลงทะเบียนเป็น “นักศึกษา” ใหม่ในห้องเรียนอีกครั้ง…

สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าคือ “สงครามชีวิต” ของแต่ละคน ไม่ใช่ “สงครามปฏิวัติ” อีกต่อไปแล้ว

และสำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้า พวกเขาต้องกลับมาทำ “สงครามในห้องสอบ” แทน “สงครามในชนบท”

ตอนเดินทางเข้าสู่ชนบทในปี 2519 อาจเรียกว่า จาก “เมืองสู่ป่า” แต่ในปี 2523 สถานการณ์สงครามพลิกกลับเป็นจาก “ป่าสู่เมือง” จนในที่สุดแล้วสงครามก็เดินทางสู่จุดสุดท้ายในเดือนตุลาคม 2526 รัฐบาลในขณะนั้นประกาศ “ชัยชนะสุดท้าย” ต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

แล้วสงครามปฏิวัติจบลงจริงๆ ยุทธศาสตร์เปลี่ยนจาก “ป่าล้อมเมือง” ในสงครามปฏิวัติกลายเป็น “ป่าคืนเมือง” และคนจากป่าตั้งแต่สหายนำระดับสูงลงมาจนถึงพลพรรคระดับล่างล้วนเดินทางกลับคืนสู่เมือง จนสภาวะป่าแตกเป็นสัญญาณการผันแปรของสงครามอย่างไม่คาดคิด

หากย้อนกลับไปดูตารางเวลาของชีวิตและการต่อสู้ของคนในยุคสมัยดังกล่าว แทบไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตของคนในรุ่นนี้ผูกผันอยู่กับเหตุการณ์เดือนตุลาคมในสามช่วงเวลา “ตุลาคม 2516” คือจุดเริ่มต้นด้วยชัยชนะของนักศึกษาประชาชน… “ตุลาคม 2519” คือจุดจบของการต่อสู้ในเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในป่า… “ตุลาคม 2526” คือจุดจบของสงครามปฏิวัติ

จึงไม่ผิดนักที่พวกเขามักจะถูกเรียกว่า “คนเดือนตุลาฯ” เพราะเส้นทางชีวิตมีแกนกลางอยู่กับเดือนตุลาคม และเพียง 10 ปีหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม สงครามจึงได้ยุติลงจริงๆ

เส้นทางชีวิตของคนในรุ่นนี้ได้หล่อหลอมเข้ากับเงื่อนไขของสงครามปฏิวัติไทย และก็ผันผวนไปกับบริบทของสงคราม แต่แล้วอย่างคาดไม่ถึง ชุดความคิดทางการเมืองนี้ก็จบไปพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามภายในของสังคมไทย…

สงครามปฏิวัติจบแล้ว ชีวิตแห่งการปฏิวัติของขบวนนิสิตนักศึกษาไทยจบตามไปด้วย พร้อมกับที่พันธนาการทางการเมืองของลัทธิสังคมนิยมถูกปลดทิ้งไปในชนบทไทย และมีชีวิตใหม่ของแต่ละคนรออยู่เบื้องหน้า

นับจากนี้ชีวิตไม่ผูกพันอยู่ภายใต้ทิศทางของสงครามแบบเดิม และเป็นชีวิตที่ไม่ต้องให้ใครจากพรรค มาเป็น “จัดตั้ง” มีแต่ “จัดตัว (เอง)” ให้อยู่ในที่ที่ต้องการ และเป็นไปตามใจปรารถนา

 

สงครามจบ ประวัติศาสตร์จบ!

เส้นทางชีวิตของหลังยุคสงครามปฏิวัติ ทำให้สุดท้ายแล้ว “ทหารผ่านศึก” ในสงครามนี้เป็นเพียงปัจเจกบุคคลที่เดินไปตามชีวิตของตนเอง จากนี้ไป ไม่มีสงคราม ไม่มีฐานที่มั่น ไม่มีพรรค ไม่มีจัดตั้ง มีแต่เรื่องราวในอดีตที่เล่าสู่กันฟัง สนุกบ้าง หัวเราะบ้าง หลายครั้งก็เจ็บปวดบ้างไปตามเงื่อนไขของเวลาและสถานการณ์

ความเป็น “คนสามตุลาฯ” จึงกลายเป็นเพียงหน้าหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ของขบวนปฏิวัติของคนหนุ่ม-สาวในยุคนั้น

แม้เรื่องราวเหล่านี้จะนำมาเล่าขานกันในเวทีสาธารณะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของความเป็น “คนสามตุลาฯ” จบลงไปพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติไทย และอาจต้องเรียกแบบที่นักรัฐศาสตร์อเมริกันกล่าวถึง การสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลกว่า เป็นดัง “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (The End of History)

และคงไม่แตกต่างกันที่จะกล่าวในบริบทของไทยว่า การสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติในไทยก็คือ การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งที่สำคัญของสังคมไทยเช่นกัน และเป็นการสิ้นสุดของ “คนเดือนตุลาฯ”

การสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติส่งผลโดยตรงให้ยุคแห่งการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาวในเดือนตุลาคมจบตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นประวัติศาสตร์สงครามชุดหนึ่งที่จบไปนาน จนไม่อยู่ในความทรงจำของคนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

หากจะหลงเหลืออยู่บ้างก็อาจจะมีแต่เพียงประวัติศาสตร์ของ “การต่อสู้ในเดือนตุลาคม” เท่านั้น!