จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (21) ซ่งในแดนใต้/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (21)

ซ่งในแดนใต้

 

ตอนที่ราชวงศ์จินของชนชาติหนี่ว์เจินโค่นล้มราชวงศ์ซ่ง และควบคุมตัวอดีตจักรพรรดิจีน วงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารไปยังถิ่นของตนนั้น ในจีนยังมีวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และเสนามาตย์อีกจำนวนไม่น้อยที่รอดจากการถูกจับกุมของจิน

บุคคลเหล่านี้ยังคงคิดที่จะฟื้นฟูซ่งที่ล่มสลายไปแล้วให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แต่แน่นอนว่า พื้นที่ในการฟื้นฟูย่อมมิใช่พื้นที่เดิมของซ่งอีกต่อไป เพราะพื้นที่เดิมได้ถูกจินยึดครองไปแล้ว

เหตุดังนั้น กลุ่มบุคคลที่ยังเหลืออยู่ของซ่งจึงมุ่งลงมายังพื้นที่ทางใต้เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นในการฟื้นฟูซ่ง และบุคคลกลุ่มนี้ก็ทำได้สำเร็จ แต่กระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า ความสำเร็จนี้มิได้ตั้งอยู่บนเสถียรภาพที่มั่นคงมากนัก

ส่วนหนึ่งยังคงเป็นเพราะภัยคุกคามภายนอกยังคงมีอยู่ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะซ่งยังคงมิได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อภายนอกเช่นกัน และประวัติศาสตร์จีนจะเรียกซ่งที่ตั้งมั่นอยู่ในดินแดนทางใต้นี้ในเวลาต่อมาว่า ซ่งใต้ (หนันซ่ง, Southern Song Dyanasty, ค.ศ.1127-1279)

 

การฟื้นฟูซ่งกับปัญหาภูมิอากาศ

ตอนที่ซ่งที่ตั้งอยู่ในดินแดนทางเหนือล่มสลายไปนั้น วงศานุวงศ์องค์หนึ่งที่รอดจากการถูกจับกุมของจินมาได้คือ เจ้าโก้ว (ค.ศ.1107-1087) โอรสองค์ที่เก้าของของซ่งฮุยจง และอนุชาของซ่งชินจง

สาเหตุที่เจ้าโก้วรอดจากการถูกจับกุมก็เพราะว่า ในขณะที่เมืองหลวงของซ่งกำลังถูกทัพจินล้อมอยู่นั้น จักรพรรดิทรงให้เจ้าโก้วไปบัญชาการศึกที่มณฑลเหอเป่ย เจ้าโก้วจึงเป็นวงศานุวงศ์เพียงองค์เดียวที่มิได้ประทับอยู่ในเมืองหลวง

และเมื่อจินตีเมืองหลวงแตก เจ้าโก้วจึงรอดจากการถูกจับกุมมาได้ และทำให้เป็นวงศานุวงศ์ซ่งเพียงองค์เดียวที่เหลืออยู่ที่มีความชอบธรรมที่จะเป็นจักรพรรดิ

จากเหตุนี้ เจ้าโก้วกับเหล่าเสนามาตย์และกำลังที่เหลืออยู่จึงหนีทัพจินไปทางใต้

จนเมื่อมาถึงเมืองหลินอัน (ปัจจุบันคือเมืองหังโจวในมณฑลเจ้อเจียง) ก็ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนี้ และให้เมืองนี้เป็นเมืองหลวงใหม่ของซ่ง สถานการณ์จากที่กล่าวมาจึงทำให้เมืองหลวงเดิมที่ไคเฟิงไม่มีวงศานุวงศ์ซ่งเหลืออยู่

ดังนั้น ก่อนที่จินจะถอนกำลังกลับไป จินจึงคิดหาบุคคลขึ้นมาเป็นจักรพรรดิซ่งแทนองค์เดิมที่ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเชลยของตน และจากการหารือร่วมกับขุนนางซ่งที่ยังเหลืออยู่ ในที่สุดจินก็เลือกขุนนางคนหนึ่งขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ

 

ขุนนางผู้นี้คือ จังปังชัง (ค.ศ.1081-1127)

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นขุนนางที่อ่อนแอและขี้ขลาด แต่จังปังชังก็ไม่ยอมรับตำแหน่งนี้เมื่อถูกเลือก แต่เมื่อถูกจินขู่ว่า หากเขาไม่ตอบรับภายในสามวัน ทัพจินจะเข่นฆ่าชาวเมืองหลวงไม่เว้นแม้แต่ไก่และสุนัขให้สิ้น เขาจึงจำยอมเป็นจักรพรรดิในที่สุด

จังปังชังเป็นเพียงจักรพรรดิหุ่นเชิดของจิน แต่ก็ทำให้เขาไม่ยอมวางตนเยี่ยงจักรพรรดิ เขาไม่ใช้ศัพท์แสงที่จักรพรรดิใช้เรียกตนและผู้อื่น ไม่ใช้ห้องทรงงานและเครื่องทรงของจักรพรรดิ

และเมื่อรู้ข่าวเจ้าโก้วเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ของซ่ง จังปังชังจึงส่งทูตไปเจรจาพร้อมกับถวายคืนหยกตราประทับของจักรพรรดิให้แก่เจ้าโก้ว แต่ความภักดีของเขาก็ไม่เป็นผล จังปังชังถูกประหารชีวิตหลังจากเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดได้เพียง 33 วัน

และทำให้ซ่งมีเจ้าโก้วเป็นจักรพรรดิที่ชอบธรรมเพียงองค์เดียว

 

กล่าวสำหรับดินแดนทางใต้ที่ซ่งกำลังจะตั้งมั่นอยู่นั้น ถือเป็นดินแดนที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองมายาวนาน โดยใน ค.ศ.5 มีประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวเพียงร้อยละ 10 ของประชากรจีนขณะนั้นเท่านั้น

จนถึง ค.ศ.740 ซึ่งตรงกับสมัยถังได้มีประชากรเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ที่อาศัยอยู่ทางใต้ของแม่น้ำฮว๋าย ปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรก็คือ การศึกในช่วงปลายถังกับยุคห้าราชวงศ์ และการหนีจากมาตรการภาษีที่หนักหน่วง

โดยใน ค.ศ.996 มีประชากรกว่า 10,000 ครัวเรือนที่หนีออกจาก 14 เมืองรอบเมืองไคเฟิง นอกจากการศึกและมาตรการภาษีแล้ว สาเหตุสำคัญยังมาจากปัญหาการถือครองที่ดินทำกินอีกด้วย สาเหตุนี้มีที่มาจากที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนเหนือได้ถูกครอบครองโดยพวกผู้ดีมานานนับศตวรรษ

จากเหตุนี้ เกษตรกรที่เป็นราษฎรส่วนใหญ่ของจีนจึงอพยพลงมาทางใต้ที่ยังมีที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ และเข้าถือครองที่ดินในดินแดนนี้ที่ยังไม่มีผู้ใดถือครอง

 

ในขณะที่สถานการณ์ดำเนินไปตามวิถีที่ว่า อีกข้างหนึ่งของสถานการณ์ในเวลานั้นกลับเป็นสถานการณ์โลกของเรา ที่ได้เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่เรียกว่า ยุคน้ำแข็งน้อยครั้งที่สาม (the third Little Ice Age)

ยุคน้ำแข็งน้อยนี้เกิดขึ้นเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 10 ไปจนถึงสิ้นศตวรรษที่ 12 ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้อุณหภูมิโลกลดลง 1.5 องศาเซลเซียส

บันทึกฝ่ายจีนระบุว่า ช่วงปลายศตวรรษที่ 11 จนถึงทศวรรษต้นๆ ของศตวรรษที่ 12 นั้น ฤดูหนาวในเมืองไคเฟิงหนาวจนน้ำในทะเลสาบไท่ (ไท่หู)1 ที่อยู่ใต้แม่น้ำหยังจื่อลงมากลายเป็นแผ่นน้ำแข็ง

โดยระหว่าง ค.ศ.1101 ถึง 1127 ได้เกิดพายุหิมะขึ้น 13 ครั้ง เกิดน้ำท่วมขึ้น 115 ครั้งในสมัยถัง กับอีก 193 ครั้งในสมัยซ่ง (ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่ซ่งสูญเสียให้แก่จินด้วย)

ในขณะที่เกิดน้ำท่วมอยู่นั้น บางที่ของจีนก็เกิดภัยแล้ง 183 แห่งในสมัยซ่ง โดยระหว่าง ค.ศ.961 ถึง 1087 ภัยแล้งนี้ได้สร้างความหายนะให้แก่จีน 67 ครั้ง

ไม่เพียงเท่านั้น ยุคน้ำแข็งน้อยยังทำให้แม่น้ำเหลืองซึ่งละเลยการขุดลอกมาช้านาน ได้พัดพาขี้โคลนและดินลมหอบถล่มที่ราบออร์ดอส (Ordos Plateau) และที่ราบของมณฑลสั่นซี อีกทั้งยังได้ทำลายตลิ่งของแม่น้ำหลายสายอีกด้วย

ที่สำคัญ ใน ค.ศ.1019 การไหลท่วมของแม่น้ำเหลืองนี้ยังทำให้หนองน้ำทางตะวันตกของมณฑลซันตง และแม่น้ำเปี้ยน (เปี้ยนเหอ) ที่เชื่อมกับแม่น้ำฮว๋ายถูกปล่อยออกมา

ทั้งแม่น้ำ หนองน้ำ และทะเลสาบที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการไหลบ่าของแม่น้ำวิปโยคครั้งนี้ได้ทำให้อาณาบริเวณของภูเขาเหลียง (เหลียงซัน) กลายเป็นฐานที่มั่นให้กับเหล่าผู้กล้าที่ต่อต้านราชวงศ์ซ่ง ที่ต่อมาได้กลายเป็นที่มาของวรรณกรรมเลื่องชื่อในสมัยราชวงศ์หมิงที่มีชื่อว่า สุยหู่จ้วน ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้นเอง

จากเหตุนี้ แม่น้ำเหลืองจึงได้ฉายาว่า “แม่น้ำวิปโยค” (จงกว๋อเตอเปยไอ, China’s Sorrow) มาจนทุกวันนี้

 

อนึ่ง คำว่า China’s Sorrow เป็นคำที่ชาวตะวันตกใช้เรียกแม่น้ำเหลืองเมื่อราวกลางศตวรรษที่ 19 แต่มีคำในภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่งคือคำว่า China’s Elegy ที่เป็นชื่อสารคดีแม่น้ำเหลืองของจีนที่เผยแพร่ใน ค.ศ.1988

ส่วนคำว่า แม่น้ำวิปโยค ที่เป็นคำไทยเคยเป็นชื่อภาพยนตร์จีนเรื่อง อีเจียงชุนสุ่ยเซี่ยงตงหลิว (ค.ศ.1947) ซึ่งมีความหมายว่า แม่น้ำสายหนึ่งไหลสู่เบื้องบูรพาทิศ แม่น้ำในภาพยนตร์เรื่องนี้คือแม่น้ำหยังจื่อ (แยงซี)

ในจีนมีธรรมเนียมการเรียกแม่น้ำสองสายว่า หากใช้คำว่า เหอ จะหมายถึง ฮว๋างเหอหรือแม่น้ำเหลือง หากใช้คำว่า เจียง จะหมายถึง หยังจื่อเจียงหรือฉังเจียง (แม่น้ำหยังจื่อหรือแม่น้ำฉัง)

ควรกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในยุคน้ำแข็งน้อยดังกล่าว โดยเฉพาะที่เกิดกับแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำฮว๋ายนั้น ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 19 จึงค่อยๆ หยุดลง ซึ่งรวมระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ราวๆ 850 ปี

แต่กล่าวเฉพาะในยุคซ่งแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลสะเทือนต่อเกษตรกรอย่างมากโดยในศตวรรษที่ 11 เกษตรกรจีนเริ่มทำการเคลื่อนย้ายถิ่นจากดินแดนทางเหนือมายังดินแดนทางใต้ ด้วยหวังว่าจะได้ที่ดินทำกินใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม

และหวังว่าจะได้รับความยากลำบากจากเจ้าที่ดินและรัฐบาลน้อยลง

1ทะเลสาบแห่งนี้ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซู โดยบางส่วนของทะเลสาบทางด้านใต้จะติดกับมณฑลเจ้อเจียง ทะเลสาบนี้มีเนื้อที่ 2,250 ตารางกิโลเมตร และลึกประมาณ 2 เมตร