กระแส ‘ยุบสภา’ โชยกลิ่น ส.ส.-พรรคการเมืองเริ่มขยับ รับการเลือกตั้งใหม่/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

กระแส ‘ยุบสภา’ โชยกลิ่น

ส.ส.-พรรคการเมืองเริ่มขยับ

รับการเลือกตั้งใหม่

 

หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จนได้กติกาการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ แบ่งเป็น 400 เขต กับอีก 100 บัญชีรายชื่อ แน่นอนว่า พรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” ต่างแฮปปี้กับผลลัพธ์ที่จะได้

ส่วนพรรคขนาดกลางอย่าง “ก้าวไกล” และ “ภูมิใจไทย” ที่แม้จะเห็นด้วยกับการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ยังสงวนท่าทีเรื่องของวิธีคิดคำนวณ ส.ส.

ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านสภามาหมาดๆ นั้น ต่างรู้กันดีว่าพรรคใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด รองลงมาก็เป็นพรรคที่มีฐานเสียงเดิมที่เข้มแข็ง

ส่งผลให้พรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” หัวบันไดไม่แห้งขึ้นมาทันที

 

ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่รัฐธรรมนูญผ่านจนวันนี้ มีคนเดินเข้า-เดินออกที่ทำการพรรคอยู่ไม่หยุด ทั้งเพื่อนเก่าที่เคยจากไป และเพื่อนใหม่ที่อยากอยู่ร่วมชายคา เข้ามาติดต่ออยู่อย่างไม่ขาดสาย

ห้อง ‘เลขาธิการพรรค’ ไม่เคยว่าง คิวขอเข้าพบยาวเป็นหางว่าวยาวหลายวัน

แต่ถึงแม้จะมีการติดต่อพูดคุยกันบ้าง แต่ยังไม่มีการเปิดตัวกันอย่างชัดเจนว่าใครจะไปใครจะมา มีเพียง “เกียรติศักดิ์ ส่องแสง” อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขนทีมงานกว่า 80 คนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

กรณีนี้ใครๆ ก็เดากันว่า ช่วงตั้งแต่หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา มีข่าวมาตลอดว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมขับ 2 ส.ส.งูเห่าของพรรค นั่นคือ ‘นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ’ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ ‘นางพรพิมล ธรรมสาร’ ส.ส.ปทุมธานี

โดยนายเกียรติศักดิ์อาจจะหมายขอลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตของนางพรพิมล แต่หากมองให้ลึกลงไปอาจจะเป็นพื้นที่ของ ‘นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์’ ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทยก็ได้

เพราะตัวนายชัยยันต์ก็ไม่ได้พ้นข้อกล่าวหาเรื่องการโหวตสวนมติพรรค และยังมีชื่อเป็น ส.ส.ที่ถูกภาคทัณฑ์เรื่องการส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้าด้วย

ซึ่งนายชัยยันต์เองหลายๆ คนก็รู้ว่ามีความสนิทสนมกับนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นอย่างมากด้วย

อย่างไรก็ตาม “เพื่อไทย” เตรียมรับสมาชิกเก่าที่จากพรรคใหญ่ไปอยู่พรรคเล็ก อย่างคนที่เคยลาออกไปเพื่อไปลงสมัครกับพรรคไทยรักษาชาติ ก็เตรียมกลับบ้านแน่ๆ และเท่าที่ได้ยินมา ‘พรรคเพื่อชาติ’ หลายคนก็น่าจะแยกเส้นทางกันเดิน

บางคนกลับเพื่อไทยบ้านเดิม บางคนที่ได้ชื่อว่าเป็นงูเห่าก็น่าจะมีหมุดหมายใหม่ในใจแล้วว่าจะยื่นใบสมัครเข้าพรรคใด

 

มาที่ฝั่ง ‘พลังประชารัฐ’ แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านสภามาจะเกิดจากการผลักดันของพรรค พปชร. แต่ระหว่างทางเกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นในพรรคจนทำให้สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกพรรคอลหม่านจนถึงเวลานี้ ถึงขนาดมีกระแสข่าวแว่วออกมาให้ได้ยินว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกฯ และ ‘พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะจับมือกันเทพรรค พปชร.

แล้วเหาะเข้าพรรคใหม่ที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้วภายใต้การบริหารจัดการของ ‘ปลัดฉิ่ง’ หรือนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย โบกมือลาพี่ใหญ่อย่าง ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ให้อยู่ซ่อมบ้านเก่า พรรค พปชร.ที่เกือบจะพังแหล่มิพังแหล่ต่อไป

บวกกับภาพ 2 ลุง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” เดินสายลงพื้นที่ไปจังหวัดต่างๆ แต่เป็นการเดินสายที่ต่างคนต่างไป ยิ่งทำให้ภาพความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันชัดขึ้นไปอีก

โดย “บิ๊กตู่” ควง “บิ๊กป๊อก” ประเดิมลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ขณะที่ “บิ๊กป้อม” หลังเกิดอุบัติเหตุเสียหลักลื่นล้มระหว่างร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมบิดาของ ส.ส.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่จังหวัดสมุทรปราการ แต่ไม่ได้เป็นอะไรมากนั้น ประเดิมวางคิวลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงบ่ายวันที่ 22 กันยายนทันที เพื่อติดตามความพร้อมการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ความไม่เป็นเอกภาพที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจนี้ทำให้ ส.ส.ในพรรค พปชร.เองก็สับสน และเป็นกังวลใจ เพราะการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา รวมถึงกติการที่เปลี่ยน บีบให้ ส.ส.ต้องรีบตัดสินใจก่อนสายเกินไป

 

ด้านพรรคเก่าแก่อย่าง ‘ประชาธิปัตย์’ สมาชิกเก่าของพรรคที่ออกไปร่วมชายคา ‘พรรครวมพลังประชาชาติไทย’ ของ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ เตรียมขนของย้ายกลับบ้าน ปชป.รังเดิม

ที่มีข่าวคือ 9 สมาชิกจากพื้นที่ 3 ชายแดนใต้

ประกอบด้วย 1.นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส.นราธิวาส 2.นายรำรี มามะ อดีต ส.ส.นราธิวาส 3.นายสุรเชษฐ แวอาแซ อดีต ส.ส.นราธิวาส 4.นายซาตา อาแวกือจิ อดีต ส.ส.ปัตตานี 5.ว่าที่ ร.ต.โมฮัมมัดยาสรี ยูซง อดีต ส.ส.ปัตตานี

6.นายอับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.ยะลา 7.นายเจ๊ะอีลย๊าส โตะตาหยง ซึ่งเป็นบุตรชายของนายเจะอามิง 8.นายอรุณ เบญจลักษ์

และ 9.ด.ต.มโณ วารีวะนิช

 

จากนี้ ‘ไทม์มิ่ง’ คือสิ่งสำคัญในการขยับขับเคลื่อน

‘เพื่อไทย’ พรรคใหญ่ มั่นใจว่าการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เตรียมจัดประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 28 ตุลาคม ที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมเตรียมขับ ส.ส.งูเห่า ที่ดองมานาน เพื่อเปิดทางให้คนใหม่ที่จะเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามเพื่อไทยเข้ามาทำพื้นที่เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และเพื่อเดินหน้าหาสมาชิก

เพราะตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ การหาสมาชิกพรรคในแต่ละเขต เป็นปัญหาหนัก และเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานของแต่ละพรรค เนื่องจากการสมัครสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีค่าใช้จ่ายในการสมัครทำให้ประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าต้องสมัครเป็นสมาชิกก็ได้ บวกกับสถานการณ์โควิดที่ไม่สามารถจัดประชุมหาสมาชิกได้ ขนาดแค่ 350 เขต ยังหากันได้ไม่ครบ แล้วนี่กติกาเลือกตั้งใหม่จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 400 เขต ยิ่งต้องเร่งหาสมัครชิกกันเลือดตาแทบกระเด็น

เพราะการหาสมาชิกพรรคในแต่ละเขตมีความสำคัญมาก ถ้าหาได้ไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด นั้นหมายถึงการหมดสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ

นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของพรรคใหญ่ที่ต้องการส่งผู้สมัครครบทุกเขต

เช่นเดียวกัน การย้ายมุ้งของ ส.ส.และนักการเมืองถือเป็นเรื่องธรรมชาติของการเมืองไทย ที่ผ่านมาก็มีให้เห็นมาโดยตลอด อุดมการณ์ทางการเมืองก็ส่วนหนึ่ง การสนับสนุนจากพรรคการเมืองก็ส่วนหนึ่ง

แต่หลักๆ คือ อนาคต และชัยชนะที่จะได้รับ ซึ่งแต่ละคนประเมินได้จากกติกาที่ใช้ในสนามเลือกตั้ง

 

จากนี้จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ยังพอมีระยะเวลาเหลืออยู่ หากมีการยุบสภาในช่วงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข แน่นอนว่า ต้องกลับไปใช้กติกาเดิมในการเลือกตั้ง

พรรคเล็กต่างอยากให้เป็นเช่นนั้น

ฝ่ายผู้มีอำนาจเองยังมีเวลาคิดและตัดสินใจว่า จะเดินหน้าเลือกตั้งด้วยกติกาใหม่หรือจะหันไปใช้กติกาเดิมอีก

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการประเมินชัยชนะของฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งสิ้น การโยกย้ายและการเดินหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้น นักการเมือง และพรรคการเมืองต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม ค่อยเป็นค่อยไป และต้องไม่มั่นใจจนเกินไป

เพราะสุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้ใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ได้