รัฐบาลสั่งลุย ขยายเพดานหนี้ 70% กู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้าน ฟื้น ศก./บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

รัฐบาลสั่งลุย

ขยายเพดานหนี้ 70%

กู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้าน ฟื้น ศก.

 

หลังผ่านพ้นการอธิปรายไม่ไว้วางใจที่รัฐบาลเจอทั้งศึกในศึกนอก รัฐบาลก็เดินหน้าปรับเกณฑ์วินัยการเงินการคลังใหม่ทันที เพื่อปลดล็อกเพดานหนี้สาธารณะ จากเดิมกำหนดให้การก่อหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยับขึ้นเป็นไม่เกิน 70% ของ GDP

โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการขยายเพดานหนี้ว่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ให้กับรัฐบาล ในกรณีจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2564 ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการป้องกันแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนหลากหลายกลุ่ม ส่วนจะกู้หรือไม่กู้เพิ่มเติม จะพิจารณาตามความจำเป็นและแผนงานที่ชัดเจน และจะกู้เท่าที่จำเป็น ไม่ได้กู้ครั้งเดียวเต็มพิกัด

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอีก 10% จะช่วยให้รัฐสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เพิ่มทั้งหมด จะพิจารณาตามความจำเป็นเท่านั้น

ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังมีเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่วางกรอบวงเงินสำหรับใช้ในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 ไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท ล่าสุดกู้ไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท

“วงเงินอีก 3.6 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในปีงบประมาณ 2565 ดังนั้น กรณีโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ หรือเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการกู้เงินอีกครั้ง”

 

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นกันยายน 2564 นี้ จะอยู่ที่ 58.96% ซึ่งตามปีงบประมาณถือว่ายังต่ำกว่าเพดาน 60% แต่หากกู้เงินตาม พ.ร.ก. อีกกว่า 3 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 จะทำให้เกินเพดาน ดังนั้น ต้องขยับเพดานเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง

อย่างไรก็ตาม การขยายกรอบเพดานหนี้ ไม่มีผลต่อการชำระหนี้ของประเทศ โดยจะยังคงยึดวินัย 4 ด้าน ได้แก่

1. เพดานหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 70%

2. ความสามารถในการชำระหนี้ต่อ GDP และภาระหนี้ของรัฐต้องน้อยกว่า 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 31.76%

3.หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องน้อยกว่า 10% ขณะนี้อยู่ที่ 1.67% ซึ่งถือว่าต่ำมาก

และ 4. หนี้เงินตราต่างประเทศต่อการส่งออกสินค้าและบริการต้องน้อยกว่า 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.6% เท่านั้น

ขณะเดียวกันจากที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดให้สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบฯ ใช้คืนหนี้ในสัดส่วน 2.5-4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในปีงบประมาณ 2565 ได้จัดสรรงบฯ สำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ที่ 3.2% หรือ 1 แสนล้านบาทไว้แล้ว และจัดสรรเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท สำหรับชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะบริหารโครงสร้างหนี้ของรัฐอย่างใกล้ชิด

“การเปิดกรอบเพดานหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 70% ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เพิ่มทั้งหมด ถ้าหากเศรษฐกิจขยายตัว สำหรับปี 2563 ยอมรับว่าเศรษฐกิจติดลบ แต่ในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการว่าจะโตอยู่ที่ 1.3% แม้ศูนย์วิจัยหลายแห่งจะประเมินว่าอาจจะติดลบ แต่หากมีการเปิดประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้” นายอาคมกล่าว

ส่วนแนวทางการหารายได้เพิ่ม รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้ใหม่ที่เกิดจากการดึงดูดการลงทุนใน EEC รวมถึงรายได้ที่ได้จากการส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ GDP เพิ่ม และจะกลับมาเป็นเม็ดเงินภาษีเข้ารัฐต่อไป

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก คาดว่าช่วง 2 ปีนี้ ทั่วโลกจะมีการกู้เงินเพิ่ม เพื่อดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาก็ปรับเพดานหนี้มากกว่า 80 ครั้ง ขณะที่มาเลเซียขยายเพดานหนี้จาก 60% เป็น 65% ซึ่งเป็นหนี้ของรัฐบาลทั้งหมด ส่วนไทยถือว่าหนี้สาธารณะยังไม่ได้สูงมาก เพราะหนี้ที่รัฐบาลก่ออยู่ที่ระดับ 51.4% เท่านั้น ตามการคำนวณของ IMF

“การจัดเก็บรายได้จะกลับมาเมื่อ GDP ขยายตัว โดยในปี 2564 ภาษีที่เก็บอยู่ภายใต้ฐานรายได้ของปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้จัดเก็บรายได้ภาษีได้ลดลง เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบ และภาคการท่องเที่ยวต้องปิดกิจการ แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ตัวฐานภาษีก็ต้องเพิ่มด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เช่น กรมสรรพากรนำระบบออนไลน์มาใช้ ให้เสียภาษีผ่านออนไลน์ได้ เป็นต้น”

รมว.คลังกล่าว

 

ขณะที่นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เห็นความจำเป็นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินนโยบายรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยประเมินว่าความเสี่ยงต่างๆ ยังต่ำ แต่การใช้จ่ายภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูงและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และต้องเร่งลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP กลับมาที่ 60% ให้ได้ในระยะต่อไป

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐต้องเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง อาทิ มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) เช่น มาตรการคนละครึ่ง มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงาน อาจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลในวงกว้าง จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจ ขณะที่การเยียวยาก็ต้องทำให้ตรงจุดและเท่าที่จำเป็น กระบวนการใช้จ่ายต้องโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

“ระยะต่อไป ภาครัฐต้องมีแนวทางชัดเจนที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลง เพื่อรักษาวินัย รวมทั้งสร้างพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อาทิ การหารายได้เพิ่มเติมจากการสร้างฐานรายได้ใหม่ การควบคุมสัดส่วนรายจ่ายประจำ การเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว” นายเมธีกล่าว

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วจนนำมาสู่การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น รัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว

ดังนั้น ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการ roll over หนี้ที่ครบกำหนดไม่ทัน จึงมีจำกัด

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำมาก จะช่วยเอื้อให้ต้นทุนของภาระหนี้ (debt service burden) ในกรอบเวลาระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ

โจทย์ท้าทายอยู่ที่การบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงระยะยาว จำเป็นต้องมีแผนการจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในระยะข้างหน้า

ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณต้องก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด