สมุนไพรเพื่อสุขภาพ : เรียนรู้และเข้าใจ “กระท่อม”

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย / www.thaihof.org

 

เรียนรู้และเข้าใจ “กระท่อม”

 

กระท่อมถูกกักตัวเป็นยาเสพติดให้โทษนาน 41 ปี เพิ่งหลุดออกมาจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีผลเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

กระท่อมเป็นที่รู้จักกันดีทางภาคใต้ของไทย ชื่อท้องถิ่นภาคใต้เรียกว่า ท่อม ส่วนทางภาคกลางเรียกว่า กระท่อง หรือ อีถ่าง

กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10-15 เมตร ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว

ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา

ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม

พบได้ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี

แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย

 

หมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ ใช้กระท่อมเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น

แม้ใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยาได้ แต่ทำให้เสพติด และมีผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกันหากใช้ติดต่อกันนานๆ

ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่นิยมกินกระท่อมโดยการเคี้ยวใบสด หรือเอาใบมาย่างให้เกรียมและตำผสมกับน้ำพริกกินเป็นอาหาร

กินแล้วช่วยให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานาน โดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อย

ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต มีการใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้

ในประเทศนิวซีแลนด์มีการใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่น

ใบกระท่อมมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เมื่อกินบ่อยๆ นานๆ ทำให้เสพติดได้ เมื่อกินเป็นเวลานานจึงจะทำให้สีผิวหนังของเรานั้นเปลี่ยนสีได้ ทำให้ผู้รับประทานมีผิวเข้มขึ้นหรือออกดำคล้ำ

และควรรู้ว่าการกินใบกระท่อมแบบทั้งก้านจะทำให้เกิดอาการ “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้เหมือนจะมีอะไรคาอยู่ในลำไส้ เนื่องจากก้านไม่สามารถย่อยในกระเพาะของเราได้ และไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ เป็นพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั่นเอง จึงทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้

บางรายที่กินต่อเนื่องนานๆ อาจจะมีอาการหลอน หวาดระแวง พูดไม่รู้เรื่อง

 

แม้ใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์มีประโยชน์ทางยา แต่ก็ควรเรียนรู้และเข้าใจด้วยว่า หากกินกันมากๆ กินต่อเนื่องนานๆ ทำให้เสพติดและมีผลเสียต่อสุขภาพ

หากจะใช้อย่างชาญฉลาดก็ควรรู้ว่าในกระท่อมมีฤทธิ์ทางเภสัชที่เรียกว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) ช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ เมื่อให้กินทางปากในขนาด 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับการได้รับมอร์ฟีนในขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

สารเสพติดที่พบในใบกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดประเภท psilocybin LSD และยาบ้า เวลานี้ได้ปลดล็อกออกจากพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว

ในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พบว่าในตำรับยาโบราณ ในคัมภีร์หลายเล่ม ได้บันทึกตำรับยาที่มีกระท่อมอยู่ด้วย เช่น ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำรายาโรงพระโอสถ ตำรายาศิลาจารึกวัดโพธิ์ ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เจ้ากรมหมอหลวง ตำราเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช ฯลฯ

กระท่อมจะมีประโยชน์ตรงที่ปลูกได้ทั่วไปและใช้ให้ถูกวิธีเป็นยาสมุนไพรที่ดี หรือการใช้อย่างจำกัด คือการกินกระท่อมแต่น้อยๆ ใช้ในคราวจำเป็น จะได้สรรพคุณยาสมุนไพรช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ลดอาการเมื่อยล้า ช่วยให้ใช้แรงทำงานหนักได้นาน

แต่ถ้ากินจนเพลิน กินมากไป กินบ่อยๆ ก็ได้ผลจากฤทธิ์กล่อมประสาทและทำให้เสพติดได้

และมีผลทำให้ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังคล้ำลง นอนไม่หลับ (ร่างกายตื่นตัวสูง)

และถ้าไม่ระวังกินมากเกินไป อาจมีอาการกระวนกระวาย ความดันโลหิตสูง มีผลทางจิต ก้าวร้าว และปัญหาทางจิตอื่นๆ ได้

 

นอกจากนี้ มีข่าวแพร่กระจายไปทั่วว่า กระท่อมสามารถใช้รักษาโควิด-19 ได้

ซึ่งไม่เป็นความจริง

เพราะยังไม่มีงานวิจัยใดสนับสนุนว่ากระท่อมสามารถรักษาโควิด-19 ได้

แต่เนื่องจากอาการที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนที่ได้รับเชื้อโควิด-19 คืออาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว หงุดหงิด จึงมีรายงานผลการศึกษา 1 ฉบับ ตีพิมพ์ใน Frontiers in Psychiatry เมื่อวันที่ 19 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 และที่ได้ทำการศึกษาเป็นกรณีรายบุคคลในผู้ชาย เป็นคนอเมริกันอายุ 29 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับยาตามแผนการให้ยารักษาโควิดทุกอย่าง แต่ยังคงมีอาการเจ็บปวด เมื่อยตามเนื้อตัวและรู้สึกไม่สบายตัวจนต้องนอนซมติดเตียง

เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เคยใช้กระท่อมมา 4-5 ครั้ง ก่อนติดโควิดประมาณ 14 เดือน จึงตัดสินใจใช้ใบกระท่อมที่บดใส่มาในแคปซูล ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มากินในขนาด 2.75 กรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน

ผลปรากฏว่าอาการปวดเมื่อยหายไป สบายตัวมากขึ้น

ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า กระท่อมนำมาใช้เพื่อลดอาการปวดเมื่อยตามตัวเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อทำลายเชื้อโควิดแต่ประการใด

พอปลดล็อกกระท่อม คนก็สนใจกันมาก และลักษณะของดอกกระท่อมมีรูปร่างคล้ายกับไวรัสโควิด-19 ก็ฮือฮาเกิดกระแสข่าวลือว่ากระท่อมรักษาโควิดได้ ซึ่งเป็นจินตนาการที่ไม่เป็นความจริง ทำให้ผู้คนหลงเชื่อ นำไปสู่ผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ และเกิดการค้าขายสมุนไพรที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนาให้ใช้ประโยชน์สมุนไพรอย่างยั่งยืน

และไม่ช่วยการดูแลสุขภาพที่ดีเลย