เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : รู้ไปโดยปริยาย

 

 

รู้ไปโดยปริยาย

 

วัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิต

จากศัพท์ “วัฒน” แปลว่าความเจริญ ความงอกงาม

“ธรรม” จากรากศัพท์คือ ธร แปลว่า ทรง คือทรงไว้ซึ่งความเป็นเช่นนั้น อันหมายถึง “สิ่ง” โดยยังไม่หมายถึงสิ่งที่จำแนกเป็นชื่อเรียกจำเพาะ เช่น ถ้วย ช้อน จาน ชาม ซึ่งเมื่อยกชื่อออก มันคือสิ่งๆ หนึ่งเท่านั้น

เพราะฉะนั้น แปลโดยศัพท์ วัฒนธรรมคือสิ่งเจริญงอกงาม ซึ่งมีความหมายกลางๆ หากโดยวาทะ คำเจริญกับคำงาม เราใช้ในทางดี จึงทำให้ความหมายของวัฒนธรรมเป็นความดีงามไปด้วย ซึ่งทำให้ความที่แท้คือสิ่งที่งอกเงย เติบโตขึ้นอันมีความหมายกลางๆ ไม่ดีไม่ร้าย กลายเป็นดีหมดเมื่อเอ่ยถึงวัฒนธรม ก็คือความดีความงามไปหมด

ที่ว่าความหมายกลางๆ คือวัฒนธรรมแปลว่าสิ่งงอกเงย ถ้างอกเงยทางดีเป็นงอกงาม เราเรียกว่าเป็น “อารยธรรม” แต่ถ้างอกเงยในทางไม่ดีเราเรียกว่าเป็น “หายนธรรม” ดังพุทธภาษิตว่า

“นสิยาโลกะวัฒโน” แปลว่า “ไม่พึงเป็นคนรกโลก” โดยวัฒโนคือวัฒนะ ในที่นี้แปลว่ารก อันเป็นความหมายในทางไม่ดี

เพราะฉะนั้น ลำพังคำวัฒนธรรมจึงหมายถึงสิ่งที่เติบโตหรืองอกเงยขึ้น โดยสรุปความหมายว่า หมายจำเพาะสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง

สร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ วัฒนธรรมจึงหมายโดยรวมก็คือ “วิถีชีวิต” ดังกล่าว

 

ที่ว่ามายืดยาวนี้ก็ด้วยเห็นว่าปัจจุบันนี้เราติด “กับดัก” ทางวาทกรรมกันจนเข้าใจกันยากขึ้น เข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งมีผลก่อให้เกิดช่องว่างทางความคิดอันพลอยหลงว่ารู้ตรงกัน เข้าใจตรงกัน ทั้งที่ต่างรู้ต่างเข้าใจผิดด้วยกันทั้งเพ

เหมือนอย่างเรื่องตลกเล่าว่า

พระนั่งเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ เห็นโยมนั่งพนมมือหลับอยู่ก็กระแอมปลุกถามโยมด้วยเสียงดังว่า

“โยม อวิชชาแปลว่าอะไร”

โยมงัวเงียลืมตาตอบพระว่า

“ไม่รู้เจ้าค่า”

พระชอบใจตอบกลับทันที

“ถูกต้องโยม อวิชชาแปลว่าไม่รู้”

สรุปแล้วเรื่องนี้ทั้งพระทั้งโยมต่าง “ไม่รู้ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งที่จริง คำ “อวิชชา” แปลว่า “ไม่รู้” ซึ่งทั้งผู้ถามผู้ตอบ ต่างทั้งรู้และไม่รู้ แต่คิดว่ารู้ด้วยกันทั้งคู่

 

เห็นไหม แค่ “วัฒนธรรม” คำเดียวก็ล้วนเป็นเรื่องต่างคิดว่ารู้ความหมายเหมือนกันหมด

ยังคำอื่นๆ ทำนองนี้อีกมากมายในสังคมไทยที่เราต่างคนต่างรู้ แต่คิดว่ารู้ตรงกันจนกลายเป็นเหตุให้แตกแยกแบ่งฝักฝ่ายกันอยู่ก็มี อาทิ

คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นต้น

ทั้งนี้ ล้วนเกิดจาก “ภาษา” ด้วยกันสิ้น เพราะภาษาที่เราพูดจาสื่อความกันอยู่นี้ นอกจากภาษาไทยแท้ เช่น กิน เดิน นิ่ง นอนแล้ว เราใช้ภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นศัพท์แสงอยู่ในภาษาไทยเกินกว่าครึ่ง แม้ชื่อสกุลของเราเองนี่ก็เถิด ยิ่งตั้งยิ่งเปลี่ยนก็ยิ่งแปลกันไม่ถูก ด้วยไปหลงว่าศัพท์แสงเป็นสิ่งสูงส่ง เป็นสิริมงคลด้วยแล้ว ชื่อใหม่ๆ ของคนไทยวันนี้จึงทั้งเรียกยากฟังยากนัก

เท่านั้นไม่พอ ยังพลอยบ้าภาษาฝรั่งเข้าไปอีก กระทั่งไม่รู้ความก็ไม่กล้าถาม กลัวจะว่าโง่ไม่รู้ภาษา ไม่ทันสมัยไปโน่น

ยิ่งยุควิกฤตโคหวิด (ขอเขียนอย่างนี้ ไม่เขียนโควิด ด้วยต้องอ่านเป็นโค-วิด ไม่ตรงเสียงพูดเหมือนอย่างอีกหลายคำที่เขียนอย่างไทยแต่อ่านอย่างฝรั่ง เช่น คำโคก แต่อ่านโค้ก เป็นต้น) อันเป็นยุคที่ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการกันเหลือเกิน โดยไม่อธิบายความจนคิดว่าเป็นคำที่รู้โดยทั่วไป

ใครไม่รู้ก็โง่เอง

เช่นอย่างคำ “คลัสเตอร์” เมื่อแรกได้ยิน ขอยอมรับว่าไม่รู้จริงๆ ต้องพลอยอนุมานเองว่ารู้ไปโดยปริยาย

แม้จนวันนี้ มีคำที่ได้ยินกันเกร่อ แต่ยังไม่เห็นมีใครอธิบายให้รู้จริงๆ เลยว่าหมายถึงอะไร คือคำว่า “โด๊ส” แต่เขียนเป็นโดส (นี่ก็ผิดเสียงอีก) แปลว่า “เข็ม” ใช่ไหม แล้วทำไมไม่ใช้คำว่า “เข็ม” ล่ะ วัคซีนโด๊สหนึ่งก็คือวัคซีนเข็มหนึ่งใช่ไหม

อะไรประดานี้แหละก่อให้เกิดวิกฤตทางความเข้าใจในยุคนี้สมัยนี้…จริงนะเอ้า

พลอยให้ฉุกคิดว่า ฤๅตัวเราจะเป็นคนตกยุคตกสมัยไปแล้วเสียจริงๆ

 

วันหนึ่งเจ้าหลานตัวน้อยขอยืมโทรศัพท์มือถือ (ที่เราเรียกว่า “จอแผ่น”) ไปเล่นเกม ซ้ำอ้อนว่าช่วยกดปุ่มเกมให้ด้วย เราบอกว่าเปิดไม่เป็น เจ้าหลานแย่งมือถือ (จอแผ่น) ไปจากมือพลางเอ่ยอย่างอิดหนาระอาใจว่า

“…คุณต๊าคุณตา”

ตกยุควูบไปเลย…หนอเรา

ก็งึมงำพึมพำบ่นไปอย่างนี้แหละ ยิ่งช่วงวิกฤตยาวก็ยิ่งได้เห็นอะไรๆ ที่มันวิกฤตซ้อนวิกฤตเต็มไปหมด ทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งที่คุณวิลาศ มณีวัตร นักเขียนใหญ่ผู้ล่วงลับแล้ว เอ่ยประโยคอมตะไว้ว่า

“ช่วยหยุดกรุงเทพฯ หน่อยเถอะ…ผมจะลง”

 

ผงเข้าตา

 

คิดอย่าง ฝรั่งคิด

ต้อง ฟุดฟิด และฟอไฟ

เสื้อนอก กับ เน็กไท

นั่นคือวัฒนธรรม

 

ความเจริญจรัสแสง

คือเรืองแรงและรวยร่ำ

ของดี ที่เลิศล้ำ

ต้อง เมดอิน ยูเอสเอ

 

เครื่องกิน และเครื่องใช้

ศิวิไลซ์ และ โก้เก๋

ของนอก นั่นแหละเท่

ถ้าของไทย บรรลัยเชย

 

ทำตัว ให้เป็นหรั่ง

ตั้งแต่ชื่อ ไปเชียวเหวย

ทุกอย่าง จึงลงเอย

ว่า เอาอย่าง ฝรั่งดี

 

เพลงไทย ก็เพลงเชย

เอิงเงิงเงย ทั้งตาปี

ต้องฟัง เพลงหรั่งซี

ถึงเซ็กซี่ สะบึมใจ

 

คิดอย่าง ฝรั่งคิด

คือ ฟุดฟิด และฟอไฟ

ชีวิตวิญญาณไทย

จึงขายถูก เป็นธรรมดา

 

มองหา ก็ ไม่เห็น

ความเป็นจริง ประจันหน้า

เขี่ยผง ที่ เข้าตา

ออกเสียที เถิดเพื่อนไทย!

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์