คุยกับ “นักประวัติศาสตร์-นักมานุษยวิทยา” ถอดรหัสปัญหา “แรงงานพม่า” ขาด “เขา” ไป ทำไมเราถึง “พัง”?

เป็นเรื่องที่ยังต้องจับตา แม้ว่ารัฐบาล คสช. จะผ่อนปรนการประกาศใช้กฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ โดยเลื่อนไปเริ่มบังคับใช้และมีอัตราโทษหนักต่อทั้งนายจ้างและแรงงานอย่างจริงจังในช่วงต้นปี 2561

แต่มาตรการของรัฐบาลยังไม่มีข้อการันตีต่อการ “กลับมา” ทำงานในไทยของแรงงานเพื่อนบ้านจำนวนไม่น้อย ที่เดินทางกลับสู่ประเทศอันเป็นมาตุภูมิไปแล้ว

“ดร.ลลิตา หาญวงษ์” อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า กล่าวว่า เท่าที่จับตาและติดตามสถานการณ์ แม้ว่าจะมีแรงงานเพื่อนบ้านตัดสินใจกลับประเทศบ้านเกิดไปไม่มาก

แต่ต้องไม่ปล่อยให้การออกมาตรการครั้งนี้เป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยทรุดลงไป ต้องไม่ลืมว่าเราไม่สามารถสูญเสียบุคคลเหล่านี้ได้ในระบบในโรงงาน ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะคนเหล่านี้ล้วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย

ดร.ลลิตา ขยายความว่า อดีตที่ผ่านมา แรงงานพม่า (ซึ่งเป็นแรงงานเพื่อนบ้านที่มีจำนวนมากที่สุด) เริ่มเข้ามาทำงานบ้านเราในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมใหญ่ที่บ้านเขา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สภาพเศรษฐกิจไทยเจริญขึ้น มีการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ระบบอุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตขยายขึ้น

ทำให้ปัจจุบันแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาในไทยหลายล้านคน และอาจจะมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านคน ถ้าหากขาดบุคคลกลุ่มนี้ไป จะเกิดผลกระทบใหญ่มาก ถึงขั้นเศรษฐกิจชะงักและโรงงานเป็นอัมพาตได้ เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นจักรกลสำคัญของโรงงานไทย

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประมง ที่เราพึ่งแรงงานพม่าอย่างเดียวเป็นหลักก็ว่าได้ ดังนั้น ถ้าเขาเหล่านี้หายไป โรงงานจะขาดแคลนแรงงาน เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การส่งออก อุปโภค บริโภค เป็นปัญหาใหญ่หลวง!

ดร.ลลิตา พาไปย้อนดูอีกสาเหตุที่แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยจำนวนมาก นั่นคือค่าแรงขั้นต่ำที่ดึงดูดใจ แม้ว่าการเข้ามาทำงานของเขา จะไม่ได้รับเงินเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยก็ตาม แต่สำหรับคนพม่า 200 กว่าบาท ก็นับว่ามากกว่าค่าจ้างที่เขาได้รับในบ้านเกิด

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนพม่าหลั่งไหลเข้ามาเยอะ เพราะว่ามีเครือข่ายคนพม่าในไทย อาศัยร่วมกันเป็นชุมชนคอยช่วยเหลือกัน จนเราสามารถเรียกได้ว่า “ลิตเติ้ลพม่า” มีตลาด มีผู้คนจากทุกอาชีพรวมกันเป็นชุมชน มีการค้าขาย

ในกรุงเทพฯ จะเป็นย่านหลังรามคำแหง-เอแบค เมื่อมีคนหนึ่งเข้ามาก็จะดึงญาติมาอยู่ด้วย ที่สำคัญมีผู้นำชุมชนที่อยู่มานาน ซึ่งสามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐและคอยรักษาผลประโยชน์ให้คนของเขา

อาทิ ข้อเรียกร้องต่อรัฐ เรื่องค่าแรง-สวัสดิการ-สิทธิในการเดินทางต่างๆ และจากการลงพื้นที่สมุทรสาคร ก็ปรากฏเรื่องเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากใบอนุญาต เพราะแรงงานเหล่านี้ต้องพกใบอนุญาตหลายชนิด เป็นช่องว่างที่ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนมาแสวงหาผลประโยชน์รีดไถ ข่มขู่

นี่คือสิ่งที่แรงงานสะท้อนมา

ส่วนประเด็นที่คนไทยชอบล้อชอบเหยียดเพื่อนบ้าน เมื่อเทียบคนพม่ากับคนลาว คนลาวจะซีเรียสกว่ามาก คนพม่าจะมีทัศนคติที่ดีต่อไทยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แต่น่าแปลกใจว่าทำไมไทยเรากลับไม่คุ้นเคย ไปล้อเขาว่าเป็น “ต่างด้าว”

ทั้งที่เขาก็เป็นคนต่างชาติเหมือนกับคนญี่ปุ่น-คนอเมริกาที่เข้ามาในไทย ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ ในหมู่คนพม่าก็รับรู้มาตลอด

นักวิชาการสาขาประวัติศาสตร์ผู้นี้ชี้ว่า หากรัฐต้องการแสดงความจริงใจต่อเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าวจริงๆ ก็ต้องทำให้คนทุกชาติเป็น “คนเท่ากัน” ก่อน ไม่ว่าจะชาติใด อาชีพไหน มีทักษะหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่มีใครชอบให้เรียกแบบนั้น

ท้ายที่สุด อ.ลลิตา มองว่ารัฐบาล คสช. น่าจะต้องผ่อนปรนกฎหมายดังกล่าวในที่สุด เพราะในการตัดสินใจครั้งนี้ ผู้มีอำนาจอาจจะไม่ได้คิดถ้วนถี่ว่าผลกระทบจะหนักต่อเศรษฐกิจโดยรวมขนาดนี้

เพราะถ้ายังปล่อยให้ค้างคา มีบทลงโทษรุนแรงเช่นนี้ต่อไป อาจจะมีเหตุการณ์หยุดงานประท้วงตามมา ฉะนั้น รัฐบาลไทยควรหาหนทางประนีประนอม นำแรงงานเพื่อนบ้านกลับคืนมา เนื่องจาก “เรา” ไม่สามารถสูญเสีย “เขา” ได้

ทั้งยังต้องถามว่า งานที่ “คนพม่า” เข้ามาทำในบ้านเรานั้น “คนไทย” ยอมทำหรือไม่?

ด้าน “ดร.นิติ ภวัครพันธุ์” จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการตัดสินใจของรัฐบาล คสช. ครั้งนี้ เป็นการพยายามเอาใจอเมริกา-ตะวันตก ในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์

แต่เป็นวิธีที่รัฐบาลจัดการปัญหาอย่างรวดเร็วเกินไปและไม่ได้คิดรอบคอบ หรือเข้าใจปัญหา ทำให้มีผลกระทบตามมาจากการกระทำของตัวเองหลายด้าน ทั้งเรื่องจำนวนคนทำงานที่กระทบชัดเจน และสิ่งสำคัญที่หลายคนลืมนึกไปคือคนพม่าเหล่านั้นมีฐานะเป็นผู้บริโภคด้วย

นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อประกันว่าพวกเขาจะกลับมาประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจพม่ากำลังดีขึ้นเรื่อยๆ

ดร.นิติ วิเคราะห์สภาพปัญหาหลังจากนี้ว่า ในระยะใกล้ประเทศไทยจะขาดแรงงานมีฝีมือ ขาดผู้บริโภคที่จับจ่ายใช้สอยเงิน คนจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เป็นผู้จ่ายภาษี เป็นผู้อยู่ในระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ดังนั้น เงินหมุนเวียนจะหายไปเห็นชัดเจนมาก

ในระยะไกลความสัมพันธ์ไทยกับเมียนมาก็น่าห่วง เพราะที่ผ่านมาเวลาสองประเทศมีปัญหากัน พม่ามักปิดกั้นพรมแดนไม่ให้มีสินค้าเข้าออก ส่งผลให้สินค้าส่งออกจากบ้านเราเสียหายหนัก กระทบทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ทั้งในส่วนกลางและชายแดน

ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบัน คนพม่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไทยอย่างเดียว เพราะเขามีสินค้าจากจีนที่ราคาถูกกว่า และยังมีเวียดนามเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

ผลกระทบอีกอย่างที่คนไทยนึกไม่ถึงได้แก่เรื่องสังคม ตัวอย่างชัดๆ คือ คนดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นคนพม่า

พวกเขาอดทนมาทำงาน กินนอนกับคนสูงอายุ คอยเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ เพื่อเก็บเงินกลับบ้าน ขณะที่คนไทยมักไม่ทำงานประเภทนี้ เพราะมีโอกาสหรือทางเลือกอย่างอื่น

ฉะนั้น กล่าวได้ว่าคนพม่าจำนวนมากในบ้านเราไม่ได้เป็นแค่ “แรงงาน” แต่พวกเขาคือส่วนหนึ่งในสังคมและวิถีชีวิตของเรา

พวกเขาอยู่ในทุกที่รอบตัวเรา ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ทางเศรษฐกิจ แต่เขาเป็นคนที่ตักข้าวให้คุณทาน และรับจ้างทำงานบริการอีกหลายๆ อย่าง

นักวิชาการจากจุฬาฯ ย้ำเตือนความจริงอีกข้อว่า เราต้องอย่าหลงตัวเองว่า อย่างไรเสียคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งเดินทางกลับบ้านเกิดไปนั้น จะหวนย้อนมาทำงานในบ้านเราอีก

เราต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานาน พวกเขาเรียนรู้จากงาน เรียนรู้ทักษะและภาษา เป้าหมายของพวกเขาคงไม่ใช่แค่การทำงานในไทยไปตลอดชีวิต คุณสมบัติเด่นของพวกเขาคือขยันทำงานและเก็บออมเงินทุน

ดังนั้น จึงมีโอกาสสูง ที่คนพม่าซึ่งเคยเป็นแรงงานในไทยจะย้ายกลับไปเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ประเทศบ้านเกิด

ปรากฏการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดแจ้งแล้วที่จังหวัดระนองและเมืองชายแดนต่างๆ ซึ่งเจ้าของร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ร้านขายเหล้าเบียร์-ของชำมากมายเป็นคนพม่า

ดร.นิติ เชื่อว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในฝั่งเมียนมาเหมือนกัน เพราะเศรษฐกิจทางฝั่งนั้นยังเติบโตและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้คนได้มากกว่าฝั่งไทย

ผลกระทบจากกฎหมายฉบับดังกล่าวจึงเป็นบทเรียนสำคัญ ที่จะทำให้ภาครัฐต้องตระหนักถึงผลลัพธ์ที่ตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญเราต้องไม่ขาดการใช้ “กระบวนการทำความเข้าใจ”

ส่วนปัญหาการเหยียดหรือดูถูกแรงงานต่างด้าว นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาผู้นี้เห็นว่านี่เป็นปัญหาร่วมในทุกสังคม

ตะวันตกมีการเหยียดผิวขาว-ผิวสี คนจีนเหยียดกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ คนไทยเราเคยดูถูกคนจีน กรณีของพม่า ไม่ว่าหลักสูตรการศึกษาหรือการท่องจำว่าพม่าเผากรุง ล้วนสะท้อนว่ารัฐไทยนำปัญหาการเมืองมาเป็นตัวชี้นำสังคม เพื่อสร้างผลประโยชน์บางอย่าง

เพราะฉะนั้น เราต้องให้ความรู้ เปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียง เราต้องสอนคนรุ่นใหม่ว่าความเกลียดชังคนอื่นนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร? เราเกลียดเขาเพียงเพราะเขาไม่เหมือนเราเท่านั้นหรือ? ในขณะที่เราเองก็กลายเป็น “ตัวประหลาด” ในสายตาคนอื่น

เราจึงต้องปลูกฝังชุดความคิดแบบใหม่ให้คนรุ่นหลังเกิด “ความเข้าใจ” ใน “ความแตกต่าง”

เพราะปัญหาเรื่อง “ความแตกต่าง” ใดๆ ก็ตาม จะแก้ไขได้ด้วยการมี “ความเข้าใจ” ซึ่งกันและกัน