นิรนามกับความสัตย์จริง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

มนุษย์เราแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่อยากได้ยินความเห็นของคนอื่นแบบตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็นคำชมหรือคำติ

กับอีกประเภทคือรับคำตำหนิติเตียนไม่ได้ และอยากได้ยินเฉพาะคำสรรเสริญเยินยอเท่านั้น

หากคุณเป็นประเภทแรก และกำลังมองหาคนที่จะมาให้ความเห็นอย่างซื่อสัตย์เกี่ยวกับอะไรบางอย่างที่คุณทำ การให้ความเห็นแบบนั้นซึ่งๆ หน้าก็ว่ายากแล้วนะคะ

แต่การย้ายไปให้ความเห็นบนโลกโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้ทำให้มันง่ายลงสักเท่าไหร่เลย เพราะเพื่อนที่แวดล้อมเราบนโซเชียลมีเดีย ที่ใช้ชื่อจริง ภาพโปรไฟล์จริง ประวัติจริง ทั้งหลายนั้นก็เป็นคนที่มีตัวตนจริงที่เราจะได้พบหน้ากันไม่วันใดก็วันหนึ่ง หรืออาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่เราต้องเดินสวนกันทุกวันก็ได้

ดังนั้น การสงบปากสงบคำ เก็บความเห็นไว้กับตัวเองย่อมเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุด ที่ทำให้หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันได้

แต่ถ้าคุณอยากได้ความเห็นที่เปิดเผยในโลกที่ไม่มีใครยอมปริปากพูดความคิดที่แท้จริงของตัวเองออกมากันล่ะ จะทำอย่างไร

นี่จึงเป็นที่มาของหลากหลายแอพพลิเคชั่นที่ปวารณาตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม “นิรนาม” ที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกันได้โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง

และแพลตฟอร์มล่าสุดที่กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ก็คือแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ซาราฮาห์ (Sarahah) ค่ะ

 

ซาราฮาห์เป็นแอพพ์ที่มีไอคอนเป็นรูปซองจดหมายอยู่บนพื้นหลังสีเขียวอมฟ้าน้ำทะเล เมื่อกดเข้าไปลองใช้งานจะเห็นว่าหน้าตาของมันเรียบง่าย มีเพียง 4 เมนูหลักให้เลือก คือ กล่องข้อความ ค้นหา สำรวจ และโปรไฟล์

หน้าตาดูธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้แอพพ์นี้ได้รับความนิยมและขึ้นอันดับหนึ่งของแอพพ์สโตร์ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สหรัฐ หรืออังกฤษ ก็คือคอนเซ็ปต์ของมันค่ะ

ซาราฮาห์เป็นแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ข้อความของเราถูกทำให้เป็นข้อความนิรนาม เราจะกล้าเผชิญหน้าและพูดความจริงกันมากขึ้น

ซาราฮาห์จึงเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้คนกล้าพูดคุยกันอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา เมื่อเราเอาตัวเองไปอยู่บนแพลตฟอร์มนั้น เราจะสามารถรับและส่งข้อความนิรนามได้

แอพพลิเคชั่นนี้สร้างขึ้นโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวซาอุดีอาระเบียชื่อ ซาอิน อัล อะบิดิน ทอฟิก โดยที่คำว่า ซาราฮาห์ นั้นภาษาอารบิกแปลว่า ความตรงไปตรงมา หรือความซื่อสัตย์ นั่นเอง

จุดประสงค์ดั้งเดิมที่ทอฟิกพัฒนาแอพพ์นี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ใช้สื่อสารกันในที่ทำงาน ลูกน้องจะได้ให้ฟีดแบ็กที่มีต่อหัวหน้าของตัวเองได้อย่างตรงจุด ไม่อ้อมค้อม ไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง

ทอฟิกพัฒนาซาราฮาห์ขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 ในตอนแรกเขาทำเป็นเว็บไซต์ธรรมดาๆ ก่อน เขาตั้งเป้าเอาไว้สูงสุดว่าจะต้องมีการส่งข้อความทั้งหมดให้ได้ 1,000 ข้อความแค่นั้นก็พอแล้ว

แต่พอย่างเข้าสู่ช่วงปลายปีกลับทำยอดได้เพียงแค่ไม่กี่ร้อยข้อความ

ทอฟิกจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการประชาสัมพันธ์ใหม่ ด้วยการไปให้เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นคนที่มีความกว้างขวางบนโลกโซเชียล (หรือที่เรียกกันว่าอินฟลูเอ็นเซอร์นั่นแหละค่ะ) ช่วยแชร์ให้หน่อย

เท่านั้นแหละค่ะ จากเดิมที่มีผู้ใช้งานอยู่ 70 คน ก็กระโดดขึ้นไปมากกว่าหนึ่งพันคนภายในเวลาแค่สองสามวันเท่านั้น (ช่างเป็นเพื่อนที่ทรงอำนาจจริงๆ)

 

การแพร่กระจายของแอพพ์ซาราฮาห์เป็นไปอย่างรวดเร็วราวไฟลามทุ่ง แอพพ์ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในประเทศอาหรับ เริ่มจากเลบานอน ลามไปตูนิเซีย แล้วก็ไปโด่งดังในอียิปต์ในช่วงต้นปี 2017

ในที่สุด ซึ่งตอนนั้นก็นับเป็นช่วงพีกของแอพพ์ เพราะพอเข้าอียิปต์ได้ปุ๊บ ยอดผู้ใช้งานก็พุ่งขึ้นเกินสามล้านคนไม่นานหลังจากนั้น

พอยึดครองโลกอาหรับได้แล้วเขาก็ตัดสินใจจ้างทีมพัฒนาซาราฮาห์ในรูปแบบแอพพลิเคชั่น เปลี่ยนให้เป็นภาษาอังกฤษ และนำไปวางไว้บนร้านแอพพ์สโตร์

ซึ่งก็ทำให้ประเทศอื่นๆ ในโลกได้รู้จักซาราฮาห์ด้วย

ซาราฮาห์ดีดตัวขึ้นไปเป็นแอพพ์อันดับท็อปของร้านแอพพ์สโตร์ในหลายประเทศ และลามไปถึงบนร้านค้าแอพพ์ของกูเกิลเช่นกัน

ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดนี้ทำให้ทอฟิกต้องวางแผนลาออกจากงานประจำในบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง และมาทุ่มเทพัฒนาซาราฮาห์อย่างเต็มตัวเลยทีเดียว

ทอฟิกบอกว่าเขาเริ่มมองเห็นโอกาสของซาราฮาห์มากกว่าการใช้งานเพียงแค่ภายในองค์กรเท่านั้น

ในชีวิตส่วนตัวเราก็สามารถใช้แอพพ์นี้ได้ อย่างเช่นในกรณีที่เพื่อน ครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง ต้องการจะบอก แนะนำ หรือวิจารณ์อะไรบางอย่างเพื่อให้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่กล้าพอจะบอกซึ่งๆ หน้า ก็สามารถทำผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้เช่นกัน

 

สาเหตุที่ซาราฮาห์ได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วนั้นก็น่าจะเป็นเพราะอะไรบางอย่างที่ทำให้เราโหยหาสถานที่ที่เราสามารถสื่อสารกันได้อย่างตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบผลลัพธ์ของคำพูด หรือในบางกลุ่มอาจต้องการใช้ในการสื่อสารเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของตัวเองอย่างการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นนิรนามมันมีทั้งส่วนที่ให้ประโยชน์และส่วนที่เป็นโทษ

สิ่งหนึ่งที่มาควบคู่กันกับการอยู่ในสถานที่ที่ทุกคนเป็นนิรนาม ก็คือการกลั่นแกล้งกันบนโลกไซเบอร์ หรือ Cyberbullying นั่นเอง เพราะเมื่อไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเองแล้ว การจะด่าทอ เหยียดหยาม ดูถูก กลั่นแกล้งคนอื่นก็กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายแสนง่าย

ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับแพลตฟอร์มนิรนามอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Secret, Whisper หรือที่ฮิตๆ ในบ้านเราอยู่ช่วงหนึ่งอย่าง ask.fm ที่เปิดให้ส่งคำถามคำตอบกันได้โดยผู้ถามไม่ต้องเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริง ซึ่งมันก็คือรูปแบบเดียวกับซาราฮาห์นั่นแหละค่ะ

ต่างกันตรงที่ ซาราฮาห์เป็นแอพพ์เดียวที่ดันตัวเองขึ้นมาป๊อปปูล่าร์ระดับโลกและอันดับหนึ่งบนแอพพ์สโตร์ได้

ทอฟิกเองก็รู้ดีว่ามีโอกาสที่แพลตฟอร์มของเขาจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยการกลั่นแกล้งกันบนโลกไซเบอร์ และเขาก็พยายามป้องกันไว้ทุกวิถีทาง

อย่างเช่น การเพิ่มฟีเจอร์การกรองคำหยาบคายออก การทำให้ผู้ใช้งานสามารถบล๊อกบุคคลไม่พึงประสงค์ได้

และจะเพิ่มฟีเจอร์เหล่านี้ไปเรื่อยๆ

 

ซู่ชิงคิดว่าสิ่งที่ทอฟิกทำก็เป็นเรื่องดีนะคะ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกลั่นแกล้งกันบนแพลตฟอร์มที่ยืนยันจะคงความเป็นนิรนามเอาไว้แบบนี้ได้หรอก

แต่เอาเข้าจริงๆ บางครั้งความรู้สึกคนเรานั้นก็เปราะบางและถูกทำร้ายได้ง่ายดายกว่าที่คิด ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือก่นด่ากันสาดเสียเทเสีย

บางครั้ง “ความจริง” ที่มีคนบอกเราอย่างตรงไปตรงมานี่แหละค่ะที่อาจจะเป็นมีดกรีดหัวใจได้ลงลึกที่สุด

ดังนั้น ใครที่ใจไม่แข็งพอ ฝึกวิทยายุทธ์มาไม่มากพอ และรู้ว่าตัวเองเจ็บช้ำจากน้ำคำของคนอื่นได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม

ซู่ชิงคิดว่าเลี่ยงแพลตฟอร์มเหล่านี้ไปก่อนน่าจะปลอดภัยกับสุขภาพจิตมากที่สุดค่ะ