ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
เปลี่ยนผ่าน
ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
คุยเรื่อง ‘การเมือง-การม็อบ’
กับ ‘ส.ส.สมัยเดียว’
ชื่อ ‘เจี๊ยบ อมรัตน์’
ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี เพิ่งได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” หรือ “ส.ส.เจี๊ยบ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และเส้นทางการเมืองในอนาคตของตัวเธอเอง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ในฐานะนักการเมืองที่เข้าไปสังเกตการณ์พื้นที่การชุมนุมต่างๆ โดยต่อเนื่อง เราขอให้ ส.ส.อมรัตน์ช่วยเปรียบเทียบความเหมือน-ความต่างระหว่าง “ม็อบสองกลุ่มหลัก” ประจำปี 2564 นั่นคือ “ม็อบทะลุแก๊ส” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่นแถบดินแดง และ “คาร์ม็อบ” ซึ่งดำเนินการโดย “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” และ “สมบัติ บุญงามอนงค์” (บก.ลายจุด)
“ทั้งกลุ่มทะลุแก๊ซและกลุ่มคาร์ม็อบออกมาเรียกร้องบนท้องถนนเหมือนกัน มาใช้เสรีภาพการชุมนุมบนท้องถนนเหมือนกัน ออกมาด้วยอารมณ์คับแค้นสิ้นหวัง ด้วยอารมณ์เศร้าสลด จากผลกระทบที่ได้รับเหมือนๆ กัน คือผลกระทบจากการตกงาน ผลกระทบจากการต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มาด้วยวัตถุประสงค์เหมือนกัน แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป”
นี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นของ ส.ส.ก้าวไกล
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเลือกใช้ยุทธวิธีการปราบปรามผู้ชุมนุมขั้นเด็ดขาดเหมือนเมื่อปี 2553 นักการเมืองหญิงชาวนครปฐมก็เอ่ยปากฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่า
“บริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ารัฐจะเลือกใช้วิธีเดิมคือการปราบอย่างรุนแรงอย่างที่เคยทำ ผลลัพธ์มันก็จะไม่เหมือนเดิมค่ะ”
ก่อนที่ ส.ส.เจี๊ยบจะลงรายละเอียดน่าสนใจเกี่ยวกับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ”
“เท่าที่พูดคุยและประเมินด้วย เขาคิดว่ามันเป็นการสะสมชัยชนะ เขาก็ทราบดีอยู่แล้วว่ามันก็เสียเปรียบทางด้านทรัพยากรอะไรทุกอย่าง แต่เขาก็คิดว่ามันเป็นการตอบโต้ความคับแค้น มันเป็นพื้นที่ที่เขาได้แสดงออก ได้ระบายออก
“โดยเฉพาะอย่างม็อบทะลุแก๊ซ คนที่ออกมาชุมนุมก็อายุต่ำลงๆ ตอนแรกก็จะ 18-23 พอต่อมาตอนนี้เหลืออายุแค่ 14 ล่าสุด เด็ก 12 ขวบ 10 ขวบ ก็มีออกมา…
“เมื่อวานนี้ ไปสังเกตการณ์ที่หน่วยพยาบาลสามแยกดินแดง ที่เต็นท์พยาบาลก็จะมีเด็กๆ ผู้ชุมนุมเข้ามาทำแผลกันเยอะเลย เป็นพวกแผลจากการถูกยิงกระสุนยาง แผลฉกรรจ์ก็มี บางคนก็เพิ่งโดนยิงกระสุนยาง มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปรับมา แล้วก็พอทำแผลเสร็จ ถ้าแผลไม่ได้รุนแรงอะไรมากก็ถามว่าน้องจะกลับบ้านไหม? เขาก็บอกไม่กลับ เขาจะไปสู้ต่อ”
หน้าที่หนึ่งซึ่งโดดเด่นของ ส.ส.จำนวนมากจากพรรคก้าวไกล ก็คือการออกมาช่วยประกันตัวเหล่าเยาวชนที่ถูกคดีความเพราะร่วมชุมนุมประท้วง กระทั่งอมรัตน์เองเพิ่งระบุผ่านสื่อมวลชนว่าอยากให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่เหลือ เข้ามาปฏิบัติภารกิจด้านนี้บ้าง แม้จะทราบดีว่านักการเมืองส่วนใหญ่วิตกกังวลเรื่องอะไร
“หน้าที่ของ ส.ส. ตอนสมัยเด็กๆ เราก็เห็น ส.ส.เขตบ้านเรา ไม่ว่าประชาชนจะไปเล่นไพ่ ไปเล่นการพนัน แล้วโดนจับ ก็วิ่งไปหา ส.ส. ให้ ส.ส.ไปประกันตัวให้ สามี-ภรรยาทะเลาะกัน ทำร้ายร่างกายกัน ก็ไปเรียกให้ ส.ส.ไปประกันตัวให้ที่โรงพัก ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นหน้าที่ปกติธรรมดา
“แล้วก็การประกันตัวมันไม่ได้เป็นการแสดงว่าเราชี้ว่าใครถูกหรือใครผิด เป็นการให้เขามีอิสรภาพ มีเสรีภาพที่จะออกมาหาพยานหลักฐานเพื่อไปต่อสู้คดีเท่านั้นเองค่ะ”
เพราะการหมั่นออกแอ๊กชั่นช่วยเหลือ “เยาวรุ่น” ผู้กระตือรือร้นทางการเมืองนี่เอง ที่ทำให้พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังม็อบ ซึ่ง ส.ส.เจี๊ยบตอบโต้ข้อหาดังกล่าวว่า
“ส่วนตัวไม่ได้กังวลใจ ก็มีรำคาญใจบ้าง ยอมรับว่ามีความรำคาญใจ เพราะเราก็ทราบดีด้วยตัวเองอยู่แล้วว่าจะมาฟ้องร้องดำเนินคดีอะไร ข้อกล่าวหามันต้องมีหลักฐาน เราทราบดีว่าไม่มีหลักฐานที่จะให้เรา (ถูก) ฟ้องร้องดำเนินคดีได้
“แล้วก็อยากจะบอกไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่า การที่มีวิธีคิดอย่างนี้ เหมือนเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ถ้าคิดว่ามีผู้ใหญ่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง คุณก็จะแก้ปัญหาได้ผิดทาง เพราะคุณไม่ได้ยอมรับความจริงว่า ความคับแค้นความโกรธแค้นมันมีจริงๆ”
ไม่ใช่แค่การถูกเพ่งเล็งว่าอยู่ข้างหลังม็อบป่วนรัฐบาล แต่ ส.ส.ก้าวไกลบางคน รวมทั้งอมรัตน์ ยังมีชื่อติดอยู่ใน “แบล็กลิสต์” ของหน่วยงานความมั่นคง อย่างไรก็ดี นักการเมืองหญิงรายนี้กลับไม่หวาดหวั่นต่อภัยคุกคามดังกล่าว
“คือถ้าเทียบกับสิ่งที่ได้พบเจอมาตลอด ตั้งแต่ปี 2549-2552-2553 หรือว่าตลอดเส้นทางที่เดินมา จนกระทั่งมามีพรรคอนาคตใหม่ ต้องมีการยุบพรรค เรามีเพื่อนที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ มีเพื่อนที่ถูกยัดเยียดดำเนินคดีต่างๆ นานา ต้องไปอยู่ในเรือนจำเยอะแยะ
“เรื่องที่ตัวเองได้เจอตอนนี้ ถ้าเทียบกับที่ได้เจอมากับเพื่อนที่ร่วมอุดมการณ์ เรื่องที่ (ตัวเอง) เจอไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยค่ะ”
เราชวนอมรัตน์วกเข้าสภา เพื่อพูดคุยถึงกระบวนการดูด-ซื้อตัว “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายระลอก กระทั่งเธอได้เปิดเผยข้อมูลระดับลึกแต่ไม่ลับอันน่าตื่นตะลึงไม่น้อย
“สำหรับบางคนที่เห็นมาด้วยตา เพียงแค่ออกไปคุยกับเขาที่ร้านกาแฟ จะตกลงว่าไปหรือไม่ไป ก็ได้แล้วนะคะ 1 ล้านบาท อย่างเช่นขอนัดคุย ออกมาคุยกันหน่อย นัดกันเนี่ย เขาบอกจะมาไม่มาไม่เป็นไร แค่ออกมาก็ให้แล้ว เราก็ได้รู้ได้เห็นได้ฟังจากเรื่องจริงที่เพื่อน ส.ส.ด้วยกันก็เล่ากัน”
แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่มี “งูเห่า” ปรากฏชัดเจนมากที่สุด คือ พรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหม่เดิม ซึ่ง ส.ส.คนดังแห่งเมืองนครปฐม ชี้แจงว่าทางพรรคพยายามป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำอีกในการเลือกตั้งรอบหน้า แม้มันจะเป็นเรื่องยากแสนยากก็ตาม
“เราก็ได้เจอปรากฏการณ์นี้มาสองระลอก ก็ถอดบทเรียน ก็ระมัดระวังรอบคอบป้องกัน อย่างเช่น ในการคัดเลือกตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในรอบต่อไป เราก็จะมีมาตรการการกลั่นกรอง การคัดกรองอุดมการณ์คนที่ตรงกับเราให้เข้มงวดมากขึ้น
“แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ความมั่นคงทางจิตใจของมนุษย์เวลาเห็นเงินที่เท่ากับน้ำหนักตัวเอง มันไม่มีการที่จะการันตีอะไรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์”
“ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” แสดงความคิดเห็นทั้งหมดนี้ในฐานะคนที่ประกาศตัวอย่างชัดเจน ว่าจะทำงานการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่สมัยเดียว!
“เรื่องนี้ในส่วนตัวได้เคยบอกไปแล้วนะคะ เคยโพสต์สาธารณะไปแล้วด้วย ก็คิดว่าคงไม่เปลี่ยนใจ คิดว่าจะไม่ได้ลงเลือกตั้งแล้วนะคะ แต่ว่ายังจะเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ต่อไปจนครบวาระ แล้วก็จะช่วยงาน ซึ่งมีงานอื่นๆ อีกมากมายในการสร้างพรรค งานที่จะทำเกี่ยวกับกิจกรรมการปักธงทางความคิด
“ซึ่งมีภาระหน้าที่ในเบื้องหลังอีกมาก ที่ไม่ใช่งานเบื้องหน้า”