คำ ผกา | สิบห้าปีแล้วนะคนดี

คำ ผกา

ไม่น่าเชื่อว่าการรัฐประหารปี 2549 นั้นผ่านมาถึง 15 ปีแล้ว เป็น 15 ปีที่เราได้สูญเสียอะไรไปบ้าง?

การเมืองระบอบประชาธิปไตยเต็มใบอันมีสารตั้งต้นที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เพิ่งจะได้ตั้งไข่ เราผ่านการเลือกตั้งมาแค่สองครั้ง และครั้งที่สองนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับไม่สามารถอยู่ครบเทอมเพราะถูกรัฐประหารเสียก่อน

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ปี 2564 เรากลับต้องมาอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่อาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

มิพักต้องพูดถึงนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ทำการรัฐประหารมี 2557 เป็นบุคคลที่ไร้ทั้งภาวะผู้นำ ไร้ทั้งความสามารถทางการบริหาร

แต่คนแบบนี้กลับจะได้อยู่ในอำนาจนครบ 8 ปี

รัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะไม่ดีเลิศ สมบูรณ์แบบ แต่ผลแห่งการออกแบบความสัมพันธ์ของแต่ละสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ มันบ่อนเซาะ ทำลายการเมืองระบบเจ้าพ่อ มาเฟีย และระบบอุปถัมภ์ บุญคุณต่างๆ ที่เคยงอกงามอยู่ในการเมืองไทยยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และในยุคนั้น ฉันไม่เห็นใครจะมีปัญหากับ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง หรือออกมาตีโพยตีพายว่า มันคือการล้มล้างการปกครองอะไร อย่างที่เราได้พบกันในสมัยต่อมา

ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ระบบการเลือกตั้งบัตรสองใบ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ทำให้คนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการไปลงคะแนนเสียง

เราไม่ชอบ ส.ส.ที่เป็นแคนดิเดตในพื้นที่ของเรา แต่เราชอบนโยบายของพรรคที่เขาสังกัด เราก็แค่ไปเลือกแคนดิเดตคนที่เราชอบ แล้วไปกาเลือกปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคที่เรานิยมในนโยบาย

ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ตอบโจทย์รอยต่อของการเมืองที่ครึ่งหนึ่งยังมีความผูกพันกับเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ที่บางคนอาจจะเรียกมันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม”

ในช่วงรอยต่อนี้ ประชาชนอาจจะยังเลือก ส.ส.เขตที่บารมีส่วนบุคคล ที่ความกว้างขวางในท้องถิ่น เลือกเพราะใจถึงพึ่งได้ เลือกเพราะเขาขยันไปงานบุญ งานศพ เลือกเพราะเขามีบุญคุณ เคยช่วยเหลือเจือจานกันมาในยามที่เราลำบาก ฯลฯ

แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเลือกพรรคที่ตนเองชอบในนโยบายที่อาจเป็นคนละพรรคกับ ส.ส.เขตที่เรารู้สึกผูกพันกันอย่างเป็น “ส่วนตัว”

ประเด็นนี้สำคัญมากสำหรับการเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยในความเห็นของฉัน

เช่น ถ้าฉันเป็นคนสุพรรณฯ ฉันยังเลือก ส.ส.เขตของพรรคคุณบรรหาร ศิลปอาชา ขณะเดียวกันก็ไปโหวตปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคไทยรักไทยได้ เพราะชอบนโยบาย หรืออาจจะเลือก ส.ส.เขตเป็นชาติไทยพัฒนาแต่ไปโหวตปาร์ตี้ลิสต์ให้ประชาธิปัตย์ เป็นต้น

และในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ก็อาจจะมีคนเลือก ส.ส.เขตเป็นเพื่อไทย แล้วไปกาปาร์ตี้ลิสต์ให้ก้าวไกลก็ย่อมเป็นไปได้

และนี่เป็นครั้งแรกที่คนไทยได้สัมผัสกับคำว่า “ประชาธิปไตยกินได้” การ “กินได้” นี้ก็ไม่ได้ซับซ้อน เข้าใจยากอะไร ในเมื่อประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดชัยชนะของการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่อยาก “ชนะ” การเลือกตั้งก็ต้องแข่งกันทำงานเพื่อประชาชน “รัก”

สี่ปีแรกของการเป็นรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย พิสูจน์ให้คนไทยเห็นว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคนั้นสามารถผลักดันทำให้นโยบายที่พรรคของตนไปสัญญากับประชาชนเอาไว้นั้นทำได้จริง เพราะกุมเสียงข้างมากในสภา

ไม่ต้องถูกกันซีนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

 

พรรคไทยรักไทยที่ได้เป้นรัฐบาลในสมัยแรก จึงสามารถผลักดันหลายนโยบายที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนกล้าทำ

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเอสเอ็มอี

เริ่มต้นกระจายอำนาจอย่างจริงจัง (มองในยุคนั้นรู้สึกว่ายังกระจายไม่พอ พอมาปี 2564 นี้ มองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่า หูย กระจายอำนาจได้ขนาดนั้นก็ปังปุริเย่มากแล้ว และจนทำให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นหลายเป็นเสี้ยนหนามของรัฐบาลเผด็จการและรัฐราชการมาจนถึงทุกวันนี้)

พรรคไทยรักไทยทำทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพราะเป็น “คนดี” แต่เพราะอยากชนะการเลือกตั้ง

ถามว่า ทำไมอยากชนะการเลือกตั้ง

คำตอบคือ ถ้าตั้งพรรคการเมืองแล้วไม่อยากชนะการเลือกตั้ง จะตั้งพรรคมาเพื่อนั่งเกากีเกากวยไปวันๆ หรือ?

พรรคไทยรักไทยคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ประชาชน “นิยม” ตนเอง นโยบายแบบนี้จะ “ซื้อใจ” ประชาชนได้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำไป

แต่พรรคไทยรักไทยอาจจะไม่รู้ตัวหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนบางอย่างที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับ transition ของการเมืองไทย นั่นคือ การทำให้รัฐราชการและรัฐรวมศูนย์อ่อนแอลง และการทำให้ระบบอุปถัมภ์ เจ้าพ่อ มาเฟียต้องปรับตัว

ระบบหัวคะแนน ซื้อเสียง ตั้งซุ้มมือปืน การลอบสังหารหัวคะแนนคนสำคัญ ฯลฯ เหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของสังคมไทย แต่หลังจากที่พรรคไทยรักไทยสามารถทำให้คนหันมาสนใจ “นโยบายพรรค” ได้ ก็ทำให้เจ้าพ่อท้องถิ่น มาเฟีย นักการเมืองนักเลงต้องปรับตัว พวกเขาไม่ได้เป็น “คนดีขึ้น” แต่การจ่ายเงิน และการจ้างมือปืนไปยิงคู่แข่งทางการเมืองไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าอีกต่อไป

รุ่นพ่ออาจจะจบชีวิตไปในคุก แต่รุ่นลูกต้องไฮบริดความเป็นเจ้าพ่อ นักเลง เข้ากับการสวมบทบาทนักการเมืองยุคใหม่ครีเอตนโยบาย “สมัยใหม่” ที่โดนใจฐานเสียงและเพื่อ “ลบข้อครหา” ของนักการเมืองเจ้าพ่อที่เป็นรุ่น “พ่อ” ของตัวเองด้วย เพราะหากลบล้างภาพจำเก่าๆ ไม่ได้ โอกาสชนะการเลือกตั้งก็ยาก เมื่อโอกาสชนะการเลือกตั้งยาก โอกาสที่จะได้เข้าไปอยู่ในพรรคที่มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

สมการมันง่ายๆ เช่นนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือคนไม่ดีอะไร

 

แน่นอนว่ามันไม่สวยงาม สมบูรณ์แบบ อย่าลืมว่านี่แค่การเลือกตั้งสมัยเดียว อยู่ๆ จะให้เจ้าพ่อ ระบบอุปถัมภ์ หายวับไปกับก็คงใช่ที่ นักการเมืองเถื่อนๆ ยังอยู่ การซื้อเสียงยังอยู่ การใช้อำนาจมืดยังอยู่

สารพัดความเลวระยำก็ยังไม่หายไปไหนหรอก

แต่ฉันกำลังจะชี้ให้เห็นว่า โดยระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยมันกำลังจะค่อย shape สังคมไปทีละเล็กทีละน้อย การเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยกวาดที่นั่ง ส.ส.มาถึง 346 ที่นั่ง และนี่เองที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มมองเห็นทักษิณเป็นภัยคุกคาม

ประชานิยม

คอร์รัปชั่น

เผด็จการรัฐสภา

บ้าอำนาจ

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่า รัฐบาลทักษิณไม่มีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องเลย และปฏิเสธไม่ได้ว่า “มวลชน” ที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยตอนนั้นมีความ “ทักษิณฟีเวอร์” อย่างมหาศาลจนน่ากังวลว่าจะเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคล

แต่ความฟีเวอร์อันนี้ เราก็ควรมองมันอย่างเข้าใจด้วยเช่นกันว่า เกษตรกร ชาวรากหญ้า คนขับแท็กซี่ ผู้มีรายได้น้อย เหล่านี้ นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขามี “ตัวตน” ทางการเมือง

นี่เป็นครั้งแรกที่เขาสำคัญในสายตาของรัฐบาลและนายกฯ บ้านเอื้ออาทร หวยบนดิน โอท็อป แท็กซี่คันแรก การได้โดยสารเครื่องบินครั้งแรกเพราะมีสายการบินโลว์คอสต์ ความสามารถที่จะซ่อมบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียนหนังสือ ฯลฯ

ใช่ คนเหล่านี้ไม่สนใจเรื่องทักษิณละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีกรือเซะ ตากใบ หรือจากการทำสงครามกับยาเสพติด

และมวลชนที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยเหล่านี้ส่วนมากมีอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมค่อนข้างจะขวาจัดในทุกมิติเสียด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกใจที่ทักษิณมีศัตรูทุกด้าน ทั้งชนชั้นนำในแบบแผนประเพณี ปัญญาชนทั้งซ้ายและเสรีนิยมเชิงวัฒนธรรม นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์

ฝ่ายขวาจัดอนุรักษนิยมกลัวทักษิณเพราะป๊อปปูลาร์มากเกินไป

ส่วนฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมกลัวทักษิณจะพาสังคมไทยไปในทางขวาจัดคลั่งอุดมการณ์อนุรักษนิยม

เป็นความย้อนแย้งฉะนั้นฉะนี้ที่น่าปวดหัวเอามากๆ

แต่ความย้อนแย้งหรือแม้กระทั่งความ “บ้าอำนาจ” ของทักษิณที่กร่างคิดว่าตัวเองมี 346 เสียงจะไม่นำมาสู่ความหายนะของประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ หากเราจะช่วยกันทำงานทางความคิด อยู่กับประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้ง หาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่สนับสนุนวาทกรรมประหลาดๆ ของนักการเมืองชั่ว เราต้องการคนดีมาปกครองบ้านเมืองแล้วไปจบที่การรัฐประหาปี 2549

ถ้าไม่มีการรัฐประหารปี 2549 เราจะมีการเลือกตั้งต่อเนื่อง มีแต่การเลือกตั้งทุกๆ 4 ปีอย่างต่อเนื่องที่จะเป็นเครื่องมือตอกย้ำให้ประชาชนค่อยๆ ฝังจิตสำนึกว่า อันตัวกูนั้นไซร้คือเจ้าของประเทศ นักการเมืองมาแล้วก็ไป ครบสี่ปีเมื่อไหร่ อำนาจนั้นก็กลับมาเป็นของเรา และเราจะชี้เป็นชี้ตายพวกเขาอีกครั้ง

ไม่แต่การเมืองระดับชาติ การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่ต่อเนื่องก็จะไปเสริมพลวัตของการเมืองระดับชาติ ภาวะตระหนักรู้มั่นใจว่า กูคือเจ้าของอำนาจ เจ้าของประเทศก็จะค่อยๆ เพิ่มพูนเข้มแข็งขึ้นทุกวันๆ

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2540 มาจนถึงปีนี้ 2564 เท่ากับว่า เราอยู่ปนประชาธิปไตยมา 24 ปี เท่ากับว่าเราจะได้เลือกตั้งระดับชาติถึง 6 ครั้ง! ได้เลือกผู้ว่าฯ กทม. ได้เลือกนายก อบต. ได้เลือกนายก อบจ. ได้เลือกนายกเทศมนตรีวนไป

ไม่มีใครทำนายได้หรอกว่า ประเทศชาติมันจะดีขึ้น หรือมันย่ำอยู่ที่เดิม

แต่ที่แน่ๆ ประชาชนจะไม่กลายเป็นหมูหมากาไก่ให้เขาถ่มถุย เย้ยหยัน เอาขี้มายีหัวเล่นอย่างทุกวันนี้

พรรคไทยรักไทยอาจจะเสื่อมความนิยม

ทักษิณอาจจะเสื่อมความนิยมไปตามความยาวนานของอำนาจที่ถือครองเอาไว้ หรืออาจแกร่งกว่าเดิม หรือเมื่อมีคนอีกเจนหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง 20 ปีผ่าน เราอาจมีผู้นำประเทศแบบไช่อิงเหวิน ของไต้หวัน ฯลฯ

เราจะเป็นอะไรได้ ถ้าวันนั้นไม่มีรัฐประหาร

หรือเราอาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่ที่แน่ๆ คือเรายังเป็นประชาชนเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจ และนั่นคือสิ่งเดียวที่เราไม่พึงจะต้องสูญเสียมันไปเพียงเพราะความเขลาของสลิ่มและปัญญาชนถือดีติดดีทั้งหลายที่ยังสลัดภาพหลอนของทักษิณไม่หลุด ทนเห็นชาวบ้านเลือกไม่เหมือนตัวเองไม่ได้

อย่าให้ต้องกลับไปซ้ำรอยเดิมอีกเลย