คณิตศาสตร์เลือกตั้ง ภาคบัตรสองใบคืนชีพ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

คณิตศาสตร์เลือกตั้ง

ภาคบัตรสองใบคืนชีพ

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อแก้ระบบการเลือกตั้งผ่านวาระที่สามไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2564 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 472 เสียง โดยเป็นคะแนนของ ส.ส. 323 เสียง และ ส.ว. 149 เสียง ไม่เห็นชอบ 33 เสียง เป็นคะแนนของ ส.ส. 23 เสียง และ ส.ว. 10 เสียง และงดออกเสียง 187 เสียง โดยเป็นคะแนนของ ส.ส. 121 เสียง และ ส.ว. 66 เสียง

หลักการสำคัญของการแก้ไขมี 2 ประการ คือ

หนึ่ง เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100

และสอง เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือกผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละเขตเลือกตั้ง และอีกใบหนึ่งเป็นการเลือกพรรคโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งแล้วนำผลคะแนนที่ได้ไปคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

ในด้านรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะต้องไปถกกันในขั้นของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการเสนอโดยพรรคการเมืองพรรคใหญ่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองพรรคใหญ่จริงหรือไม่

ในขณะที่นักการเมืองจากพรรคใหญ่ก็ออกมาบอกประชาชนว่า ไม่ได้แก้เพื่อตนเองแต่เป็นการแก้บนหลักการที่ควรจะเป็น

ดังนั้น การทดลองคำนวณที่จะนำเสนอจะเป็นการบอกว่า จริงหรือไม่จริง หรือใครได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนกติการบ้านเมืองดังกล่าว

ข้อตกลงเบื้องต้นก่อนการคำนวณ

การคำนวณจากนี้เป็นการใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์คำนวณตามหลักการในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 โดยใช้รูปแบบการคำนวณตามแบบคู่ขนานหรือระบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian System – MMM) ที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และ 2550 โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นดังนี้

1) การใช้ฐานคะแนนผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่เผยแพร่ทั่วไป (อ้างอิงจากไทยวิกิพีเดีย)

2) ใช้พรรคที่มีอยู่ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562

3) คะแนนนิยมพรรคและผู้ที่พรรคเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เปลี่ยนแปลง

วิธีการคำนวณ

ก.ในส่วนของ ส.ส.เขต ใช้วิธีการขยายสัดส่วนจาก 350 คนเป็น 400 คน ด้วยวิธีการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ ดังนั้น จะได้จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.28 ตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทยเคยได้ ส.ส.เขตจำนวน 136 เขต เพิ่มตามสัดส่วนดังกล่าวเป็น 155 คน

ข. การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีกระบวนการตามขั้นตอนดังนี้

1) นำคะแนนจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ คำนวณเป็นร้อยละ 100

2) นำคะแนนบัตรบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคที่ได้รับ เทียบบัญญัติไตรยางศ์เป็นร้อยละ

3) จัดสรรรอบที่หนึ่ง ให้แก่พรรคที่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นจำนวนเต็ม

4) จัดสรรรอบที่สอง โดยเรียงจากเศษ จากพรรคที่มีเศษสูงสุดไปจนครบจำนวน 100 คน

ค. นำจำนวน ส.ส.เขตที่ขยายใน ก. รวมกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใน ข. เป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่มีในสภาของแต่ละพรรคการเมือง

 

ผลการคำนวณ

จากแผนภูมิที่ 1 แสดงจำนวน ส.ส.เขตที่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการเพิ่ม ส.ส.เขตจาก 350 คน เป็น 400 คน ด้วยวิธีการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ โดยมีพรรคที่ได้ ส.ส.เขตจำนวน 9 พรรค โดยเพื่อไทยได้สูงสุดเป็น 155 เขต และ รพปช. และชาติพัฒนาได้น้อยสุดคือ 1 เขต

ส่วนผลการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยใช้วิธีการเทียบบัญญัติไตรยางศ์เทียบคะแนนของพรรคเป็นร้อยละต่อคะแนนทั้งหมดปรากฏว่ามี 11 พรรคที่ได้รับการจัดสรรในรอบแรกได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากจำนวนเต็ม 91 คน มีเศษ 9 คน

สำหรับการจัดสรรในรอบที่สองโดยเรียงจากพรรคที่มีเศษสูงสุด ทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 100 คน จากพรรคการเมืองทั้งสิ้น 14 พรรค

ซึ่งหมายความว่า พรรคเล็กๆ ที่เคยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากการปัดเศษแบบที่เคยคำนวณตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาคราวนี้ จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หายไปถึง 12 พรรคการเมือง

โดยพรรคที่ถูกตัดออกไปมีคะแนนตั้งแต่ 35,099 จนถึง 80,186 คะแนน

พูดง่ายๆ แม้จะปัดเศษ ก็ต้องมีเศษเกิน 100,000 คะแนนจึงจะมีโอกาสได้ ส.ส. ไม่ใช่ 30,000-40,000 ก็ได้ ส.ส.ปัดเศษแล้วหนึ่งคนเช่นในอดีต

ผลการเปรียบเทียบ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม (150 คน) กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบใหม่ แสดงให้เห็นในตารางที่ 2

จากแผนภูมิที่ 2 พรรคที่ได้กำไรจากการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งไปใช้บัตรสองใบและนับคะแนนแบบคู่ขนาน มีเพียง 3 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย เพิ่มขึ้น 22 ที่ พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มขึ้น 5 ที่ และพรรคประชาชาติ เพิ่มขึ้น 1 ที่

ในขณะที่พรรคการเมืองอีก 11 พรรคมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง

โดยกระทบต่อพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลในปัจจุบันสูงสุด และพรรคเล็กที่เคยมี ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 12 พรรค อาทิ พรรคพลังปวงชนไทย จนถึงพรรคพลังธรรมใหม่ ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว

 

แก้กติกาใหม่ ใครได้ ใครเสีย

หากจำแนกพรรคการเมืองเป็น 3 กลุ่ม คือ พรรคใหญ่ พรรคกลาง และพรรคเล็ก ผลจากการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นเป็นผลบวกชัดเจนต่อพรรคขนาดใหญ่ โดยพรรคเพื่อไทยเพิ่มจากการคำนวณแบบเดิมถึง 22 คน พปชร. เพิ่ม 5 คน ในขณะที่พรรคกลางได้รับผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก

โดยพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่เดิม) จากที่เคยได้รับในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 ถึง 50 คน จะลดลงเหลือ18 คน ประชาธิปัตย์จาก 20 คนเหลือ 11 คน ภูมิใจไทยจาก 12 เหลือ 11 คน ในขณะที่เสรีรวมไทย จาก 10 คนเหลือ 3 คน

พรรคเล็กนั้นมีแค่สองสถานะ คือ ได้ 1-2 คน หรือสูญพันธุ์ โดยมีพรรคที่เหลือ 2 คน คือ ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ และเศรษฐกิจใหม่ ที่เหลือ 1 คน มี 5 พรรคคือ เพื่อชาติ รพปช. ชาติพัฒนา พลังท้องถิ่นไท และรักษ์ผืนป่าฯ ส่วนที่เหลืออีก 12 พรรคที่เคยมี ส.ส.ในสภา 1 คนนั้นไม่ได้ ส.ส.

ระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบใหม่ในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งจะมีผลนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น จึงเป็นการออกแบบระบบที่ส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เป็นระบบสองพรรคการเมือง และนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพในรัฐบาลหากรัฐบาลในอนาคตพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้

การเมืองไทยดูจะไม่ไปไหน เดินไปเดินมาก็เดินกลับไปสู่สิ่งที่เคยส่งเสริมให้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

สัจธรรม คือ ระบบใดเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน ระบบนั้น คือระบบที่ดีที่สุด