เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวเมื่อ…/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ
สุภา ปัทมานันท์

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวเมื่อ…

 

ญี่ปุ่นได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติว่าจัดโตเกียว โอลิมปิก 2020 และ พาราลิมปิกเกมส์ ในปีนี้ ได้สำเร็จอย่างราบรื่นดี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นในสายตาชาวโลก น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด -19 สายพันธุ์ใหม่เดลต้า ก็ทำให้ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นใกล้รับมือไม่ไหวอยู่ขณะนี้

สำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจโดยส่งแบบสอบถามไปยัง 100 บริษัทใหญ่ๆ ในธุรกิจต่างๆ อาทิ ผู้ผลิต ค้าปลีก ขนส่ง อาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม เป็นต้น ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม – ต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ถามความเห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นกลับไปอยู่ก่อนการระบาดของโควิด -19 ได้เมื่อไร

คำตอบที่ได้คือ “ครึ่งแรกของปี 2022” 30 บริษัท “ครึ่งหลังของปี 2022” 24 บริษัท นอกจากนี้ “ปี 2023” 16 บริษัท และอื่นๆ คือ “ปี 2024” สรุปได้ว่า กว่า 70% คาดว่าจะกลับไปเหมือนเดิมได้นับแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

เหตุผลที่สนับสนุนคือ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากขึ้น ให้ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตตามเดิมให้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริง มีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีก ต้องฉีดวัคซีนเพิ่มอีก น่าจะทำให้การฟื้นตัวต้องยืดเวลาออกไปอีก

คำถามว่า ปัจจัยสำคัญที่คิดว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้คืออะไร 82 บริษัท ตอบว่า “การบริโภคส่วนบุคคล” 26 บริษัท ตอบว่า “ขึ้นอยู่กับนโยบายมหภาคของรัฐบาล” 23 บริษัท ตอบว่า “การเพิ่มการลงทุนด้านสาธารณูปโภค” และอื่นๆ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากบริษัทต่างๆที่ทำการสำรวจว่า “ขอให้เร่งฉีดวัคซีนให้คนวัยทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อให้คนออกมามีกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้น” “เร่งผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อช่วยให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น” และ “เร่งวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่จะเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น รองรับสังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย ขาดแคลนแรงงาน ที่เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ”

เมื่อถามถึงสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ 54 บริษัท ตอบว่า “ไม่ค่อยขยายตัว นิ่งๆ” “ขยายตัวช้าๆ” 39 บริษัท และมี 1 บริษัทที่ตอบว่า “ขยายตัวดี”

เหตุผลที่ตอบว่า “ไม่ค่อยขยายตัว นิ่งๆ” คือ “กิจกรรมต่างๆถูกจำกัดเนื่องจากการประกาศ

มาตรการฉุกเฉิน และมาตรการป้องโรค” 82.5% “การบริโภคส่วนบุคคลหดตัวลงมาก” 83.3% และ “การฉีดวัคซีนช้า” 48.1%

เมื่อถามเหตุผลของบริษัทที่ตอบว่า “ขยายตัวช้าๆ” และ “ขยายตัวดี” 72.5% ตอบว่า “เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา” 55% ตอบว่า “มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น” และ 50% ตอบว่า “เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแล้ว”

น่าสังเกตว่ามีคำตอบแยกกันเป็น 2 ขั้ว ระหว่างธุรกิจที่เห็นว่าเศรษฐกิจ “ไม่ขยายตัว นิ่งๆ” กับ “ขยายตัวอย่างช้าๆ” เป็นเพราะมีหลายธุรกิจได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกาและจีน และมีหลายธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบจากการที่ผู้คนยังต้องอยู่บ้านกันต่อไปอีกนั่นเอง

เห็นได้จากกำไรสุทธิงวดเดือนเมย. – มิ.ย.ของกลุ่มบริษัทโตโยต้าเพิ่มขึ้น 5.6 เท่าของงวดเดียวกันของปีก่อน คือ ราว 8.79 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงสุดเท่าที่เคยมีมา จากการที่สหรัฐอเมริกาและจีนเร่งฉีดวัคซีนและควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้มีความต้องการใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น

กลุ่ม Sony ได้รับผลดีจากความต้องการของผู้คนที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน(巣ごもり需要)ทำให้การขยายตัวของความต้องการเครื่องเสียงดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา บริษัทมีผลกำไรเพิ่มขึ้น 26% ราว 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทีเดียว

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มสายการบิน ANA ต้องประสบภาวะขาดทุนในงวดเดียวกันนี้ถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนกลุ่มห้างสรรพสินค้าใหญ่ มิตสุโคชิอิเซตัน โฮลดิ้งส์ ต้องขาดทุนจากการหยุดกิจการตามมาตรการของรัฐบาลถึง 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

เห็นได้ชัดว่า การอยู่บ้านหรือการออกไปมีกิจกรรมนอกบ้านน้อยลงจากมาตรการฉุกเฉินทำให้กลุ่มค้าปลีก ขนส่ง อาหาร ท่องเที่ยว เป็นต้น มีผลประกอบการลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกหนึ่งข่าวใหญ่ในสื่อญี่ปุ่น คือการประกาศขายอาคารสำนักงานใหญ่กลางกรุงโตเกียวของบริษัทท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ JTB มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากผลขาดทุนเมื่อปิดงบเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรักษากระแสเงินสดจึงต้องรีบขายทรัพย์สิน และมีแผนลดจำนวนสาขาทั่วประเทศ เลิกจ้างพนักงานราว 7,200 คนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกับเตรียมออกหุ้นกู้บุริมสิทธิด้วย

นักวิจัยของ มิซูโฮรีเสิร์ชแอนด์เทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า “ญี่ปุ่นมีการฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว มีผลต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจ แต่ขณะนี้ได้เร่งฉีดวัคซีนแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัวภายในสิ้นปีนี้ และฟื้นตัวอย่างจริงจังต้นปีหน้า แต่หากมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีก ทำให้การผ่อนคลายมาตรการต่างๆช้าลง ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหาร การท่องเที่ยว ค้าปลีก ทำให้มีต้นทุนทางการเงิน เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนอาจแบกรับไม่ไหว ทำให้ต้องปิดตัวหรือประสบภาวะล้มละลายได้”

ถ้าประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีนที่ดีอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จนป้องกันการระบาดได้ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว ก็อย่าเพิ่งหวังลมๆแล้งๆว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว(จากการเปิดประเทศ)ในเดือนตุลาคมนี้…เฮ้อ…