คุณหนังสือและเกราะทางสังคม/บทความพิเศษ มีเกียรติ แซ่จิว

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

คุณหนังสือและเกราะทางสังคม

 

นับแต่ผู้เขียนลาออกจากงานประจำที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (เกราะทางสังคม) แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งทำงานเขียนเต็มเวลา แม้ว่าสิ่งที่มุ่งจะไม่ลื่นดังใจหวัง แต่ก็ยังไม่ลดละเลิกความพยายาม ยังคงเขียนต่อไป จนกระทั่งช่วงโควิด-19 ระบาดหนักรอบ 3

ผู้เขียนจึงต้องหาหนทาง ‘อยู่รอด’ เมื่อไม่มีรายได้ประจำคอยซัพพอร์ตประคบประหงมเหมือนแต่ก่อน โดยการ ‘ปล่อย’ ของสะสมที่เก็บมาตั้งแต่เด็กเพื่อแลกกับการยังชีพต่อไป

และสิ่งแรกที่นึกคิดขึ้นได้โดยไม่ลังเลก็คือ ‘หนังสือการ์ตูน’ คอลเล็กชั่นสะสมพิมพ์แรกหลากหลายชุด เรียกได้ว่า หนึ่งตู้หนังสือเต็มๆ

ทั้งชุดสะสมคลาสสิคอย่าง ‘ดราก้อนบอล’ ฉบับพิมพ์แรกของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (สมัยที่ยังไม่มีแจ๊กเก็ตหุ้มอยู่นอกปกเล่มละ 25 บาท), เซนเซยา เทพบุตรดาวหาง พิมพ์แรกของสำนักพิมพ์มิตรไมตรี (เล่มบาง เล่มละ 10 บาท), นักเรียนนายร้อยเดนตาย (เล่มหนาก่อนยุคลิขสิทธิ์), โจโจล่าข้ามศตวรรษ (ภาค 1-5 จำนวน 63 เล่ม)

รวมถึงหนังสือคลาสสิคตลอดกาลอย่าง ‘รันม่า 1/2’ และ ‘ลามู ทรามวัยจากต่างดาว’ (พิมพ์แรกของวิบูลย์กิจ 34 เล่มจบ), ถนนสายนี้เปรี้ยว หรือที่รู้จักในชื่อ Orange Road ยังไม่นับรวมหนังสือรายสัปดาห์อย่าง The Talent อีกกองพะเรอที่ซื้อเก็บไว้มานาน (จำได้ว่าหลายเล่มซื้อที่มาบุญครองเซ็นเตอร์ชั้น 4 ตั้งแต่แม่พาไปซื้อจนไปด้วยตัวเอง) ทยอยเทขายให้กับแฟนานุแฟนนักสะสมตัวจริงจนหมดตู้!

ทีแรกก็ใจหายวาบ อารมณ์อาลัยอาวรณ์เหมือนเจี๊ยบวิ่งไล่ตามน้อยหน่าในภาพยนตร์เรื่อง ‘แฟนฉัน’ แต่พอผ่านไปสักพัก ก็เริ่มทำใจได้ “คิดเสียว่า ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ชีวิตก็คงเท่านี้” คิดเลยเถิดไปอีกว่า “ไม่ตายก็หาใหม่ได้” คิดให้สบายใจกว่านี้ “ตายไปก็เอาไปไม่ได้” ปลุกปลอบลูบหลังลูบไหล่ด้วยสองมือของตัวเองกันไป

ผ่านมาอีกราว 2-3 เดือน ก็มีเหตุให้ผู้เขียนต้องปล่อยของรักอีกครั้ง คราวนี้เป็นชุดเครื่องเล่นเกมที่สะสมมาแต่เด็กอีกเช่นกัน เรียกว่าสะสมก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเริ่มเล่น (และเก็บใส่ตู้) มาตั้งแต่ Nintendo Famicom เครื่องขาว-แดง, Mega Drive เครื่องดำ ของค่าย SEGA, Game Boy อ้วนจอขาว-ดำ, Game Gear เครื่องดำจอสี พร้อม TV Tuner สำหรับต่อดูทีวี, Super Famicom และหัว Pro. เล่นแผ่นดิสก์ รวมทั้งตลับเกมของแต่ละเครื่องซึ่งเก็บไว้ในสภาพดีก็มีอยู่ไม่น้อย ได้ทยอยปล่อยออกไปเหมือนคราวแรกจนหมดอีกเช่นกัน

แล้วเจ้าความรู้สึกแบบเดิมๆ ก็แวะวนเวียนกลับมาเยี่ยมเยียนเหมือนภาพฉายซ้ำ

มิหนำซ้ำยังคิดต่ออีกว่า ยังไงๆ ก็ไม่คิดเก็บไว้แล้วก็ขายๆ มันออกไปให้หมดเลยแล้วกัน

ผู้เขียนจึงนำม้วนวิดีโอทั้งกล่องกระดาษและกล่องพลาสติกอย่างชุด ‘อุลตร้าแมน’, ‘ไอ้มดแดง’ และยอดมนุษย์แปลงร่างเรื่องอื่นๆ อีกหลายสิบม้วน รวมถึงการ์ตูนยอดฮิตอย่าง ‘โดราเอม่อน’ ของค่ายไรท์พิคเจอร์ นำมาเทกระจาดขายสนั่นให้กับเหล่านักสะสมไปอีกในคราวเดียวกัน

เรียกว่าสิ่งที่เคยมองเห็นผ่านตาอยู่ทุกวัน ค่อยๆ หายดับไปทีละอย่างสองอย่าง และเพียงพริบตาเดียว อดีตแต่ละชิ้น ความจดจำแรก สัมผัสแล้วนึกขึ้นได้ก็ค่อยๆ หายไปจากชีวิต ซึ่งหากแม้วันหนึ่งวันใดได้กลับคืนมาก็คงจะไม่ใช่เล่มเดิมที่เคยซื้ออ่าน เครื่องเดิมที่เคยซื้อเล่น (จากร้านม้าไม้มาบุญครอง) วันวานกับของสะสมเหล่านี้ จึงสลายกลายเป็นเพียงอดีตให้หวนระลึกจดจำเพียงเท่านั้น

 

ไม่กี่วันก่อนที่ผ่านมานี่เอง ขณะที่ผู้เขียนกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ พลันเกิด ‘แปลกใจ’ ขึ้นมา (พร้อมกวาดสายตามอง) ว่าทำไมหนังสือสองตู้และที่อยู่ในลังพลาสติกอีกหลายใบ ผู้เขียนจึงไม่คิดขายไปเหมือนของสะสมอื่น

ผู้เขียนจึงเริ่มกลับมาคิดทบทวนว่า ‘ทำไม’ เราจึงเลือก (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ให้หนังสือการ์ตูนจากไปเป็นอย่างแรก ตามมาด้วยเกมเป็นอย่างที่สอง ม้วนวิดีโอเป็นอย่างที่สาม

แต่ทำไมทั้ง 1, 2, 3 ไม่มีหนังสืออยู่ในความคิดเลย

เมื่อเกิดคำถามก็ตั้งคำถามนี้กับตัวอยู่นาน นานพอจนได้คำตอบขึ้นมาในเช้ามืดวันหนึ่ง (เช้าวันที่เขียนบทความชิ้นนี้) โดยไม่รู้ว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องจริงหรือผิดทั้งหมด แต่มันก็ไหลเข้ามาอยู่ในหัวของผู้เขียนแล้ว

ผู้เขียนตอบตัวเองได้ว่า ‘หนังสือ’ เมื่ออ่านจบแล้วยังอ่านซ้ำได้ และใช้เป็นแหล่งอ้างอิงได้อีกเมื่อต้องการหาข้อมูลบางอย่างจากหนังสือเล่มนั้นๆ อีกประการหนึ่งที่น่าสำคัญไม่แพ้กัน คือผู้เขียนหยิบจับหนังสือมากกว่า ‘หนังสือการ์ตูน’ ที่ใส่ซองพลาสติกใสเก็บใส่ตู้กันฝุ่นไว้อย่างดี (แทบจะไม่ได้หยิบมาอ่านซ้ำ) เช่นเดียวกับ ‘เครื่องเล่นเกม’ ที่นานๆ จะหยิบออกมาปัดฝุ่นเล่นเพียงเพื่อระลึกถึงวัยวันเก่าๆ ส่วน ‘ม้วนวิดีโอ’ ก็แทบจะไม่ได้นำมาเปิดดูเลย แม้จะยังมีเครื่องเล่นที่ใช้งานได้อยู่ก็ตาม

หนังสือจึงไม่ได้อยู่ในลิสต์ตัวเลือกแรกๆ ของผู้เขียนเลยตั้งแต่ต้น

เช่นเดียวกับตอนนี้ที่ผู้เขียนยังคงเขียนอยู่ เมื่อมองย้อนกลับไปจากเด็กวัยรุ่นต้น 20 ที่นั่งนอนดูหนังข้ามวันข้ามคืน ซื้อนิตยสารเอนเตอร์เทน, สตาร์พิคส์, ไบโอสโคป มาอ่าน อ่านมากเข้าก็เริ่มอยากเขียนวิจารณ์หนังกับเขาบ้าง

หลายปีถัดมาจึงเริ่มขยับขยายช่องทางฝึกหัดเขียนเรื่องสั้น บทกวี จนกระทั่งมาเขียนบทความอย่างในทุกวันนี้

การเขียนยังเป็นลมหายใจเข้าออกของชีวิตเสมอมา

 

แม้จะหลุดลอยออกจากกรอบเกราะของสังคมงานประจำ แม้รายได้จะหดหายไปมากเกินครึ่ง แต่ก็น่าแปลกที่ผู้เขียนก็ยังคงอ่านและเขียนอยู่

น่าแปลกที่งานเขียนยังคงเป็น ‘สิ่งเดียว’ ที่หยัดยืนอยู่กับผู้เขียนมาตลอด ยังคอยยึดเหนี่ยวจิตใจ ยามโลกระส่ำระส่าย ยังคอยพัดวีโบกโบยพาผู้เขียนหลุดลอยหายเข้าไป แม้ยามนี้จะต้องกักตัวอยู่บ้าน เว้นระยะห่างไม่ปฏิสัมพันธ์กับใคร แต่ก็ยังอยู่ได้ เพราะมีหนังสือ

ซึ่งทั้งหมดจากจุดเริ่มจนถึงตอนนี้ อันดับแรกคงต้องขอบคุณ ‘คุณ’ จากหนังสือทุกเล่มที่ทำให้ชีวิตของผู้เขียนได้มาอยู่ตรงจุดนี้ ถัดมาคงต้องขอบคุณตัวเองที่อย่างน้อยๆ ในชีวิตหนึ่งได้ออกจากเกราะออกมาทำ (‘ได้ทำ’ ก็ชนะใจตัวเองแล้ว)