วิช่วลคัลเจอร์/สเตริโอไทป์กับดีไซน์ (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

สเตริโอไทป์กับดีไซน์ (1)

สเตริโอไทป์ (stereotype) หรือ ภาพเหมารวม เป็นศัพท์จิตวิทยาที่ใช้เรียกมุมมองที่มีต่อพฤติกรรมของคน ไม่ว่าจะเป็นนิสัย หน้าตา เครื่องแต่งกาย หรือสิ่งแวดล้อม

เดิมเป็นคำกลางๆ แต่ในยุคที่สื่อสังคมเฟื่องฟู คำนี้หมายถึงภาพลักษณ์ที่ตายตัว ไม่ว่าจะมองไปที่ความคิด นิสัย สไตล์ หรือหน้าตาของกลุ่มไหน และคำว่า “การมองคนแบบสเตริโอไทป์” ส่อความหมายในทางลบ หรือดูหมิ่นเหยียดหยามมากขึ้น ซึ่งมักจะตามมาด้วยการถูกตอบโต้ ต่อต้าน และฟ้องร้องกันอยู่เนืองๆ

อันที่จริง ไทป์ซึ่งตรงกับคำว่าแบบฉบับและตัวพิมพ์นั้น เป็นศัพท์วงการพิมพ์และดีไซน์ คำว่าสเตริโอไทป์ก็เช่นกัน หมายถึง แม่พิมพ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งถือกันว่า เฟียร์เมง ดิโด (Firmin Didot) นักออกแบบตัวพิมพ์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่ 18 หรือปี ค.ศ.1798

ดิโดเป็นผู้ออกแบบตัวพิมพ์ชื่อ Didone ซึ่งเป็นตัวพิมพ์แบบมีเชิงหรือ serif และโด่งดังในประวัติศาสตร์ตัวพิมพ์ละติน ตัวพิมพ์นี้มีคอนทราสต์ของเส้นนอนกับตั้งมาก จึงคล้ายกับ Bodoni ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะดิโดเป็นคนร่วมสมัยเดียวกับ ยามบาติสต้า โบโดนี่ (Giambattista Bodoni) ผู้ออกแบบตัวพิมพ์ชาวอิตาลี และทั้งสองคนเป้นผู้เริ่มการออกแบบตัวพิมพ์กลุ่มที่เรียกว่า Modern

การทำแม่พิมพ์แบบสเตริโอไทป์ เริ่มจากเรียงตัวพิมพ์ตะกั่วจนเสร็จ แล้วจึงพิมพ์หรือกด ด้วยด้วยวัสดุอ่อนเช่นแผ่นขี้ผึ้งหรือกระดาษ (paper marche) จากนั้นจึงเอากระดาษนี้ไปทำหล่อด้วยโลหะอีกที แม่พิมพ์ที่ถูกถอดแบบออกมาจากตัวพิมพ์และพร้อมจะพิมพ์ เรียกว่าสเตริโอไทป์

นี่เป็นหนึ่งในกระบวนการทำแม่พิมพ์ และเป็นขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการเรียงพิมพ์กับการพิมพ์ ถ้าจำนวนพิมพ์สูง วิธีนี้จะช่วยลดแรงงานและราคาในการทำแม่พิมพ์และการเรียงใหม่ได้มาก

ปลายศตวรรษที่ 19 โรตารี่ซึ่งเป็นแท่นพิมพ์เลตเตอร์เพรส แต่มีแม่พิมพ์โค้งและใช้กระดาษม้วน ทำให้สเตริโอไทป์มีบทบาทมากขึ้น แม่พิมพ์โรตารี่ทำด้วยโลหะแผ่นโค้งและวางลงบนลูกกลิ้งทรงกระบอกของแท่นพิมพ์ ระบบการพิมพ์ด้วยลูกกลิ้งนี้เกิดขึ้นก่อนการพิมพ์ออฟเซ็ต และส่วนมากใช้กับหนังสือพิมพ์รายวัน แม่พิมพ์สเตริโอไทป์ทำให้การพิมพ์เร็วขึ้นมาก ทั้งนี้ก็ด้วยการเก็บแม่แบบไว้ จึงพิมพ์ด้วยแท่นมากกว่าหนึ่งแท่นได้

เมื่อปีที่แล้ว เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ เพิ่งจะลงรูปในโอกาสครบรอบร้อยปีของหนังสือพิมพ์ ซึ่งแสดงกระบวนการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรส ตั้งแต่การเรียงพิมพ์ที่ใช้เครื่องไลโนไทป์ การทำแม่พิมพ์แบบสเตริโอไทป์ และการพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์กระดาษม้วน

ในประเทศไทย แม้สเตริโอไทป์จะมีบทบาทในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ใช้กันน้อยและไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก หนังสือ “อนุสรณ์งานศพ กำพล วัชรพล” เล่าว่า ตั้งแต่ยุค “เสียงอ่างทอง” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นระบบออฟเซ็ต ขณะที่สำนักงานและโรงพิมพ์ยังตั้งอยู่ที่บางลำพู หรือราว พ.ศ.2500 หนังสือพิมพ์ก็ใช้ระบบโรตารี่และแม่พิมพ์แบบสเตริโอไทป์เหมือนกัน

การที่สเตริโอไทป์หรือภาพเหมารวม กลายมาเป็นศัพท์จิตวิทยา เริ่มโดย วอลเตอร์ ลิปแมน นักจิตวิทยาชาวอเมริกันในตอนปลายศตวรรษที่ 19

ลิปแมนเอามาจากศัพท์การพิมพ์ยุคเลตเตอร์เพรส แม่พิมพ์คือการสร้างเบ้าหลอมอันหนึ่งแล้วปั๊มสิ่งที่เหมือนๆ กันออกมาอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งกว่านั้น ในขั้นตอนการเรียงพิมพ์ ตัวตะกั่วยังสามารถถูกนำมาเรียงกันใหม่ สลับกันไปมา แถมเมื่อใช้เสร็จแล้วยังเอากลับมาใช้ใหม่ได้อีก สเตริโอไทป์จึงตรงกับการมีภาพที่ตายตัว หรือเอาไปยัดเยียดหรือแปะไว้กับคน

โดยทั่วไป ตัวพิมพ์มีความสำคัญ เพราะไปเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องลายมือหรือภาษาเขียนสมัยก่อนถึงสองอย่าง อย่างแรก ตัวพิมพ์ทำให้ตัวหนังสือหรือสิ่งที่เคยเป็นเพียงลายมือ มี “เอกรูป” เช่น ถ้าคุณพิมพ์ ก ไก่ มันก็จะออกมาเหมือนกันทุกครั้ง เรียกว่ามันมีบุคลิกหรือมีสไตล์เดียวกัน เหมือนเอาคนไปสวมยูนิฟอร์ม คนจะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและสังกัด มากกว่าจะเป็นปัจเจก

อย่างที่สองคือ ตัวพิมพ์ทำให้ตัวหนังสือมีความ “นิรันดร์” ซึ่งแปลว่าคงที่ ยกตัวอย่าง ถ้าเราเขียนหนังสือด้วยลายมือแล้วพิมพ์มันออกมา เราจะรู้สึกว่าน่าอ่านกว่าตอนที่เขียน ตัวพิมพ์คือสิ่งที่นิ่งแล้ว จบแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป อันนี้เป็นรากของการพิมพ์

ทั้งหมดนี้ทำให้ศัพท์เกี่ยวกับตัวพิมพ์ให้ความหมายเดียวกับสเตริโอไทป์ เอกรูปและนิรันดร์ คือสาระของภาพเหมารวม

ดีไซเนอร์ควรมีความเข้าใจเรื่องแบบนี้ เริ่มจากการยอมรับว่า ไทป์หรือภาพเหมารวมของคนหรือกลุ่มคน เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี และทำให้การสื่อสาร กระชับและรวดเร็ว สเตริโอไทป์ทำให้เราพูดถึงกลุ่มคนด้วยโปสเตอร์ที่มีภาพภาพเดียวได้

แต่ภาพภาพนั้นก็สร้างความเข้าใจผิดได้ เพราะมักจะตายตัวเกินไป ยัดเยียดความเป็นกลุ่มมากเกินไป เช่น ชนชั้นกลางในเมืองที่แต่งตัวสวยงาม ผู้บริหารที่ใส่สูท กรรมกรที่สวมหมวกกันกระแทก ทั้งหมดนี้เป็นภาพเหมารวมที่ยอมรับกัน ทั้งๆ ที่ก็ไม่ตรงต่อความจริงสักเท่าไหร่

ภาพลักษณ์ของคนไทยก็เป็นสเตริโอไทป์ เพราะในความจริง คนไทยหมายถึงคนที่หลากหลาย และเป็นคอนเซ็ปต์แบบนามธรรม แต่เราต้องหาภาพที่สื่อตัวตนของเขาออกมาให้ได้

ถ้าพูดในเชิงศิลปะ ดีไซเนอร์คือผู้ที่เล่นกับภาพเหมารวม ซึ่งหมายถึงการเอาสูตรสำเร็จหรือ Clich? เก่าๆ มาผสมกันให้กลายเป็นของใหม่