‘คนขับรถรถระยะไกล’ บริการใหม่แห่งอนาคต/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

‘คนขับรถรถระยะไกล’

บริการใหม่แห่งอนาคต

 

เราพูดกันเสมอว่าอนาคตแห่งยานพาหนะก็คือรถยนต์ไร้คนขับที่จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่มาจากความบกพร่องของผู้ขับที่เป็นมนุษย์รวมถึงช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นจากพันธะของการต้องนั่งบังคับยานยนต์อยู่หลังพวงมาลัย และเอาเวลาที่ได้คืนมาไปทำอะไรที่มีประโยชน์อีกหลายๆ อย่าง

ระดับความอัตโนมัติของรถยนต์เองก็ถูกแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ

เริ่มจากระดับ 0 ที่ไม่มีความอัตโนมัติอะไรเลย มนุษย์ยังคงต้องบังคับควบคุมพวงมาลัย เบรก คันเร่ง และฝ่าการจราจรเอาเองเหมือนกับที่เราทำมาโดยตลอด

ไต่ขึ้นมาเป็นระดับ 1 ที่รถยนต์สามารถควบคุมพวงมาลัยหรือความเร็วเองได้

สู่ระดับ 2 ที่รถยนต์มีความเป็นอัตโนมัติบางส่วน

ตามด้วยระดับ 3 รถยนต์ขับตัวเองได้แต่จะเตือนให้มนุษย์เข้ารับช่วงต่อทันทีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น

ระดับ 4 รถยนต์ขับตัวเองได้เต็มที่ในบางพื้นที่ และระดับ 5 อัตโนมัติเต็มรูปแบบ คนไม่ต้องยุ่ง ใส่แค่จุดหมายปลายทาง นั่งกระดิกเท้าก็ถึงที่หมายได้

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็จะต้องมีสองส่วนที่ประกอบเข้าด้วยกัน คือ รถยนต์ และมนุษย์ที่นั่งในรถยนต์ แต่ก็มีอีกหนึ่งเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติที่ไม่ได้ถูกจัดเข้าไปในหมวดหมู่ไหน และยังเพิ่มผู้เกี่ยวข้องเข้ามาอีกหนึ่งภาคส่วน

นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า teledriver หรือคนขับรถระยะไกลค่ะ

เทคโนโลยีนี้เตรียมเปิดตัวโดยบริษัทผู้พัฒนายานยนต์อัตโนมัติสัญชาติเยอรมันที่มีชื่อว่า Vay แผนของ Vay ไม่ใช่การทำรถยนต์ที่ขับตัวเองได้แบบไม่ต้องพึ่งคน แต่จะใช้คนด้วยกันนี่แหละมาช่วยขับรถแทนให้ในบางช่วง

คนขับที่ว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ในรถคันเดียวกันแต่จะขับรถคันนั้นมาจากระยะไกล ซึ่งจะว่าไปก็มีความกึ่งๆ อัตโนมัติแบบไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีการประมวลผลของคอมพิวเตอร์แต่ได้ผลลัพธ์เหมือนกันก็คือคนในรถไม่ต้องขับเอง

คนขับรถระยะไกลจะช่วยขับรถมาจากสเตชั่นคอมพิวเตอร์ของตัวเองที่ออกแบบมาให้เหมือนกำลังนั่งขับรถอยู่จริงๆ มีทั้งพวงมาลัย คันเร่ง เบรก หน้าจอมอนิเตอร์ต่างๆ ให้ดูข้อมูลที่สำคัญของรถ

และที่สำคัญก็คือ จะต้องมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เร็ว เสถียร และค่าความหน่วงต่ำมากด้วย

 

คอนเซ็ปต์หลักๆ ของรถยนต์อัตโนมัติแบบนี้ก็คือโดยพื้นฐานแล้วตัวรถยนต์เองจะสามารถขับตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อย่างเช่น ถ้าอยู่ในถนนหรือรูปแบบการจราจรที่ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรนักรถก็จะขับตัวเองไปได้เรื่อยๆ

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รถเข้าไปยังบริเวณที่ต้องอาศัยความสามารถในการขับมากขึ้นและระบบอัตโนมัติไม่สามารถทำเองได้แล้ว คนขับรถระยะไกลก็จะเข้ามารับช่วงต่อและขับแทนให้ทันที

คอนเซ็ปต์แบบนี้อาจจะเรียกได้ด้วยอีกชื่อหนึ่งก็คือ human in the loop (HIL) หรือการให้คนเข้ามาอยู่ในลูปด้วย เอาคนเข้ามาช่วยในบางช่วงเพื่อทำให้รถอัตโนมัติมีความอัตโนมัติได้เต็มรูปแบบจริงๆ

นอกจากการเข้ามาช่วยขับแล้ว Vay ก็ยังเตรียมบริการไว้อีกรูปแบบหนึ่งก็คือบริการรถให้เช่า แต่เป็นรถให้เช่าที่สะดวกมากๆ เพราะผู้ใช้ไม่ต้องไปรับรถด้วยตัวเอง ส่วนบริษัทให้เช่าก็ไม่ต้องเสียกำลังคนมาส่งรถให้ลูกค้าถึงที่

ผู้ใช้งานแค่กดเรียกรถ Vay ผ่านทางแอพพลิเคชั่นแบบเดียวกับที่เราเรียกรถ Grab ทุกวันนี้ คนขับระยะไกลก็จะขับรถคันนั้นให้มาหาเราถึงที่ เราแค่เปิดประตูรถขึ้นไปนั่งขับด้วยตัวเอง

ใช้งานเสร็จลงจากรถ คนขับระยะไกลก็เข้ารับช่วงต่อเพื่อนำรถไปจอดหรือขับไปให้ลูกค้าคนถัดไปได้ใช้

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่พูดถึงเทคโนโลยีไร้คนขับก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ให้ความไว้วางใจเทคโนโลยีนี้สักเท่าไหร่และไม่เชื่อว่าคอมพิวเตอร์จะขับรถได้ดีกว่ามนุษย์ รวมถึงไม่เชื่อว่าคอมพิวเตอร์จะตัดสินใจหรือมีวิจารณญาณที่ดีกว่าคนได้

ดังนั้น ฉันคิดว่าโซลูชั่นแบบที่มนุษย์ยังมีส่วนร่วมในการขับอยู่บ้างแบบนี้ก็น่าจะเพิ่มความอุ่นใจให้ได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็น่าจะช่วยทำให้ความกังวลใจเรื่องการที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแย่งงานมนุษย์นั้นเบาบางลงไปได้ เพราะต่อให้รถยนต์มีความเป็นอัตโนมัติ แต่ก็จะยังต้องการคนที่จะมานั่งหลังพวงมาลัยอยู่ดี แม้จะเป็นพวงลัยที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรก็ตามเถอะ

ลองนึกภาพโกดังหรือสำนักงานใหญ่ๆ ที่เต็มไปด้วยสเตชันบังคับรถยนต์คล้ายๆ กับการเล่นเกมจำลองรถแข่ง พนักงานขับรถระยะไกลนั่งเรียงรายกันเป็นทิวแถว ต่างคนต่างก็มุ่งมั่นในการขับรถให้กับลูกค้าที่อยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศหรือทั่วโลก ก็ให้อารมณ์คล้ายๆ กับฉากใดฉากหนึ่งจากในซีรีส์ Black Mirror อยู่เหมือนกันนะคะ

หากพูดแต่ในด้านดี มันก็ดูสวยหรูอยู่ไม่ใช่น้อย เรานำข้อดีของทั้งคอมพิวเตอร์และมนุษย์มาผสมผสานเข้าด้วยกันกลายเป็นอนาคตแห่งการเดินทางในรูปแบบใหม่

แต่แน่นอนว่าไม่มีโซลูชั่นอะไรที่ไม่ได้มาพร้อมข้อควรระวังหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

 

การมีคนขับรถระยะไกลที่ทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้แปลว่าการเดินทางในแต่ละครั้งจะปลอดภัยหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าการเชื่อมต่อจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและไหลลื่นแค่ไหนแต่ก็คงไม่มีทางที่จะรวดเร็วไปกว่าคนขับที่นั่งอยู่ตรงนั้นและกำลังเผชิญเหตุการณ์อยู่ตรงหน้าจริงๆ ไปได้

ฉันแอบคิดไปไกลถึงปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของคนขับระยะไกล อย่างเช่น การที่ตัวของเขาเองไม่ได้นั่งอยู่ในรถคันเดียวกันและไม่มีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุนั้นจะทำให้การตัดสินใจในวินาทีฉุกเฉินต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากการนั่งเป็นคนขับที่ใช้เลือดเนื้อของตัวเองเป็นเดิมพันหรือเปล่า

หรือปัจจัยอื่นๆ อย่างความสัมพันธ์ระหว่างผู้โดยสารในรถกับคนขับระยะไกล ไปจนถึงการฉกฉวยผลประโยชน์จากช่องโหว่ของเทคโนโลยี ซึ่งความกังวลทั้งหมดนี้ก็น่าจะต้องได้รับการถกเถียงและหาวิธีป้องกันไว้ก่อนที่บริการคนขับระยะไกลแบบนี้จะเริ่มใช้งานจริงในยุโรปหรือบางส่วนของอเมริกาได้ในปีหน้าตามแผนที่วางเอาไว้

หากทุกอย่างลงตัวและเริ่มให้บริการได้จริงฉันก็คิดว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งการเดินทางแห่งอนาคตที่เปิดทางให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอาชีพแบบใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยมีมาก่อน แถมอาชีพของการขับรถระยะไกลก็อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีข้อจำกัดทางด้านต่างๆ สามารถทำงานได้มากขึ้นและไม่เกี่ยงว่าจะต้องเป็นเพศไหน

และคงเหมาะมากสำหรับยุคหลังโควิดเพราะคงจะไม่มีอะไรที่จะสามารถทิ้งระยะห่างระหว่างคนขับกับผู้โดยสารได้มากกว่านี้อีกแล้ว