โรงงานแมลงหมื่นล้านของไอรอนแมน/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

โรงงานแมลงหมื่นล้านของไอรอนแมน

 

ขวดโหลใบเขื่องบรรจุไปด้วยผงสีเหลืองอมเขียวอ่อนๆ ในมือโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) นักแสดงผู้โด่งดังจากบทไอรอนแมน ทำให้หลายคนสนใจ

“นี่คือผงบดมาจากหนอนนก เป็นโปรตีนแมลง เพิ่งจะได้รับการอนุมัติโดยอียูสำหรับเป็นอาหารมนุษย์”

โรเบิร์ตกล่าวในระหว่างที่คุยอยู่กับสตีเฟน โคลเบิร์ต (Stephen Colbert) ในรายการโชว์ยามดึกกับสตีเฟน โคลเบิร์ต (The Late Show with Stephen Colbert)

“คุณไม่ได้หลอกให้ผมกินกากอะไรใช่มั้ย” สตีเฟนถามสีหน้าทีเล่นทีจริง

“ไม่ๆ ผมไม่ได้หลอกคุณนะเกลอ เราลงเรือลำเดียวกันแล้ว” โรเบิร์ตตอบทันทีพร้อมเสียงหัวเราะ

“มันคือโปรตีนใช่มั้ย ไม่มีรสชาติอะไรเลย ถ้าเป็นอาหารเสริมโปรตีน ผมเอาใส่สมู้ตตี้ได้ใช่มั้ย” สตีเฟนถามอีกที

“ผมบอกคุณเลยว่าได้ และเดี๋ยวจะมีเอาไปทำอะไรออกมาอีกเยอะแยะ และที่สำคัญ ในการผลิต เราลดปริมาณการปล่อย (ก๊าซเรือนกระจก) ได้อย่างมหาศาล เราเคยทำพลาดไปในอดีต สิ่งนี้คือนวัตกรรม และถ้าเราทำถูก มันจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก มาก มาก เลยทีเดียว”

โรเบิร์ตย้ำ นัยน์ตาเป็นประกาย

 

ปฏิกิริยาของสตีเฟนไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะปกติผู้คนในชาติตะวันตกมักจะไม่คุ้นชินกับการกินแมลง

สันนิษฐานหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าในเขตหนาวอาจจะไม่ได้มีแมลงขนาดใหญ่ที่คุ้มค่ากับการล่าเอามากินเป็นอาหาร ก็เลยไม่ได้มีโอกาสมากนักที่จะได้ลองลิ้มชิมรสเมนูเปิบพิสดารหกขาเหมือนกับในหลายประเทศในเขตร้อน

แต่แมลงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โปรตีนสูง เต็มไปด้วยไขมันดี และธาตุอาหารต่างๆ เลี้ยงง่าย ใช้น้ำน้อย สามารถเลี้ยงเป็นแบบฟาร์มแนวตั้งได้ จึงใช้พื้นที่ไม่มาก อาหารที่ให้ก็หาได้ง่าย ต้นทุนต่ำ อาจจะเป็นของเสียเหลือทิ้งจากการเกษตร หรืออุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลไม้สุกงอมที่เริ่มเน่าเสีย หรือแม้แต่เศษผักเศษหญ้า ก็พอแล้วที่จะเอามาเพาะเลี้ยง

ถ้าเลี้ยงในปริมาณอาหารที่เท่าๆ กันแล้ว จิ้งหรีดจะให้โปรตีนได้สูงกว่าวัวถึง 12 เท่า แต่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าไม่นับว่าหน้าตาละม้ายคล้ายแมลงสาบที่ทำให้หลายๆ คนไม่กล้าแม้แต่จะสัมผัส จิ้งหรีดก็ดูจะเป็นหนึ่งแมลงที่ดูจะมีอนาคตไกล

ภาพจากรายการ The Late Show with Stephen Colbert

ในขณะที่อุณหภูมิโลกค่อยๆ ร้อนขึ้น พืชพรรณธัญญาหารเริ่มเติบโตแย่ลง ผลผลิตถดถอย แต่จำนวนประชากรกลับเพิ่มขึ้นทบเท่าทวีคูณ ยังไงปัญหาอาหารขาดแคลน คงเลี่ยงได้ยาก

“แมลงนั้นเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี และน่าจะเป็นหนึ่งในทางแก้วิกฤตอาหารสำหรับประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น” องค์กรอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติสรุปเอาไว้ในรายงานของพวกเขาเรื่อง แมลงกินได้ (edible insects) ที่เผยแพร่ออกมาในปี 2013

ปัจจุบัน จำนวนคนที่บริโภคแมลงก็นับได้ราวๆ 2.5 พันล้านคน ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง ก็ไม่ได้ถือว่าน้อย แต่ในมุมของยูเอ็น คนควรจะเริ่มหันมาสนใจกินแมลงกันมากขึ้น

คำถามก็คือ แล้วแมลงจะกลายเป็นอาหารที่ได้รับการยอมรับได้หรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับการกินอาหารเปิบพิสดาร

 

ยี่สิบปีก่อน เคยมีคนพยายามสำรวจทัศนคติของชนชาติตะวันตกกับการกินเนื้อปลาดิบๆ เสียงตอบรับกลับมาส่วนใหญ่คือเสียงร้องยี้ แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะในตอนนี้ เสียงที่จะได้ยินเวลาคนคีบซูชิเข้าปากกลายเป็น อื้มมมม…อร่อย เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

ดังนั้น ก็เป็นไปได้ว่าเวลาอาจจะทำให้ทุกสิ่งดำเนินไปได้เองตามครรลองที่ควรจะเป็น

ที่จริง ในตอนนี้ เมนูแมลงหลายจานก็ถึงขั้นติดอันดับจานนะนำของภัตตาคารหรูห้าดาว เสิร์ฟเป็นไฟน์ไดน์นิ่ง คู่กับไวน์ชั้นดี หรูไม่แพ้สเต๊กเนื้อลายหินอ่อน หรือขาปูอลาสก้าก็มีให้เห็นอยู่ตลอด และถ้าจะว่ากันตามจริง ถ้าเทียบวัตถุดิบแบบสดๆ ยังไม่ปรุง กิโลต่อกิโล แมลงก็อาจจะสนนราคาดุเดือดไม่ได้ด้อยไปกว่าอาหารทะเลชั้นดีอย่างแซลมอนหรือปูทะเลแม้แต่น้อย

แต่สินค้าแมลงที่จะมาตีตลาดใหญ่อย่างยุโรปอาจจะไม่ใช่แมลงอาหารตัวเด่นๆ ของประเทศเราอย่าง รถด่วน แม่เป้ง ตั๊กแตน หรือว่าไข่มดแดง

แต่อาจจะเป็น “หนอนนก”

 

ใช่แล้วครับ หนอนนก ที่ถูกเอามาบดเป็นผงที่สตีเฟน โคลเบิร์ต ชิมไปแล้วบอกไม่มีรสอะไรนั่นแหละ ตัวเดียวกันเลย

หนอนนก คือดาวเด่นของสตาร์ตอัพสัญชาติฝรั่งเศส อินเซกต์ (?nsect) ที่ได้ชื่อว่าเป็นฟาร์มแมลงเบอร์หนึ่งของโลก อินเซกต์ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหลายเวนเจอร์ รวมๆ แล้วหลายร้อยล้านเหรียญ และหนึ่งในนักลงทุนที่ทุ่มเงินมหาศาลลงไปกับสตาร์ตอัพนี้ก็คือกองทุน FootPrint Coalition ของโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์

จะบอกว่า “ไอรอนแมน สบทบทุนลงไปเยอะกับ หนอนนกบดผง” ก็คงไม่ผิด

อินเซกต์เพิ่งจะทุ่มเงินก้อนโตขนาด 372 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หรือราวๆ หนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท) เพื่อสร้างฟาร์มแมลงแนวตั้งขนาดมหึมาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเมืองอาเมียง (Amiens) ประเทศฝรั่งเศส

ระบบในฟาร์มนี้จะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมดตั้งแต่การผสมพันธุ์ การเพาะเลี้ยง การฆ่าเชื้อ แยกส่วนและหีบห่อ โดยจะมีผู้คนทำงานเข้าๆ ออกๆ อยู่ราวๆ 500 คน และจะมีกำลังการผลิตแมลงราวๆ หนึ่งแสนตันต่อปี โดยจะเน้นไปที่การผลิตโปรตีนจากแมลงเป็นหลัก

โปรตีนที่ว่าไม่ได้แค่เอามาเพื่อทำเป็นอาหารมนุษย์อย่างเดียว แต่ยังเพื่อเอาไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารด้วย อาทิ ปุ๋ย อาหารปลา อาหารไก่ อาหารหมู ไปจนถึงอาหารสัตว์เลี้ยง

“มหาสมุทรเริ่มจะว่างเปล่า ฟาร์มปลาเริ่มมาทดแทน เกือบๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของปลาที่เรากินกันตอนนี้มาจากฟาร์มปลา” อีฟส์ ซิสเทอรอน (Yves Sisteron) จากอัพฟรอนต์ เวนเจอร์ (Upfront Venture) หนึ่งในนักลงทุนของอินเซกต์กล่าว

ปัจจุบัน ความต้องการอาหารปลามีอยู่ราวๆ 44 ล้านตันต่อปีซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย เพราะอาหารปลาในฟาร์มก็มาจากปลา ส่วนใหญ่ก็พวกปลาเล็กปลาน้อย ปลาซิวปลาสร้อย ที่ติดอวนขึ้นมา ซึ่งถ้าจะให้รอลุ้นไปตลอดว่าจะมีติดอวนขึ้นมาเยอะแค่ไหน มากพอหรือไม่ ก็คงจะไม่ยั่งยืนทั้งกับระบบนิเวศน์และในเชิงธุรกิจ

และถ้ามองว่าหนอนนกของอินเซกต์สามารถให้โปรตีนที่มีคุณภาพสูงกว่า ในราคาที่ต่ำ กว่าถ้าอินเซกต์สามารถตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ ปริมาณ และการควบคุมได้ ตลาดอุตสาหกรรมประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็ไม่น่าจะหนีไปไหน

 

ยิ่งในตอนนี้ เหมือนเป็นเวลาทอง เพราะอียูเพิ่งจะอนุมัติให้ใช้แมลง หนอนนก ตั๊กแตน และจิ้งหรีด เป็นองค์ประกอบของอาหารได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งในสัตว์และในคน ประเทศที่เคยแบนอาหารแมลง ก็จะเริ่มเปิดรับมากขึ้น สำหรับตลาดอาหารคนจะใหญ่ขึ้นแค่ไหนนั้นยังบอกยากเพราะมันเป็นเรื่องของรสนิยม แต่ตลาดอาหารสัตว์อย่างหมูและไก่นั้น ถือว่าเป็นขุมทอง เพราะแมลงพวกนี้คืออาหารอันโอชะของพวกมันอยู่แล้วตามปกติ

อนาคต ตลาดแมลงคงจะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับอินเซกต์ นี่เป็นแค่ก้าวแรก พวกเขาไม่ได้อยากเป็นแค่ฟาร์มแมลงที่ใหญ่และไฮเทคที่สุด แต่ต้องการแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น

“ด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก เราต้องผลิตอาหารเพิ่มด้วยพื้นที่และทรัพยากรที่น้อยลง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องแผ้วถางป่า และรื้อทะเล เราเชื่อว่าอินเซกต์จะมีบทบาทที่สำคัญที่จะแก้ปัญหาโลก” แอนโทน ฮิวเบิร์ต (Antoine Hubert) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของอินเซกต์กล่าว

ชัดเจนว่าอินเซกต์อยากจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่จะมาแก้ปัญหาปากท้องของผู้คน และสิ่งแวดล้อมของโลกในอนาคต แม้จะฟังดูทะเยอทะยาน แต่ใครจะรู้ บางทีการลงทุนของไอรอนแมนอาจจะสร้างวีรบุรุษขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นได้…

ใต้ภาพ

ภาพจากรายการ The Late Show with Stephen Colbert