เครื่องเคียงข้างจอ : นาฏราชครั้งที่ 12 / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

นาฏราชครั้งที่ 12

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานประกาศผลรางวัล “นาฏราชครั้งที่ 12” โดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เวลาผ่านไปแวบเดียว นาฏราชจัดมาเป็นครั้งที่ 12 แล้ว

ในโอกาสที่ครบหนึ่งโหล เดิมทีตั้งใจจะจัดแบบงานใหญ่ให้สมกับครบ 12 ปี แต่ด้วยเจ้าโควิดติดเบรกไว้ ไม่อนุญาตให้รวมพลกันอลหม่านขนาดนั้นได้ วาระ 12 ปีที่ว่าจึงจัดแบบพิเศษที่เหมาะกับสถานการณ์ คือแบบ New Normal

New Normal อย่างไร คือมีเฉพาะการประกาศผลรางวัลและการแสดงบนเวทีเท่านั้น ไม่มีผู้มาร่วมงาน ไม่มีการขึ้นไปรับรางวัล เพื่อจำกัดจำนวนคนในงานตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิดในเวลานี้

งานปีนี้มีคอนเซ็ปต์ที่ว่า “ก้าวสู่วิถีใหม่ ด้วยหัวใจที่ผูกพัน Step to the New and Still Together” ความหมายคือ แม้เราจำเป็นต้องปรับตัวสู่วิถีการใช้ชีวิตใหม่ๆ แต่ความผูกพันระหว่างคนทำงานวิทยุและโทรทัศน์กับผู้ชมผู้ฟังยังคงผูกพันกันเหมือนเดิม

และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น รายการในปีนี้ จึงไม่ได้มีเพียงประกาศผลรางวัลเท่านั้น แต่นักแสดง นักร้อง พิธีกร ผู้ประกาศข่าวของวงการ ที่ได้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลแต่ละสาขาในปีนี้ ได้มอบคลิปเพื่อให้กำลังใจพี่น้องคนไทยผ่านทางรายการด้วย

 

รายการเปิดบรรยากาศการส่งกำลังใจและเพื่อย้ำถึงคอนเซ็ปต์ของงานด้วยการโชว์เพลง “หัวใจผูกกัน” ของ บอย โกสิยพงษ์ ขับร้องนำโดยดีว่าสาวเมืองไทย ดา เอ็นโดรฟิน และมีช่วงแร็พที่ได้ เดนนิส ไทคูน หวานใจของดา มาร่วมโชว์ด้วยกัน

ที่เป็นพลังมากขึ้นของโชว์นี้คือ ในท่อนฮุกของเพลงจะเป็นเกาเหลาคลิปร้องเพลงของนักแสดง นักร้อง พิธีกร และผู้ประกาศข่าว จากสถานี และผู้จัดรายการต่างๆ ถึง 80 คนที่แม้ตัวจะไม่ได้มาร่วมงาน แต่บอกผ่านความห่วงใยและความรักที่มีต่อพี่น้องคนไทยในยามนี้ ผ่านการร่วมร้องบทเพลงนี้

ในรายการมีการจัดทำมิวสิกวิดีโอรำลึกถึงคนในวงการที่ได้เสียชีวิตลงในปีนี้ ซึ่งมีอยู่ถึง 26 คนด้วยกัน แน่นอนที่ต้องมี “น้าค่อม ชวนชื่น” ที่เป็นที่รักของคนไทยรวมอยู่ด้วย โดยมีลูกสาวของน้าค่อมพูดรำลึกถึงการเป็นผู้ให้ของผู้เป็นพ่อด้วย

ทั้งหมดนี้ประกอบบทเพลง “เธอจะอยู่กับฉันตลอดไป” ของวงแคลช แต่ใช้เวอร์ชั่นที่ขับร้องโดยนักร้องดูโอ นิวจิ๋ว

ซึ่งน้ำเสียงของสองสาวนี้สามารถสร้างความรู้สึกร่วมได้อย่างดี

 

สําหรับปีนี้มีการมอบรางวัลทั้งหมด 39 รางวัล 2 ใน 39 นั้นคือ “รางวัลเกียรติยศด้านวิทยุ” และ “รางวัลเกียรติยศด้านโทรทัศน์” ซึ่งด้านวิทยุ ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ไปคือ “วิทยา ศุภพรโอภาส” นักจัดรายการที่มากประสบการณ์ มีลีลาการจัดที่ผู้ฟังชื่นชอบ ร่วมกับน้ำเสียง “แหบเสน่ห์” ที่เป็นเอกลักษณ์ วิทยาได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการวิทยุคือ การนำเพลงลูกทุ่งมาเปิดเป็นรายการแรกทางคลื่นเอฟเอ็ม ที่แต่ก่อนนั้นมีแต่เพลงสากล

เป็นรายการเพลงลูกทุ่งตลอด 24 ชั่วโมงที่มีคนติดงอมแงมจนได้รับความนิยมอย่างสูง และไม่เพียงจัดรายการวิทยุ แต่วิทยาได้สร้างกิจกรรมต่อเนื่องอีกหลายอย่างจนผลักดันให้วงการลูกทุ่งขยายวงกว้างของผู้ฟัง และได้รับความสำเร็จอย่างมาก

ส่วนด้านโทรทัศน์นั้น เป็นของ “ผศ.ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล” ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ด้านวิธีการนำเสนอรายการ “ข่าวโทรทัศน์” ที่เปลี่ยนโฉมทั้งเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และลีลาของผู้ประกาศข่าว ที่ตอนนั้น ดร.สมเกียรติได้ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวค่ำทางช่อง 9 อสมท คู่กับ กรรณิกา ธรรมเกษร และ ประชา เทพาหุดี ที่ประกาศข่าวกีฬา

หากใครยังจำลีลาการเสนอข่าวพยากรณ์อากาศแบบใหม่โดยวิทวัส สุนทรวิเนตร์ ในยุคนั้นได้ นั่นคือหนึ่งในการสร้างบุคลากรด้านข่าวยุคใหม่ของ ดร.สมเกียรติเช่นกัน ซึ่งก็สร้างนักข่าวหน้าใหม่ที่โด่งดังในยุคนั้น เช่น ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์, นิรมล เมธีสุวกุล, อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง เป็นต้น

 

สําหรับนาฏราชปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการมอบรางวัลให้กับผลงานละครและซีรีส์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ตามพฤติกรรมของคนในยุคนี้ และแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ได้เป็นสมาชิกใหม่ของสมาพันธ์ในปีนี้เช่นกัน

โดยมีการมอบให้ 5 รางวัล 1 ในนั้นเป็น Popular Vote ที่เปิดให้ผู้ชมเป็นคนส่งคะแนนโหวตมาเลือกผลงานที่เขาชื่นชอบในรางวัล “Drama Series of The Year” อีกด้วย

ซึ่งรางวัลสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ ซีรีส์ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” คว้ารางวัลไปถึง 4 รางวัล มีรางวัลนักแสดงนำหญิงเท่านั้น ที่มาจากเรื่อง “Mother… เรียกฉันว่าแม่” โดยผู้ได้รับรางวัลคือ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ที่ผลิตโดยเจ เอส แอล

ส่วนรางวัลละครโทรทัศน์ที่ผู้ชมส่วนใหญ่สนใจมี 14 รางวัล โดย 1 ในนั้นเป็นรางวัลใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นปีนี้ นั่นคือ “รางวัลออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกยอดเยี่ยม” ที่มีการพิจารณามอบรางวัลนี้เพราะการทำละครยุคนี้มีการใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกมาช่วยเสริมจินตนาการ เพิ่มความสมจริงและน่าติดตามมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง และต่างก็ทำได้คุณภาพดีทีเดียว

ผู้ได้รับรางวัลนี้ไปคือทีมงานจากละคร “อสรพิษ” ทางช่อง One 31

สำหรับ 14 รางวัลของละครโทรทัศน์ปีนี้ตกเป็นผลงานละครจากสถานีโทรทัศน์ช่อง One 31 ถึง 13 รางวัล

โดยละครที่ได้รับรางวัลไปมากที่สุดคือ “ฉลาดเกมส์โกง” โดยบริษัท GDH ที่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาก่อน เมื่อนำมาดัดแปลงสร้างเป็นละครทางโทรทัศน์ก็เพิ่มเติมเรื่องราวให้ชวนลุ้นชวนติดตามและมีมาตรฐานการสร้างที่คนในวงการเทคะแนนให้จนคว้าไปได้ถึง 6 รางวัล ได้แก่ “กำกับภาพยอดเยี่ยม” “ลำดับภาพยอดเยี่ยม” “บทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม” “กำกับยอดเยี่ยม” “ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม” และ “ละครยอดเยี่ยม”

ละครน้ำดีอย่าง “รักแลกภพ” ที่เจ เอส แอล ร่วมสร้างกับช่อง One ได้มา 2 รางวัลคือ “กำกับศิลป์” และ “ออกแบบเครื่องแต่งกาย”

สำหรับรางวัลในกลุ่มของนักแสดงนำและสมทบนั้น มาจากละคร 3 เรื่อง โดยนักแสดงนำชายเป็นของ “ต่อ ธนภพ” จากละคร “ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” นำหญิงเป็นของ “กบ สุวนันท์” จากละคร “อุ้มรักเกมลวง”

สมทบชายเป็นของ “ดอม เหตระกูล” จาก “อุ้มรักเกมลวง” เช่นกัน และนักแสดงสมทบหญิง เป็นของ “แหม่ม แคทลียา” จาก “One Year 360 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ”

 

เป็นที่น่าแปลกใจที่ปีนี้ละครจากช่อง 3 ที่มักจะได้รับหลายรางวัลจากนาฏราชปีที่ผ่านมา มาในปีนี้ไม่ได้เลย ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลพวงจากโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายทำ และงานละครที่นำออกมาฉายอาจจะยังไม่โดดเด่นมากพอเหมือนทุกปี ที่บางสาขารางวัลแทบจะชิงกันเองด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ช่อง 3 ยังได้ยิ้มจากรางวัล “พิธีกรยอดเยี่ยม” ที่เป็นของ “หนุ่ม กรรชัย” จากรายการ “โหนกระแส” ที่มาแรงต่อเนื่อง ซึ่งกรรชัยบอกว่าดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะแอบหวังและผิดหวังมาหลายปี ยิ่งในปีนี้คู่แข่งนั้นมากฝีมือทั้งนั้น ทั้งรุ่นพี่อย่างปัญญาและสัญญาที่เข้าชิงจากสองรายการ คือ เจาะใจ และตามสัญญา และรุ่นเดียวกันอย่างเปอร์ สุวิกรม

แม้เปอร์จะพลาดรางวัลพิธีกรไป ทั้งที่เข้ารอบสุดท้ายมา 6 ครั้งแล้ว แต่ก็ยังได้รับ “รางวัลทอล์คโชว์ยอดเยี่ยม” จากรายการ “Perspective” ไปครอง

ส่วนช่อง 7 นั้น ได้รับ 2 รางวัล คือ “ผู้ประกาศข่าวชาย” เป็นของ “อนุวัต เฟื่องทองแดง” และ “เกมโชว์ยอดเยี่ยม” จากรายการ “Masterchef All Stars Thailand”

สถานี TPBS คว้า “รางวัลผู้ประกาศข่าวหญิง” คือ “ณัฏฐา โกมลวาทิน” และอีก 2 รางวัล “สารคดียอดเยี่ยม” และ “สกู๊ปยอดเยี่ยม” ซึ่งรางวัลสกู๊ปนี้ได้รับร่วมกับทางช่อง Workpoint ด้วย เพราะคะแนนเท่ากัน

นอกจากสกู๊ปยอดเยี่ยมแล้ว Workpoint ยังได้ “วาไรตี้ยอดเยี่ยม” และ “รายการเด็กยอดเยี่ยม” ด้วย

นอกจากนั้นก็มีรางวัลด้านวิทยุอีก 7 รางวัลที่ได้ประกาศกัน

 

รวมความแล้วแม้จะเป็นการประกาศงานแบบ New Normal แต่คุณค่าของรางวัลไม่ได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะคนที่ได้รับรางวัลจะรู้สึกภาคภูมิใจเป็นพิเศษที่ตนเป็นที่ยอมรับของคนร่วมสาขาอาชีพเดียวกันเช่นนี้

การแข่งขันในการทำงานเพื่อสร้างมาตรฐานงานที่ดี มีคุณภาพ เป็นเรื่องที่คนในอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์และออนไลน์ ให้ความสำคัญอยู่แล้ว รางวัล “นาฏราช” ก็เป็นเครื่องที่ช่วยยืนยันถึงผลงานที่เป็นที่ยอมรับ เห็นคุณค่าในการทำงาน ที่จะเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานวิชาชีพในสายวิทยุและโทรทัศน์ได้อย่างดี

ขอชื่นชมกับคนทำงานด้วยฝีมือและหัวใจทุกคนครับ