โล่เงิน : อัพเดต “ปฏิรูปตำรวจ” “บิ๊กสร้าง” เดินไวเขย่า “ก.ต.ช.-ก.ตร.” แก้ไม่ตกปลดแอกการเมือง!?

“บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เดินหน้าเต็มสูบกับบทบาทประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เรียกเข้าใจง่ายว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ นำทีม 36 อรหันต์ ออกแบบ “ตำรวจไทย” ภายใต้เวลาจำกัด 9 เดือน วางปฏิทิน 2-3-4

โดย 2 เดือนแรกรวบรวมแนวคิด ศึกษาเปรียบเทียบรายงานการปฏิรูปยกเครื่องตำรวจ ที่ชุดต่างๆ เคยเสนอไว้ ประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ สนช. คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

3 เดือนต่อมาออกแบบร่างกฎหมาย

และ 4 เดือนสุดท้ายรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงให้ลงตัว และดีเดย์วางระบบกำหนดแนวทางการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ แก้ปัญหาสำคัญขององค์กรตำรวจ วาระเร่งด่วน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560

นับเวลาเหลืออีก 5 เดือน

บิ๊กสร้าง ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ด้าน ขับเคลื่อนปฏิรูปตำรวจ ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการด้านบริหารงานบุคคล มี พล.อ.บุญสร้าง เป็นประธานด้วยตัวเอง การบ้านหลัก คือ ออกแบบการแต่งตั้งตำรวจให้มีระบบคุณธรรม นิติธรรม ปลอดการวิ่งเต้นขายเก้าอี้ ดังที่มีคำครหา ให้ได้ภายใน 5 เดือน

2. คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา มี นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธาน

3. คณะอนุกรรมการด้านหน้าที่ อำนาจและภารกิจของตำรวจ มี นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เป็นประธาน

4. คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น มี พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธาน

และ 5. คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ มี นายศุภชัย ยาวะประภาษ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นประธาน

พล.อ.บุญสร้าง เลือกคนนอก ไร้ชื่อบิ๊กสีกากี ที่มีอยู่จำนวนค่อนคณะ นั่งหัวโต๊ะอนุกรรมการ?!

ผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ประชุมแล้ว 5 นัด อนุกรรมการ 2 คณะเปิดประเด็น โยนหินในวงประชุมให้ถกแถลงอย่างน่าสนใจ

ในการประชุมนัดที่ 4 คณะกรรมการชุดใหญ่ 36 อรหันต์ เปิดประเด็นด้านการบริหารบุคคล โฟกัสเรื่อง ที่มาของผู้นำ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” นำเสนอไอเดียจากการศึกษาของ สปช. และ สปท. เปลี่ยนบอร์ด คลอด ผบ.ตร. จากเดิมให้ “บอร์ดใหญ่” คณะกรรมการนโยบาบตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. แต่งตั้ง โยกไปให้ “บอร์ดเล็ก” คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่งตั้ง

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการปฏิรูป เผยว่า ที่ประชุมเสนออย่างกว้างขวางว่า ยังคงมีบอร์ดทั้ง 2 ชุดไว้ แต่ให้ปรับอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบให้เหมาะสม และมีฝ่ายการเมืองเข้ามาน้อยที่สุด

“เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นว่า ควรให้ ก.ต.ช. ที่ปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ออกแบบใหม่ โดยยังมีฝ่ายการเมืองบางส่วนเป็นกรรมการ อาจมีนายกฯ เป็นประธานกรรมการเหมือนเดิม แต่ปรับองค์ประกอบใหม่ ไม่มีฝ่ายการเมืองคงไม่ได้ คงบทบาทในการกำหนดนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม แต่ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง ผบ.ตร. แล้ว เนื่องจากมีการอภิปรายและเสนอในรายงานการศึกษาฯ ว่า องค์ประกอบปัจจุบันมีส่วนผสมของคณะกรรมการทั้งจากการเมืองและฝ่ายต่างๆ มากมาย โดยแทบไม่มีตำรวจเลย แต่กลับมีอำนาจตั้ง ผบ.ตร. ก็ดูแปลก”

“ที่ประชุมมีความเห็นว่า ผบ.ตร. ควรมีที่มา โดยปลอดการเมือง เพราะ ผบ.ตร. เพียงคนเดียว แต่งตั้งตำรวจทั่วประเทศได้ถึง 2 แสนนาย แม้อำนาจตามกฎหมายอ้างว่ากระจายอำนาจการแต่งตั้ง แต่ในทางที่ปฏิบัติอยู่อาจไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ จึงมีการเสนอให้อำนาจการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไปอยู่ที่ ก.ตร. ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มาจากตำรวจแทน”

แฟ้มภาพ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ – พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

“เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการ ก.ตร. ใหม่ มีการเสนอให้ประธาน ก.ตร. ควรมาจาก อดีตรอง ผบ.ตร. ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี อย่างในปัจจุบัน ส่วนกรรมการอื่นๆ ยังไม่คุยในรายละเอียด แต่ต้องไม่มีฝ่ายการเมืองเป็นกรรมการเลย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อยุติว่าจะเลือกใช้แนวทางใด แต่ที่ยกมาเป็นความคิดเห็นจากเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมที่อภิปรายออกมาในแนวทางนี้” นายสมคิดแถลงแนวคิดจากวงประชุม 36 อรหันต์

โดยย้ำว่า แนวคิดหลักคือลดบทบาทการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ โดยเริ่มต้นที่ตำแหน่ง ผบ.ตร.

ผ่านไปเพียง 2 วัน ในการประชุมนัดที่ 5 คณะอนุกรรมการด้านบริหารบุคคล ซึ่ง พล.อ.บุญสร้าง เป็นประธาน กลับไปทำการบ้านจากวงประชุมใหญ่ ได้ข้อเสนอองค์ประกอบ ก.ต.ช. และ ก.ตร. ใหม่ ไม่สามารถสลัด “นักการเมือง” ออกจากบอร์ดสีกากี?!

นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ รองโฆษกคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ แถลงว่า แม้มีเป้าหมายให้คณะกรรมการขององค์กรตำรวจปราศจากการเมือง แต่เห็นควรให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด

อนุกรรมการชุด “บิ๊กสร้าง” เสนอแนวคิดให้ ก.ต.ช. มีกรรมการ 15 คน จากเดิมในชุดปัจจุบันมี 8 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ

โดยให้เพิ่มปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จเรตำรวจ รอง ผบ.ตร. และตัวแทนอธิการบดีจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยอีก 2 คนเข้ามา

แต่ยังคงเห็นพ้องกับคณะกรรมการชุดใหญ่ กำหนดให้ ก.ต.ช. มีอำนาจหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายเท่านั้น ตัดอำนาจการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ออกไป ให้ ก.ตร. เลือกและแต่งตั้ง ผบ.ตร. แทน

ขณะที่องค์ประกอบของ ก.ตร. นั้น ปัจจุบันที่มีนายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นกรรมการ เป็นไปตามองค์ประกอบที่ คสช. กำหนด หลังจากการรัฐประหาร 2557 คณะอนุกรรมการเสนอองค์ประกอบใหม่ ให้เพิ่มกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากอดีตข้าราชการตำรวจ ที่มาจากการเลือกตั้งอีก 6 คน คล้ายองค์ประกอบเดิมตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547

และให้ ก.ตร. มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.!!

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เป็นเพียงแนวคิดล่าสุดที่เสนอให้ที่ประชุมใหญ่นำไปคิดต่อ แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนคือเห็นควรว่า ให้ ก.ตร. แต่งตั้ง ผบ.ตร. ส่วน ก.ต.ช. ให้กำหนดนโยบายอย่างเดียวเท่านั้น

นายประดิษฐ์ แจงเพิ่มว่า หากให้เป็นไปตามปฏิทินการปฏิรูปตำรวจ เรื่ององค์ประกอบ ก.ต.ช. และ ก.ตร. และอำนาจหน้าที่ ต้นทางของการปฏิรูปการแต่งตั้งตำรวจ จะมีความชัดเจนภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับการวางระบบแต่งตั้งโยกย้ายสีกากี

“บิ๊กสร้าง” เดินหน้าปฏิรูปสีกากี ฉับไว และสูตร ก.ต.ช.-ก.ตร. เป็นเรื่องแรกที่เริ่มเห็นรูปร่างท่ามกลางเสียงที่ไม่ค่อยเห็นด้วยนักของเหล่าเลือดสีกากีที่นั่งใน 36 อรหันต์ ในประเด็นองค์ประกอบ ก.ต.ช. บอร์ดคุมทิศทางนโยบายที่มีตำรวจน้อยเกินไป และเต็มไปด้วยคนนอก?!

นอกจากนี้ อนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่ ยังทิ้งประเด็น “ตำรวจ” ควรเป็นกระทรวง อยู่ภายใต้กระทรวง หรือเป็นเช่นเดิม ต่อที่ประชุมให้คณะกรรมการไปคิดต่อด้วย?!

การขยับบังเหียนอย่างฉับไวของ พล.อ.บุญสร้าง ที่เปิดประเด็นต่อเนื่อง ทำให้ต้องติดตามการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ชนิดห้ามกะพริบตา