ครัวอยู่ที่ใจ l ทางรอดอยู่ในครัว : อย่าปล่อยให้พ่อครัวเหงา / อุรุดา โควินท์

 

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: อย่าปล่อยให้พ่อครัวเหงา

 

ฉันอยากกินอาหารอินเดียจับใจ เราไม่ได้กินนานมาก เพราะไม่อยากกินข้าวนอกบ้าน อาหารอินเดียเป็นอาหารที่ต้องกินร้อน ยิ่งร้อนยิ่งอร่อย ครั้นจะซื้อมาอุ่น ของทอด ของย่างก็เสียรส เราสั่งอาหารร้านอื่นมากินบ้าง แต่ไม่ได้สั่งอาหารอินเดียเลย

บ้านใหม่ยังไม่ค่อยลงตัว ยังไม่ได้ตั้งครัวจริงจัง อีกทั้งมีสบู่ต้องแพ็ก วันนี้เหมาะมาก เราควรสั่งอาหารอินเดียมากินสักมื้อ

“พูเอาแกง ไก่ย่าง นาน สลัด อ้อ ซาโมซ่าด้วย” ฉันบอกเขา

เขาเงียบไปนาน ก่อนบอก “ในแกร็บไม่มี เพจร้านก็แจ้งว่าปิดแล้ว”

“อะไรนะ” ฉันเสียงดัง

คราวก่อนที่เราไปกิน พนักงานบอกว่านักท่องเที่ยวไม่มี แต่ยังมีลูกค้าชาวไทยเชื้อสายอินเดียมาอุดหนุน

“เป็นไปได้ว่าไม่อยากแบกภาระ มีสามสาขา เขาก็ต้องปิดไปบ้าง” เขาว่า

“ถ้าเราอุดหนุนเขาบ้าง เขาอาจไม่ปิด”

ร้านเปิดในนามบริษัท ดูมั่นคง แต่ก็นั่นล่ะ ถ้าขายไม่ได้ แบกทั้งค่าเช่าร้าน ค่าดูแลร้าน ค่าพนักงาน ก็ไม่รู้จะแบกไปทำไม แบกแบบไม่เห็นปลายทางเสียด้วย

“เขาอาจจะกลับมาเปิดใหม่ เมื่ออะไรๆ ดีขึ้น” เขาถอนใจ “ซึ่งไม่รู้เมื่อไร”

 

ฉันเองเป็นแม่ค้าครึ่งตัว วันที่โพสต์ขายของ แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับ ใจจะย่อลงเหลือเท่าเม็ดถั่ว ยิ่งเราตั้งใจทำมากเท่าไร เราก็ยิ่งท้อเท่านั้น

หากผลลัพธ์มันตรงกันข้าม

ฉันอดทนทำได้เพราะไม่มีหน้าร้าน ไม่ต้องเช่า ไม่ได้จ้างใคร

ไม่มีคนซื้อ ก็แค่ถอนหายใจ กลับมาทบทวนว่าทำอร่อยมั้ย ทำดีที่สุดแล้วใช่มั้ย

ถ้าคำตอบคือใช่ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียใจ

คนไม่ซื้อด้วยหลายเหตุผล ไม่ใช่เพราะสินค้าไม่ดี อาหารไม่อร่อย

ร้านอาหารอินเดียเป็นตัวอย่างชัดที่สุด ฉันไม่สามารถหักคะแนนร้านนี้ได้เลย เราไม่ได้อุดหนุนเขา เพราะมีโรคระบาด เราวุ่นวายกับชีวิตจนลืม และเพราะเราเองก็ต้องระวังเรื่องค่าใช้จ่าย

ไม่ใช่เพราะร้านไม่มีคุณภาพ

ฉันหยิบกระเป๋าเงิน “ไปร้านพี่ตี้ เราไม่ได้กินร้านพี่ตี้นานแล้ว”

เขาหัวเราะ

“กลัวแกเลิก บางร้านไม่ได้เจ๊งนะ แต่เขาท้อจนไม่ไหวจะท้อ”

ฉันคิดว่าฉันเข้าใจ ฉันจะไม่ยอมให้ร้านที่ฉันรักเลิกกิจการอีก

“มีร้านพิซซ่า ร้านเบอร์เกอร์ แล้วมีไส้กรอกของอูเวย์” เขาบอกพร้อมออกรถ

“เราจะทยอยอุดหนุนทุกร้าน เท่าที่เราสามารถ” ฉันเสียงแข็ง

“เราจะซื้อมากินที่บ้านใช่มั้ย” เขาถาม

ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ซื้อเป็นกับข้าว มาอุ่นกินที่บ้าน เราคงไม่นั่งกินที่ร้านเหมือนแต่ก่อน ก็…จนกว่าจะถึงวันที่ฟ้าสดใส

 

พอเห็นหน้าเรา พ่อค้าก็หัวเราะ แกเป็นทั้งพ่อค้าและพ่อครัว มีลูกมือแค่คนเดียว ช่วยหั่นซอย ล้างจาน และเสิร์ฟ เราไม่ได้ชอบอาหารทุกอย่างของแก เราไม่ได้บอกว่าแกทำอร่อยที่สุดในโลก แต่ร้านข้าวแกงเล็กๆ ของแก ทำให้เรารู้สึกคล้ายมานั่งกินข้าวบ้านเพื่อน บางอย่างถูกปาก บางอย่างพอกินได้ บางอย่างไม่เคยกิน ได้ลองและติดใจ ใจความสำคัญคืออาหารของแกทำจากครัวเล็กๆ ที่มีความใส่ใจ ไม่ใช่ครัวกึ่งอุตสาหกรรม

เราซื้อกับข้าวกลับบ้านสามถุง โล่งอกที่ร้านยังอยู่ หวังว่าจะอยู่รอดปลอดภัยไปอีกแสนนาน

ถึงบ้านก็แค่หุงข้าว พอข้าวสุก เอากับข้าวออกมาอุ่น ใส่จานสวยๆ

“พูทำอร่อยกว่าแกนิดหนึ่งนะ ผัดปลาดุกนี่” ฉันบอกเขา

เขาหัวเราะ “รู้”

แกงพริกปลาดุก หรือผัดเผ็ดปลาดุก เป็นอาหารที่เขาสั่งกินทุกครั้ง ฉันรู้ว่าเขาชอบ แต่ฉันไม่ค่อยทำ เพื่อเวลาไปร้านพี่ตี้ เขาจะได้อยากกิน

ทำง่าย และอร่อยได้ง่ายๆ ถ้ามีเครื่องแกงที่ดี ซึ่งหมายถึง ในเครื่องแกงมีกะปิดีด้วย

ใช้เครื่องแกงพริกของทางใต้ ประกอบด้วยพริกขี้นกแห้ง กระเทียม ขมิ้น พริกไทยดำ ตะไคร้ ฉันใส่แค่นี้ ตำให้ละเอียด แล้วเติมกะปิดีๆ ลงไป

ใช้ปลาดุกตัวเล็กหน่อยดีกว่าตัวใหญ่ ควรมีมะเขือพวงกับมะเขือเปราะ ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้

ฉันใช้ผักแค่นี้ โรยใบมะกรูดให้หอม แต่พี่ตี้ใส่กระชาย กับพริกไทยสดด้วย ให้อารมณ์ใกล้เคียงผัดฉ่า

มันคือผัดพริก หรือแกงน้ำน้อยนั่นเอง

ผัดเครื่องแกงกับน้ำมันให้หอม ใช้น้ำมันนิดเดียวพอ เราผัดเพราะต้องการดึงกลิ่นเครื่องแกงออกมา เครื่องแกงหอมดี ค่อยเติมน้ำลงไปสักนิด น้ำเดือด ใส่ปลาดุกกับผัก รอกระทั่งทุกอย่างสุก ค่อยชิม

ส่วนใหญ่ แกงพริกจะเติมแค่น้ำปลา (กรณีอ่อนเค็ม) รส กลิ่น และมิติ อยู่ในเครื่องแกงหมดแล้ว

ฉันทำเผ็ดกว่านี้ และใช้มะเขือเปราะมากกว่ามะเขือพวง แต่ฝีมือพี่ตี้ก็อร่อย เป็นแกงพริกที่กินง่าย ไม่เผ็ดจนต้องวิ่งหาไข่ดาว ไข่เจียว

 

ตอนที่เขาตักข้าวจานที่สอง ฉันบอก “ไปซื้อของแกอาทิตย์ละครั้งโนะ ไปเช้าหน่อย จะได้มีให้เลือกเยอะ”

เขาอมยิ้ม “พรุ่งนี้ก็ต้องพิซซ่าของซาซ่าแล้วล่ะ”

ตามนั้นเลย ฉันไม่อยากให้คนทำอาหารอร่อยๆ ท้อแท้ไปมากกว่านี้