ทำไม? ‘แมลงปอ’ ถึงเป็น “ชี้วัดโลกร้อน”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“แมลงปอ” สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ปรับตัวอยู่บนโลกใบนี้มานานกว่า 300 ล้านปี กลายเป็นประเด็นที่สนใจของนักสิ่งแวดล้อม

เมื่อผลการศึกษาล่าสุดพบว่าแมลงปอบางชนิดเคลื่อนย้ายถิ่นฐานขึ้นไปหากินทางตอนเหนือของอังกฤษและไอร์แลนด์ที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น

นักกีฏวิทยาแห่งสมาคมแมลงปอของอังกฤษบอกว่า แมลงปอเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และยังบ่งบอกว่าพื้นที่ตรงนั้นมีระบบนิเวศน์สมดุลมากน้อยเพียงใด

นักสิ่งแวดล้อมยังให้ความสนใจกับจำนวนประชากรของแมลงปอที่ลดลง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปด้วย

แมลงปอพบเห็นอยู่ทั่วโลก ยกเว้นบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ นักกีฏวิทยาประเมินว่ามีอยู่กว่า 5,000 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม แมลงปอบ้าน (dragonfly) และแมลงปอเข็ม (damselfly)

ตามข้อมูลของคู่มือการศึกษาแมลงปอของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายบอกให้รู้ว่าวงจรชีวิตของแมลงปอมีความมหัศจรรย์ไม่น้อยทีเดียว คือมี 3 ระยะ

ระยะแรก เป็นไข่ เป็นตัวโม่ง และระยะโตเต็มวัย แต่ไม่มีระยะดักแด้

ระยะฟักไข่จนถึงเป็นตัวโม่งจะอาศัยอยู่ในน้ำ ใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ระหว่างนั้นกินอาหารจำพวกไรแดง ลูกน้ำ และลูกอ่อนของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ

ตัวโม่งหายใจในน้ำใช้เหงือกที่อยู่ในระบบการย่อยอาหารในร่างกาย สามารถสกัดออกซิเจนออกมาจากน้ำได้ และหายใจด้วยการดูดน้ำเข้าไปในท้อง หลังจากนั้นน้ำจะเลื่อนไปที่เหงือก ซึ่งเป็นเครื่องหายใจเพื่อสกัดออกซิเจน

เมื่อได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้วจะพ่นน้ำออกมาอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังเป็นระบบการขับเคลื่อน ทำงานเหมือนไอพ่น ทำให้ตัวโม่งสามารถเคลื่อนที่ไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว

ตัวโม่งใช้ชีวิตในน้ำเป็นระยะเวลา 1-4 ปี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ระหว่างนั้น จะลอกคราบประมาณ 10-15 ครั้ง แต่ละครั้ง ตัวจะโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย กระทั่งลอกคราบครั้งสุดท้าย จะคลานขึ้นไปบนกิ่งก้านพืชใกล้ผิวน้ำแล้วเริ่มหายใจด้วยท่ออากาศ ซึ่งอยู่ภายในร่างกาย

คราบจะค่อยๆ ถูกลอกออก เริ่มจากส่วนหัว ท้อง ขา และปีก ตามลำดับ จากนั้นปีกจะค่อยๆ กางออกอย่างช้าๆ

เลือดถูกปั๊มเข้าไปในปีกใช้เวลาหลายชั่วโมงจนปีกแข็งแรง และกลายเป็นแมลงปอ พร้อมบินและล่าเหยื่อ อย่างพวก ยุง เพลี้ย ริ้น แมลงวัน ผีเสื้อ ผึ้ง รวมทั้งแมลงปอด้วยกัน

ระยะเวลาใช้ชีวิตเป็นแมลงปออย่างสมบูรณ์ มีเพียงไม่กี่เดือน หรือราวๆ 6-7 สัปดาห์

นักสิ่งแวดล้อมมองว่า แมลงปอมีบทบาทสำคัญกับพื้นที่เกษตรกรรม เพราะเป็นผู้สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศน์

แมลงปอหลายชนิดสามารถไล่ล่ากินแมลงหวี่ขาวยาสูบได้มากกว่า 50 ตัวในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง จากดวงตากลมโตมองเห็นได้ 360 องศา มีทั้งตารวมรวด (compound eyes) และตาเดี่ยว (ocelli) มีช่องตาเล็กๆ ที่เรียกว่า ฟาเซต (facet) ราว 3 หมื่นช่อง

สายตาของแมลงปอจึงไวเฉียบคม ขณะบินมองเห็นเหยื่อได้ไกล 10-20 เมตร และด้วยปีกแข็งแกร่ง การเข้าจู่โจมเหยื่อที่เป็นอาหารจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเงียบเชียบ

ในพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ จะพบว่าฝูงแมลงปอบินโฉบเฉี่ยวไล่จับแมลงที่เป็นศัตรูพืช ช่วยลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องพึ่งยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดวัชพืช

แมลงปอบินได้เร็วมากถึง 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับขนาดของลำตัวที่มีความยาวไม่กี่เซนติเมตร หรือเท่ากับ 20,000-30,000 ช่วงตัว มีการขยับปีกขึ้น-ลง เฉลี่ยประมาณ 500 กว่าครั้งต่อวินาที

ปีกคู่หน้าและคู่หลังแยกอิสระต่อกัน สามารถบินไปข้างหน้า บินถอยหลังได้อย่างง่ายดาย กระพือปีกและบินร่อนอยู่กลางอากาศได้เป็นเวลานาน

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่นักกีฏวิทยาพบว่า แมลงปอบินข้ามทะเลจากฝั่งยุโรปตอนใต้มายังเกาะอังกฤษและไอร์แลนด์

ในจำนวนนั้นมีอย่างน้อย 2 ชนิดหายไปเมื่อปี 2538 จู่ๆ ก็โผล่กลับมาเจอใหม่

แมลงปอมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นในอังกฤษ อาทิ แมลงปอจักรพรรดิ (emperor dragonfly) ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ อุณหภูมิสูงขึ้น หรืออาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เช่น มีพื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์กว่าเก่า มีแหล่งน้ำ ทะเลสาบที่ได้รับการฟื้นฟู

แต่บางสายพันธุ์ เช่น แบล็ก ดาร์เตอร์ ( black darter) อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือสุดของเกาะอังกฤษ มีจำนวนประชากรลดลงเป็นผลจากสภาวะแห้งแล้ง

โดยภาพรวมๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงจำนวนแมลงปอ การขยายพันธุ์ที่มากกว่าเดิมและบินขึ้นไปอยู่ทางเหนือของเกาะอังกฤษและไอร์แลนด์ บ่งชี้ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

ไม่ใช่แค่เพียงอังกฤษหรือไอร์แลนด์เท่านั้น แต่แมลงปอหลายชนิดในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา มีการเคลื่อนย้ายอพยพไปอยู่ทางเหนือที่มีอากาศร้อนขึ้น

ไมเคิล มัวร์ นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐ ให้สัมภาษณ์ซีทีวีนิวส์ของแคนาดาว่า พื้นที่ที่แมลงปออยู่อาศัยนั้นเป็นเขตที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ จากเดิมเคยเป็นเขตที่มีอากาศหนาวเย็น

แต่เดี๋ยวนี้อากาศกลับร้อนขึ้นซึ่งเป็นสภาพอากาศที่แมลงปอชอบ

อย่างไรก็ตาม ในผลการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า อากาศที่ร้อนขึ้นจะมีผลต่อสีสันของปีกแมลงปอซีดลง

สีสันของปีกแมลงปอเปลี่ยนอาจทำให้การขยายพันธุ์เปลี่ยนไปด้วย เพราะสีสันปีกของแมลงปอมีผลกับการดึงดูดเพศตรงข้าม อาจทำให้ตัวเมียสายพันธุ์เดียวกันสับสน

แถบอลาสก้าที่มีอากาศหนาวเย็น บางพื้นที่ของเขตสแกนดิเนเวีย หรือรัสเซียซึ่งมีอากาศหนาวเย็น พบแมลงปอบินปร๋อไปยึดเป็นที่ทำมาหากิน แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวอากาศเปลี่ยนไป หรือไม่แมลงปอก็สามารถปรับตัวให้อยู่กับอากาศที่อุ่นขึ้น

ในบ้านเราไม่รู้ว่ามีการศึกษาแมลงปอกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว เพราะอาจใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย “โลกร้อน” และสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้อุปกรณ์เทคโนโลยีราคาแพงๆ