โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญรุ่นแรก 2486 หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พระเกจิชื่อดังราชบุรี

(ซ้าย) หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร (ขวา) เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญรุ่นแรก 2486

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

พระเกจิชื่อดังราชบุรี

 

“หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร” วัดราชคาม อ.เมือง จ.ราชบุรี พระเกจิอาจารย์ที่ชาวราชบุรีให้ความนับถือ เพราะมีเมตตากรุณา ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีทุกข์ร้อนป่วยไข้ก็ช่วยรักษา ช่วยเหลือให้ทุกราย

ทรงคุณความรู้และวิทยาคมหลายอย่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นพระอาจารย์ เป็นคณาจารย์การปกครอง เป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมกัมมัฏฐาน ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ทุกคน

สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด แหวน ฯลฯ เป็นที่นิยมและหวงแหนกันมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหรียญปั๊มรุ่นแรก ที่จัดสร้างให้บรรดาลูกศิษย์และญาติโยมใกล้ชิด

เหรียญปั๊มรุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2486 ที่ระลึกสำหรับผู้ที่ช่วยเหลือกิจการของวัดหรือบริจาคทรัพย์

ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า เหรียญ ๘๖ หรือเหรียญตะพาบ ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อชุ่ม จำนวนสร้าง เนื้อเงิน, เนื้อทองเหลือง, เนื้อทองขาว (อัลปาก้า) และเนื้อทองแดง

ลักษณะเป็นเหรียญใบสาเกแบบมีหูในตัว ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อชุ่มหน้าตรงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฏิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า “พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด” ใต้รูปเหมือนระบุปี พ.ศ. “๒๔๘๖” มีอักษรขอม 4 ตัว ที่มุมเหรียญอ่านว่า นะ มะ พะ ทะ (หัวใจธาตุ)

ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตารางมงคลเก้าตามแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าน (ยันต์ครู) มุมทั้ง 4 ด้านของแผ่นภาพเขียนอ่านได้ ว่า “อุด อัด ปัด ปิด” ด้านล่างของตารางยันต์มีภาษาขอม อ่านได้ว่า กะระมะทะ กิริมิทิ กึรึมึทึ กุรุมุทุ เกเรเมเท

จัดเป็นเหรียญหายากและเป็นที่นิยมของวงการพระเครื่องและชาวราชบุรี

 

ถือกำเนิดที่ราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ จุลศักราช 1241 อันตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2422 ที่ ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายทุ้ม และนางลำใย กลิ่นเทพเกษร เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน

อายุ 9 ปี บิดานำมาฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงปู่โต๊ะ วัดราชคาม กระทั่งอายุ 16 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดท่าสุวรรณ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2441 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ จุลศักราช 1260 โดยมีพระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

อยู่ที่วัดราชคาม ศึกษาเล่าเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานจากพระอธิการพู่ และพระอธิการอินทร์

ในปี พ.ศ.2448 เมื่อพระอธิการพู่ เจ้าอาวาสมรณภาพลง หลวงพ่อชุ่มได้รับการนิมนต์ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

ดำเนินการทำนุบำรุงวัดสุดความสามารถ ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งในด้านวัตถุ ตลอดจนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร

จัดสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระประธานประจำอุโบสถ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง ฌาปนกิจสถาน

ที่สำคัญยิ่งคือ ได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับเรียนพระธรรมวินัย นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการจัดสร้างโรงเรียนเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาของลูก-หลานชาวบ้านในละแวกวัด มีชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลชุ่มประชานุกูล

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือวัดใหม่ จังหวัดราชบุรี ในการสร้างอุโบสถ

 

ลําดับงานปกครองและสมณศักดิ์ พ.ศ.2458 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชคาม

พ.ศ.2467 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2473 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งน้ำวน (เจ้าคณะหมวด)

พ.ศ.2479 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

มีความสามารถเก่งทั้งทางด้านการพัฒนาถาวรวัตถุและจิตใจของทุกคน นำความเจริญมาสู่วัดราชคาม มากด้วยความเก่งกล้ามีคาถาอาคมประกอบการช่วยเหลือชาวบ้านในทุกทาง ชำนาญด้านการแพทย์แผนโบราณ วิชาทำน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขยันต์และอื่นๆ

เป็นพระที่เจ้าระเบียบและดุ พระหรือเณรเดินบนพื้นกุฏิไม้กระดานดังเกินควรจะเรียกเข้าไปตักเตือนทันที

ด้วยความที่ท่านชอบการมีระเบียบวินัย ฉะนั้น ลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งหลายจึงมีระเบียบวินัยที่ดี ประกอบสัมมาอาชีพเจริญรุ่งเรืองเป็นส่วนใหญ่

 

ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมา เล่าถึงประวัติการเดินธุดงค์ซึ่งได้รับฟังจากปากของหลวงพ่อชุ่มเองว่า เมื่อบวชได้ 3 พรรษา เริ่มสนใจในวิทยาคม พยายามศึกษาเล่าเรียนและเริ่มออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ คราวละ 3 ปี บางครั้งก็ธุดงค์ไปพม่าบ้าง

ครั้งหนึ่งเดินธุดงค์จนถึงวัดมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ขณะนั้นราวปี พ.ศ.2446 หลวงปู่ศุขปกครองวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อชุ่มศึกษาวิชาจากหลวงปู่ศุขหลายแขนงเกี่ยวกับวิชาด้านคาถาอาคม จนครั้งหนึ่งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เคยเสด็จมายังวัดราชคาม เนื่องด้วยเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน และเมื่อหลวงพ่อชุ่มกลับมาอยู่วัดราชคาม จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลืองลือมาก

จากการที่ท่านธุดงค์จนเป็นกิจวัตร ทำให้ได้รู้จักกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เมื่อคราวออกธุดงค์ไปศึกษาวิชากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ทำให้ท่านทั้ง 2 เป็นสหมิกธรรมกันเรื่อยมา

เริ่มอาพาธประกอบกับย่างเข้าวัยชราไม่ได้พักผ่อนเท่าใดนัก จึงมีอาการทรุดหนักลงในเร็ววัน คณะศิษย์และผู้เคารพนับถือ ร่วมกันรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถทำให้อาการทุเลาลงได้

กระทั่งวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2498 เวลาตีสี่ครึ่ง จึงมรณภาพด้วยอาการสงบ

สิริอายุ 77 ปี พรรษา 57 และประชุมเพลิงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2500