หาความยุติธรรม โดยผ่านการเลือกตั้ง คือความหวัง 20 ปี ข้างหน้า …ถ้ารอได้

มุกดา สุวรรณชาติ

ความยุติธรรมไม่ได้เกิดมาคู่กับโลกนี้ แต่เป็นนามธรรมที่คนสร้างขึ้นเพื่อหวังจะถ่วงดุลกับการใช้กำลังและอำนาจที่เหนือกว่า ความยุติธรรมที่ปรากฏเป็นรูปธรรมจึงแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์

ช่วงเวลานี้ยังไม่อยากพูดถึงความยุติธรรมในกรณีคดีจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรเปิดโอกาสให้มีการแถลงแก้คดีก่อนแล้วจึงนำมาวิจารณ์ร่วมกันกับแนวทางการดำเนินคดีของฝ่ายโจทก์ มีคนคิดว่าถ้ามีการตัดสินคดีนี้จะทำให้ทุกฝ่ายตัดสินใจเดินได้ตรงทางมากขึ้น

แต่สิ่งที่จะพูดถึงก็ยังคงเป็นเรื่องความยุติธรรม ในคดีต่างๆ ที่ปรากฏชัดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา

1. กรณีความขัดแย้งในวงการตุลาการ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ หลังจากร้องขอความเป็นธรรมก็ได้ลาออกไม่ยอมรับตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา สาเหตุก็ยังไม่แจ่มชัดนัก

2. จตุพร พรหมพันธุ์ ถูกตัดสินจำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในคดีหมิ่นประมาทนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้บงการสั่งฆ่าประชาชน ถ้าเชื่อกันตามนั้นแสดงว่านายกฯ อภิสิทธิ์ไม่ได้สั่งการ ดังนั้น จึงต้องไปหาคนสั่งการตัวจริงว่าเป็นใคร เพราะอำนาจที่สั่งการไปนั้นใช้กับทหารจำนวนนับหมื่น กินเวลาประมาณ 2 เดือน มีคนตายเกือบร้อย บาดเจ็บเป็นพัน ไม่ใช่เรื่องเล็ก นี่เป็นคดีระดับนานาชาติ เป็นภาระหน้าที่ในการสอบสวนหาความจริงที่จะต้องดำเนินการต่อไป

3. คดียึดทำเนียบรัฐบาล ตัดสินเมื่อ 28 พฤษภาคม 2558 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ มีความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 6 คนละ 3 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกจำเลยทั้ง 6 คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

แต่ 24 กรกฎาคม 2560-ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เป็นจำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้ง 6 เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

ส่วนคดีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองปี 2551 ที่มีการเคลื่อนขบวนดาวกระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ ก็ได้รับการยกฟ้อง

4. คดีแกนนำปิดโรงแรมที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

มีนาคม 2558 ศาลจังหวัดพัทยาได้ตัดสินจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา 15 แกนนำ นปช. กรณีเป็นแกนนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมษายน 2552 วันที่ 21 มีนาคม 2560 อุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก “อริสมันต์” กับพวก 4 ปี

ย้อนกลับไปในอดีตก็ยังมีสารพัดคดีที่ต้องรอคอยการตัดสิน บางคดียังไม่ตัดสินเลย บางคดีศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้วอยู่ในการอุทธรณ์ บางคดีรอฎีกา ไม่ว่าจะเป็นการยึดสนามบิน การยึดกระทรวงทบวงกรม การปิดกรุงเทพฯ มือปืนป๊อปคอร์น ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีขัดขวางและปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ฯลฯ

คงไม่มีหน้ากระดาษพอที่จะบรรยายความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

นี่ยังไม่นับคดีเล็กคดีน้อยที่ถูกจับหลังการรัฐประหาร 2557 เช่น ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ชู 3 นิ้วมายืนประท้วง กินไอติม ชูป้ายประท้วง ตั้งศูนย์ปราบโกง แจกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเสียร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ

บางอันก็ไม่เป็นคดี แต่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

 

ความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว

ที่บอกว่าความยุติธรรมแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม หมายถึงสภาพแวดล้อมของสังคมในช่วงระยะเวลานั้นๆ

สาเหตุเป็นเพราะว่าความยุติธรรมไม่ได้ทำงานแบบเครื่องจักรกล ไม่ใช่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ใช้ผ่านอำนาจที่คนยอมรับ ที่มาของความยุติธรรมจึงผ่านคนที่มีอำนาจในสังคม เส้นทางอำนาจในแต่ละยุคสมัยก็มีสัดส่วนองค์ประกอบที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมาจากไม่กี่แหล่ง คือ

1. อำนาจของกำลัง เช่น อาวุธ ทหาร

2. อำนาจที่มาจากความนับถือ เชื่อถือ ตามจารีตประเพณีวัฒนธรรม เช่น ความนับถือในสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์

3. อำนาจทางเศรษฐกิจเช่นเงินทอง ที่ดิน การควบคุมการค้า

4. อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

ทุกอำนาจ จะถูกหลอมรวม เพื่อออกกฎว่า อำนาจชี้ถูกชี้ผิด ตัดสินความขัดแย้ง ให้ไว้กับคนกลุ่มใดบ้าง มีกระบวนการยุติธรรมอย่างไร โดยตั้งสมมุติฐานว่า คนกลุ่มนี้ เป็นอิสระ และเที่ยงตรง จึงเกิดอำนาจที่ห้าขึ้น

5. อำนาจที่ผ่านตัวบทกฎหมาย ซึ่งจะใช้ผ่านฝ่ายตุลาการ ผ่านองค์กรอิสระ หรือฝ่ายนิติบัญญัติ

อำนาจปกครองเกือบทุกประเทศจะมีฐานทางอำนาจ มาจาก 5 ส่วนนี้ มีมาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน แต่มีความแตกต่างและองค์ประกอบของแต่ละยุค เช่น ในสมัยโบราณอำนาจจากทหาร ความเชื่อถือในสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ

เมื่อมีอำนาจ ผู้ปกครองก็มากำหนดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น จัดระบบถือครองที่ดินแบบศักดินา ให้คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ได้ถือครองที่ดินจำนวนมากเป็นพันเป็นหมื่นไร่ ชาวบ้านก็ถือครองที่ดินได้เพียงเล็กน้อย จัดระบบการเก็บภาษีที่จะต้องส่งให้กับผู้ปกครอง ซึ่งทุกคนต้องทำตาม เรื่องแบบนี้มีทั้งในยุโรป ในเอเชียและประเทศไทย มานานหลายร้อยปีแล้ว

ส่วนอำนาจตามตัวบทกฎหมายก็ถูกกำหนดตามขึ้นมา

 

ผู้กำหนดความยุติธรรม คือผู้มีอำนาจ

ถ้าประชาชนมีอำนาจ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยจะสูง

แต่ถ้าอำนาจไปรวมศูนย์ที่บางคน บางกลุ่ม กฎหมายจึงเขียนขึ้นตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ในสมัยก่อนการมีทาสจึงเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ใครให้ความช่วยเหลือทาสให้หนีไป จะมีความผิด

แต่กฎหมายในยุคใหม่คือการค้ามนุษย์ แม้ไม่ถึงระดับเป็นทาส ผู้ที่เป็นนายก็ต้องมีความผิด

ส่วนอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งคืออำนาจของผู้ปกครองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้มาปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นแบบรัฐสภาหรือแบบประธานาธิบดี เพิ่งมาเกิดทีหลัง อำนาจแบบนี้จึงเป็นอำนาจที่ต้องมีพลังประชาชนที่เข้มแข็ง หนุนหลัง ประชาชนต้องมีความเชื่อว่าอำนาจของตนเองเป็นอำนาจที่สูงสุด จึงจะอยู่ได้และไปมีอำนาจกำหนดตัวผู้ปกครอง วิธีการปกครอง กำหนดตัวบทกฎหมาย กำหนดกติกาทางเศรษฐกิจ การแบ่งสรรทรัพยากรที่ดิน ควบคุมการใช้กำลังและอาวุธ

เมื่อพิเคราะห์มาถึงตรงนี้จะพบว่าถ้าความยุติธรรมถูกกำหนด ในรูปกฎหมาย ตั้งแต่โบราณมาก็ได้เขียนกฎหมายให้สิทธิคนไม่เท่ากัน แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี แต่ผู้ชนะและมีอำนาจจะยังคงเป็นผู้กำหนดกฎและวิธีปฏิบัติในกระบวนยุติธรรม

 

การแก้ไขเพื่อให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นแบบเท่าเทียม

1.แก้แบบที่ไม่ยอมให้ความยุติธรรมกลายเป็นเงาที่เปลี่ยนไปตามแสง จึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ ความยุติธรรมต้องมาจากอำนาจที่ชอบธรรมโดยประชาชน

แต่มีคนวิเคราะห์ว่า เป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนเราส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักรักษา และสู้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ตนเอง ถ้ามีคนยื่นให้ก็รับ แต่ถ้าต้องออกแรงช่วงชิง ไม่ยอมทำ จะรู้สึกเดือดร้อนเมื่อไฟไหม้มาถึงบ้านตัวเอง โวยวายเมื่อน้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับ

ปัญญาชน สื่อมวลชน และคนที่มีฐานะนำในสังคม ส่วนใหญ่ก็เพิกเฉย หรือไปหาประโยชน์ร่วม

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยุติธรรม ตั้งแต่นักศึกษา กฎหมาย และการเมือง จนถึงข้าราชการ ไปถึงขั้นอัยการ ศาล หาคนที่จะคัดค้านและต่อสู้เพื่อหลักกฎหมายที่ถูกต้องน้อยเต็มที วันรพี 7 สิงหาคมปีนี้ก็จะผ่านไปแบบเงียบงัน

2. แก้แบบธรรมชาติ คืออะไรเกิดก็ต้องเกิด อธิบายให้คนฟังถึงสาเหตุทั้งหมด ด้วยระบบสื่อสารสมัยใหม่ แล้วปล่อยให้ชาวบ้านสู้บ้าง ยอมบ้าง เมื่อแรงดันถึงจุด มันจะมีการเปลี่ยนแปลง คาดว่าไม่น่าจะรุนแรงเท่าไรนัก อย่าไปคิดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นมันยุคโบราณ เดี๋ยวนี้ไม่แรงขนาดนั้น คนในสังคมไทยมีวิธีประนีประนอมและหลบหลีกความรุนแรงได้เองเมื่อถึงเวลา

สถานการณ์ที่จะเป็นจริงในวันข้างหน้า ตามโรดแม็ป คือจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการปรับปรุงอำนาจที่ 4 แต่ทุกอย่างจะยังคงเดิม ดังนั้น จึงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงยุติธรรม

จากนั้นการปกครองจะดำเนินต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ถ้าไม่มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น แม้คนไม่อยู่ แต่นี่คือระบบ ใครทนได้ก็ทนไป