เมื่อโพธิสัตว์ยิ้มแย้มและยิ้มยาก เถรวาทจึงหัวเราะ/อัญเจียแขฺมร์/อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์/ อภิญญา ตะวันออก

 

เมื่อโพธิสัตว์ยิ้มแย้มและยิ้มยาก

เถรวาทจึงหัวเราะ

 

สมัยหนึ่ง ตอนโยมขญมยังอยู่เขมร มีเรื่องที่กิริยาอาการของพระฝรั่งรูปหนึ่งซึ่งอาวุโสแล้ว ช่างขัดหูขัดตาพิกล แต่ก็ทนสนทนาด้วย

กว่าจะทราบภายหลังว่าถึงจะห่มจีวรเหลือง แต่ไม่ได้เป็น พ.ส.หรือพระสงฆ์สักหน่อย เพราะท่านถือแค่ศีลสิบ

เป็นแค่ลูกเณร “ล.ณ” ในเขมรและโยมขญมที่สำคัญผิดติติงว่าท่านทำผิดวินัย จึงนำไปเขียนเล่าในเดิน “ข้ามปีที่เขมร” ทั้งยังโยงไปสงครามและมหานิกายในความเป็นโพธิสัตว์ยิ้มแย้มและยิ้มยาก (ของ พ.ส.ทิเบต) อีกด้วย

ต่อเมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็น พ.ส.มหาเปรียญในออนไลน์ ท่านไม่เพียงแต่ยิ้มแย้มเท่านั้น แต่ยังหัวเราะมากอีกด้วย

พลัน ขนบเก่าๆ แบบเถรวาทเดิมๆ ก็เข้ามารบกวนใจ

โยมขญมยังเอาแต่ครุ่นคิดเสียงหัวเราะนั่น บางทีก็จัดตัวเองว่า อยู่ในกลุ่มมนุษย์ที่เอาแต่จ้องจับผิดเถรวาท

แล้วก็เกิดคำปุจฉาว่า “โพธิสัตว์ยิ้มแย้มและยิ้มยาก” อันไหนคือมหายานและหินยานเถรวาท?

นัยที สำหรับโพธิสัตว์ยิ้มแย้มแบบมหายานนั้น เมื่อยิ้มแย้มต่อสัตว์โลกแล้ว ก็ตามมาด้วยศรัทธาอันเกิดจากจิตใจที่เบิกบาน แย้มสรวลและหัวเราะดังขนบความเชื่อแบบวัชรญาณที่เต็มไปด้วยวิภาษวิธี

ส่วนโพธิสัตว์ยิ้มยากนั้น แม้ขนบหินยานจะไม่มี แต่ในความหมายนี้ คือความสำรวมระงับที่เกิดจากการรู้ตน

โพธิสัตว์ยิ้มแย้มและยิ้มยาก (ของเถรวาท) จึงควรจะเปล่งเสียงหัวเราะ

อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่โลกอะนาล็อก ทั้งยิ้มแย้มและยิ้มยากจะมา “หัวเราะ” ได้อย่างไร เมื่อบันทึกเคลื่อนไหวยังมาไม่ถึงและเทคโนโลยีที่จะส่งสัญญาณแบบเรียลไทม์ที่จะทำให้ใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นโพธิสัตว์ยิ้มแย้มหรือยิ้มยาก หรือ พ.ส.ช่างหัวเราะ

ก็นั่นล่ะ ขนบเถรวาทที่ถูกการจู่โจมสาวกผู้ทุกข์ยากในออนไลน์และเป็น “ฟอลโลเวอร์”

สมเด็จพระสังฆราชจวน นาต II เครดิตภาพ-Wikiwand

ให้ “สู่ขิต” ที่แปลว่าตายเถอะ สภาพ! โยมขญมทุกสถาน ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ตรมดลบันดาล ไม่ทางใดทางหนึ่ง เถรวาทคือหัวข้อที่โยมขญมจะเขียนถึงอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะในยามอิ่มท้องหรือไส้แห้ง! ยิ้มแย้มหรือยิ้มยาก! เถรวาทของโยมขญมจึงเป็นเหมือนเพื่อนยาก! และโครงกระดูกในตู้! โดยเฉพาะกัมพูชาที่ยิ้มยากกว่าเถรวาทชนทั่วไป จากอิทธิพลการเมืองสยาม-บารัง ที่อ่อนไหวและเปราะบาง

โดยไม่ว่าจะสามัญหรือพิสดาร บนความเปลี่ยนแปลงของเถรวาทกัมพูชา จึงช่างน่าจดจำเสมอ

พระอวโลกิตา II เครดิตภาพ- PnomPenhPost2013

ตัวอย่าง

“ดูก่อน/เมิรเซิ่น” โยมขญมเอ่ยนำ “เพราะเหตุนั้นหรือไม่ ในสมัย พระจวน นาต พระหนุ่มอนาคตไกลรูปนี้ จึงถูกย่ำยีทุกครั้งที่ออกธรรมเทศนา”

เช่น ถูก พ.ส-พระสงฆ์ร่วมนิกาย “โห่-ฮา” และถึงขั้นโยน “เกือก/สแบกเจิง” ปาใส่หน้า

“ปอ-ปอ/เจริญพร” อย่างงั้นเทียวรึ?

ก็ภายใต้รัฐอำนาจที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง กระทั่ง พระจวน นาต ถูกร่ำลือว่าเป็นพวกบารังนิยมและควรต้อง “สู่ขิต” ไปซะ

ทำกันขนาดนั้น

แต่ไม่ใช่เพราะความชังเชิงปัจเจกเท่านั้น เพราะ พ.ส.พระสงฆ์กัมพูชาเขาอัปเปหิกันเอง ภายใต้ขบวนการต่อต้านฝ่ายปกครองและของพระหนุ่มรุ่นใหม่ที่เคลือบแคลง สงสัยและแยกตนตามสังกัด

พระมหาไพรวัลย์ II เครดิตภาพ-คมชัดลึก

ทว่า นี่คือเรื่องเปราะบางของเถรวาทกัมพูชาที่ผ่านมาอย่างสามัญ การต่อสู้ยาวนานในรูปแบบต่างๆ แลขณะนั้น การต้านทานไม่รับอำนาจภายนอกที่ทับซ้อนกันระหว่างราชสำนักอันเกิดจากไปยกย่องธรรมยุติกนิกายของฝ่ายสยามก่อนนั้น และความชังต่อคาทอลิกนิยมของรัฐบาลอินโดจีน

น่าเห็นใจนัก สำหรับภาวะบ้านเมืองเช่นนี้ที่นำไปสู่ ความหวาดระแวงรัฐบาลอินโดจีนที่มีต่อเถรวาทและราชสำนักในรัชกาลนโรดมที่หันหลังมิให้ความร่วมมือ แต่ในที่สุด ขนบเถรวาทกัมพูชาก็ถูกจับมาเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายรัฐและทำให้เถรวาทเขมรต้องยืนกรานร้องขอในบางสิ่ง 2-3 ข้อ

หนึ่งในนั้น คือการก่อตั้งโรงเรียนบาลีระดับสูง และโครงการแปลพระไตรปิฎกเป็นแขฺมร์ซึ่งไม่ใช่คำร้องขอที่มากมาย

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ฝ่ายต่างติดอยู่บนกับดักแห่งธรรมยุติกนิกาย ในการแต่งตั้งพระสังฆราช ซึ่งต่อมา เมื่อคุณสมบัติของฝ่ายมหานิกายเด่นกว่าเสียแล้ว คณะธรรมยุตที่กัมพูชาจึงไม่เข้มแข็งอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ “พ.ส.” หนุ่มมหานิกายจำนวนมาก ช่างมีความกระหายในการเรียนธรรม แต่คาทอลิกบารังก็ยืนกรานที่จะให้บางรูปได้ทดลองอบรมระบบการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตก ซึ่งแม้จะถูกคัดค้านจากอาจารย์พระหลายรูป

แต่ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงในทางโลกก็ยังคงเป็นไป

พระทิม สาคนพระกัมปูเจียกรอมที่ถูกจับสึกต่อมาลี้ภัยไปต่างแดน II เครดิตภาพ-KhmerKromYouthandPeople

ใช่แต่พระจวน นาตเสียเมื่อไหร่ที่ถูก “สู่ขิต” เข้าหนนั้น

การเด่นดังทางวิชาการของท่าน ได้ปลุกให้เถรวาทกัมพูชาตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่เชิงปัจเจกแล้ว นี่คือการออกนอกขนบเถรวาทของมหานิกายครั้งใหญ่ ภายใต้นโยบายลูกผสมของราชสำนักและบารัง

สภาพ! ไม่ว่าจะทางใด เห็นได้ชัดว่า เถรวาทกัมพูชาไม่อาจต้านทานกระแสนิยมใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ข้อต่อรองนี้ คาทอลิกกลับชนะไปในยกแรก ดังนี้ พ.ส.หนุ่มในคณะมหานิกายบางรูป ก็มี 2 สถานะคือนักบวชและกึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ

น่าทึ่ง นี่คือหน้าที่ที่ครั้งหนึ่งนักบวชคาทอลิกทำมาก่อนหน้านี้ และตอนนี้ กงล้อของความเปลี่ยนแปลงนั่น ก็กำลังคืบคลานสู่เถรวาทหรือนี่?

เหตุนี้เอง พระเดชพระคุณครูบาเขมรบางรูปจึงไม่เห็นด้วย ต่อการปล่อยให้ ภ.ษ./ภิกษุเขมรเอาระบบการศึกษาใหม่ไปสอนคนในทางโลก และ (อาจ) ขัดแย้งกับทางธรรมซึ่งไม่ใช่กิจของสงฆ์

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะผ่อนปรนให้เล่าเรียนในภาษาต่างๆ เช่น สันสกฤต จารึก ฝรั่งเศสที่ไม่ขัดกับโรงเรียนปริยัติทางบาลีนั่น

แต่เมื่อฝ่ายคาทอลิกเองก็มิได้ครอบงำ ส่วนศักยภาพในความเป็นนักบวชและนักธรรมกัมพูชา กลับก้าวหน้ากว่าก่อนหน้าที่ที่ถูกปิดกั้น โพธิสัตว์ยิ้มยากในพระครูบารุ่นเก่าจึงเริ่มยิ้มแย้มและยินยอมผ่อนปรนให้ พ.ส.หนุ่มๆ ได้ศึกษาแนวใหม่

ป้ายเขมรรักชาติ:การประท้วงพนมเปญ2018 II เครดิตภาพ- theCambodiaDialy

ที่เทศน์ ก็เทศน์ไป ที่แต่งตำรา ก็แต่งไป ที่สนทนาธรรมทางโลกในหมู่สงฆ์ฝ่ายก้าวหน้า ก็เทศนาไป เมื่อราชสำนัก-รัฐอำนาจ-ศาสนจักรต่างได้ประโยชน์โภชผล วิถีเถรวาทใหม่จึงไม่ไช่ของแปลกที่แทรกแต่พระธรรมหรือศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อประชาชนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกด้วย

ดังนี้ พระเณรอย่างจวน นาตก็อาจอยู่แต่คูหาและศึกษาพระธรรม แต่สำหรับเถรวาทบางรูป ท่านออกไปเทศนาตามชุมชน ทั้งยังฝึกตนเป็นโพธิสัตว์ยิ้มแย้มและยิ้มยากในปริศนาธรรมแบบต่างๆ ที่งอกงามและแผ่กว้างออกไป

สภาพ! หรือนี่คือขนบเถรวาทใหม่กระไร โดยพระหนุ่มรูปหนึ่งซึ่งมีนามว่า พระปลัดเหม เจียว

และราวกับวิสัยนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในบางครั้งเมื่อขึ้นเทศนาพิสดารว่าด้วยคำบาลีที่เต็มไปด้วยรหัสนัยและเจ้าหน้าที่บารังพวกนั้นไม่มีวันจะเข้าใจโดยเฉพาะในค่ายทหาร

และการที่พระรูปนี้สอนปริศธรรมอย่างเชี่ยวชาญ ทั้งยังชี้ช่องการปลดแอกสู่วิถีเสรีแก่เหล่าทหารตำรวจซึ่งเป็นเขตห้วงห้าม แลนับวัน การเทศนาพระหนุ่มรูปนี้จึงลี้ลับพิสดาร อาทิ สอนความรักชาติ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐอำนาจเพื่อปลดแอกเอกราช รวมทั้งโพธิสัตว์ยิ้มยากอาจเป็นไปได้ว่า

การฆ่าเจ้าหน้าที่บารัง-ไม่ใช่เรื่องบาป

ก็ไม่มีโอกาสเห็นบรรพชิตหมู่นั้นท่านยิ้มแย้มหรือยิ้มยาก ข้อปุจฉานี้จึงไม่มีความหมาย

อดีตที่ยิ้มแย้มก็ผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตยิ้มยากก็ยังมาไม่ถึง ส่วนพอสอ (พ.ศ.) ก็เท่านั้นคือความเป็นปัจจุบัน

จะหัวเราะหรือร้องไห้ ก็หาทำ/ธรรมไปสิ