นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยกับห้างสรรพสินค้า (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ทั้งหมดนี้ผมอยากให้นำมาเปรียบเทียบกับห้างสรรพสินค้า ซึ่งแม้ไม่มีระเบียบเครื่องแบบหรือการแต่งกายบังคับไว้ แต่คนส่วนใหญ่ที่เข้าห้าง ก็มักแต่งกายในลักษณะที่ “เหมาะแก่การเข้าห้าง” จนได้

ห้างสรรพสินค้าปัจจุบันนั้นใหญ่มากนะครับ ใหญ่เสียจนทุกคนที่เราพบเห็นที่นั่นล้วนเป็นคนแปลกหน้า คนจำนวนมากที่อยู่ในห้าง ประกอบด้วยคนที่มาจากปูมหลังทางสังคมที่แตกต่างกันมากด้วย เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่าห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่เสรี ใครๆ ก็เข้าไปได้ เหตุดังนั้นโอกาสที่เราจะได้พบคนรู้จักจึงมีไม่สู้มากนัก เขาก็ไป เราก็ไป แต่ต่างก็จมหายไปในมหาสมุทรของฝูงชนจนไม่มีโอกาสเจอะเจอกัน

ผมจำได้ว่าเมื่อเป็นเด็ก เวลาผู้ใหญ่พาไปห้างใต้ฟ้าหรือไปจ่ายของกินฝรั่งที่ห้างเสรีวัฒน์สะพานหัน ผู้ใหญ่มักเจอะเจอคนรู้จักให้ต้องทักทายกันเสมอ ตลาดของห้างสมัยโบราณจึงเป็นคนชั้นกลางระดับบน คนทั่วไปไม่ไปเดินห้างอย่างนั้น แต่ห้างสรรพสินค้าปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นแล้วนะครับ ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เพราะคนชั้นกลางไทยขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะคนชั้นกลางระดับล่าง

ดังนั้น การ “เดินห้าง” ในปัจจุบัน จึงเป็นการไปเดินให้คนไม่รู้จักได้ดู เราถูกเห็นโดยคนที่เราไม่รู้จักทั้งสิ้น ทุกคนรู้สึกว่าตกอยู่ภายใต้การมองและการประเมินของคนอื่นที่ล้วนเป็นคนแปลกหน้า สถานการณ์เช่นนี้เรียกร้องให้แต่ละคนแสดงตัวตนที่ตัวใฝ่ฝันอยากเป็นทั้งสิ้น และจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือการแต่งกาย

ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนแต่งกายดีเป็นทางการนะครับ แต่ทุกคนแต่งกายอย่างที่แสดงตัวตนของตนต่างหาก หนุ่มหุ่นดีอาจสวมเพียงเสื้อยืดคอกลม ใส่เยลผมจนเรียบแปล้ในที่ควรเรียบและตั้งโด่ในที่ควรโด่ หญิงสาวแต่งกายตามที่เธอคิดว่าเธอคือคนประเภทไหน บางคนอาจสวมกระโปรงหรูแต่เรียบ บางคนอาจแต่งเป็นจิ๊กกี๋นิดๆ ก็แล้วแต่ว่าบุคลิกแบบไหนที่เธอฝันใฝ่ให้ตัวเธอเป็น

และนี่คือเครื่องแบบของห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่ต้องมีครูคอยเดินตรวจตรา แต่ทุกคนก็พร้อมจะแต่งเมื่อเข้าสู่พื้นที่นี้

ห้างสรรพสินค้าไม่ได้กำหนดเฉพาะเครื่องแบบ แต่ยังกำหนดการเดิน, การกิน, อากัปกิริยา และส่วนอื่นของวิถีชีวิตด้วย อย่างน้อยก็วางอุดมคติของชีวิตให้แก่ทุกคน ทั้งจากสินค้าที่ตั้งโชว์ และพฤติกรรมของคนอื่น เวลานี้เราอาจใช้โทรศัพท์มือถืออันเล็กๆ เพื่อติดต่อกันด้วยเสียงกับคนอื่น แต่เรารู้ว่ามันมีสมาร์ตโฟน ซึ่งทำให้เราติดต่อกับคนอื่นด้วยวิธีอื่น ทั้งคนอื่นนั้นก็กว้างขวางกว่าเฉพาะคนรู้จักเป็นส่วนตัวด้วย สักวันหนึ่งเราจะมีสมาร์ตโฟน และสุดยอดของสมาร์ตโฟนก็ต้องมีรูปแอปเปิ้ลแหว่งอยู่ข้างหลัง

ดังที่กล่าวกันมามากแล้วว่า พื้นที่ห้างสรรพสินค้าไม่ได้กำหนดแต่เพียงเครื่องแต่งกายและอากัปกิริยาภายนอก แต่มันกำหนดลึกลงไปในสมอง ทั้งวิธีคิดและความคิดด้วย

ผมใช้คำว่า “เครื่องแบบ” เพื่อจะเตือนว่า ดูเผินๆ เหมือนกับว่าห้างสรรพสินค้าปลดปล่อย individuality หรือปัจเจกภาพของแต่ละบุคคลออกมา แต่ทุนนิยมไม่ได้ต้องการปัจเจกภาพหรอกนะครับ เขาต้องการผู้บริโภคที่มีความต้องการคล้ายๆ กัน เพื่อจะได้สามารถผลิตสินค้าและบริการด้วยระบบการผลิตเป็นมวล (mass production) ได้ต่างหาก

ตรงนี้แหละครับที่ห้างสรรพสินค้าน่าจะแตกต่างจากมหาวิทยาลัยเป็นอันมาก แต่มหาวิทยาลัยไทยกลับไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าในเรื่องนี้

มหาวิทยาลัยไทยไม่สนใจจะพัฒนาปัจเจกภาพของผู้เรียน เราต้องการผลิตช่าง, ผลิตครู, ผลิตหมอ, ฯลฯ เพื่อสวมลงไปในฟันเฟืองทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยของสังคมอื่นก็คงต้องทำอย่างเดียวกัน เพื่อตอบสนองต่อรัฐและทุนซึ่งเป็น “ลูกค้า” รายใหญ่สุดของมหาวิทยาลัย (สนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ มากสุด) แต่ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยของเขาก็พยายามพัฒนาปัจเจกภาพของนักศึกษาไปพร้อมกัน ถึงจะเป็นช่าง, เป็นหมอ, เป็นครู ฯลฯ ก็คิดแตกต่างจากช่าง, หมอ, ครู ฯลฯ คนอื่น เพราะความแตกต่างนี้เอง ที่ทำให้ช่าง, หมอ, ครู ฯลฯ คิดแก้ปัญหาไปในทางใหม่ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพดีกว่าทางแก้แบบเดิม

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของสังคมสมัยใหม่โดยทั่วไป มองเห็นความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคลเป็นคุณแก่สังคม ในขณะที่ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของสังคมไทยมองเห็นความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคลเป็นอันตราย หรือถึงเป็นโทษด้วยซ้ำ (ไม่อย่างนั้นจะบังคับให้นิสิตนักศึกษาแต่งเครื่องแบบให้เหมือนกันทำไม)

เป้าหมายของการจัดการศึกษาแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยมาแต่โบราณ เป็นเป้าหมายทางศาสนาบ้าง, การเมืองของชนชั้นนำตามประเพณีบ้าง, การเมืองของพลเมืองบ้าง, ระบบการผลิตทางเศรษฐกิจบ้าง ฯลฯ หลังจากที่เป้าหมายเหล่านั้นถูกท้าทายสืบมา ในที่สุดก็มาลงเอยที่การพัฒนาปัจเจกภาพของผู้เรียนในปัจจุบัน

แต่ปัจเจกภาพนั่นแหละที่วัฒนธรรมสมัยใหม่ของไทยระแวงอย่างยิ่ง ผู้ปฏิรูปการศึกษาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เห็นว่าทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว ทำให้สังคมขาดระเบียบและเสื่อมโทรมลง นักการศาสนาเห็นว่าทำให้คนมีการศึกษาห่างไกลจากอุดมคติทางศาสนา เผด็จการทหารเห็นว่าทำให้คนมีการศึกษาไม่รักชาติ และว่านอนสอนยาก ทำลายความสามัคคี ฯลฯ

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า เงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมไทยเองนั่นแหละ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยไม่ใส่ใจจะพัฒนาปัจเจกภาพของนักศึกษา

แต่คนชั้นกลางไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญแก่ปัจเจกภาพ คนรุ่นใหม่ยอมรับวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายได้มาก (กว่าคนรุ่นผม) จะสโลว์ไลฟ์, จะนั่งสมาธิ, จะหลงใหลชนบท, จะเป็นฮิปสเตอร์ ฯลฯ อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางของผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจนโด่งดังเพียงหนทางเดียว (เหมือนสัก 30 ปีที่แล้ว)

ในแง่นี้พื้นที่ห้างสรรพสินค้าจึงมีเสน่ห์แก่นักศึกษาเสียยิ่งกว่ามหาวิทยาลัย แม้เป็นปัจเจกภาพอย่างหลอกๆ ก็ตาม

ที่นั่น คือที่ซึ่งเราสามารถแสดงตัวตนของเราที่อยากให้คนอื่นเห็น บอกสถานภาพไม่มากนัก แต่บอกรสนิยม, บอกความเชื่อลึกๆ บางอย่าง, บอกค่านิยมที่แตกต่างจากคนอื่น, ฯลฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพอย่างนั้น

เพื่อนฝูงที่ยังสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยปัจจุบันบ่นถึงความไม่ใส่ใจเล่าเรียนของนักศึกษากันบ่อยๆ แม้ว่าการสอนของท่านเหล่านั้นมุ่งจะปลูกฝังการพัฒนาปัจเจกภาพของผู้เรียน แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยของพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้มีแต่การสอนเพียงอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากที่พยายามตะล่อมให้นักศึกษากลายเป็นฝูงชนที่ไม่มีปัจเจกลักษณะเหมือนกัน

ทำไมเขาจะต้องเข้าเรียนตรงเวลา ในเมื่อห้างสรรพสินค้าเปิดเกือบทั้งวัน และสามารถเดินเข้าห้างได้ตามเวลาสะดวกของตน ทำไมจึงต้องเอาใจใส่ฟังการสอน ในเมื่อในห้างสรรพสินค้าเขาสามารถพูดคุยแม้แต่กับคนที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ทำไมเขาจะต้องอ่านอะไรที่ไม่อยากอ่าน ในเมื่อห้างสรรพสินค้าไม่เคยบังคับให้เขาทำอะไรหลังออกจากห้างไปแล้วเลย… ทำไม ทำไม ทำไม อีกมากมาย

ในพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกัน จนแทบจะเหลื่อมเข้าหากันเช่นมหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า (ไม่ได้หมายในทางภูมิศาสตร์ แต่หมายในทางวิถีชีวิต) จะแยกพฤติกรรมของคนในสองพื้นที่นี้ได้อย่างไร

ยิ่งกว่านี้ หากมองการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นการฝึกอาชีพเพื่อการทำมาหากินในอนาคต ห้างสรรพสินค้าเสียอีกที่แนะการทำมาหากินมากกว่า มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เช่าพื้นที่ในห้างเพื่อขายกระเป๋า, เข็มขัด, และเครื่องหนัง ทั้งที่ทำจากหนังจริงและหนังเทียม มีหนุ่มสาวที่มีทุนพอจะเช่าร้านและเปิดขายกาแฟสำหรับฮิปสเตอร์ ซึ่งไม่มีแบรนด์ดังทั่วโลก แต่มีลักษณะเฉพาะพิเศษของตนเอง มีหนุ่มสาวเช่าพื้นที่เพื่อทำมาค้าขายอะไรอื่นๆ อีกนานาชนิด ซึ่งอาจเรียนรู้ได้

มหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดให้เรียนรู้ทางเลือกในการทำมาหากินมากเท่า และโดยทั่วไปก็ไม่ได้สอนให้สร้างความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นการท้าทายที่น่าสนุกด้วย แต่มหาวิทยาลัยเพียงแต่ถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นบางอย่าง เพื่อไปรับจ้างเข้าใช้ทักษะนั้นในอนาคตเท่านั้น

มหาวิทยาลัยจึงเป็นพื้นที่อันน่าเบื่อหน่าย และทำให้ปรากฏการณ์ไม่สนใจเรียนแพร่หลายทั่วไป มีห้างให้เดินมากเท่าไร มหาวิทยาลัยก็เป็นพื้นที่ซึ่งไม่น่าเดินมากเท่านั้น