Urban Vernacular : จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (3)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Urban Vernacular

: จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (3)

 

แนวทางที่สองที่ผมคิดว่าจะช่วยดึง “จิตวิญาณ” ของ “สถาปัตยกรรมพื้นที่ศึกษา” ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งคือ การขยับความสนใจในประเด็น “กลุ่มชาติพันธุ์” ในพื้นที่ชนบท มาสู่ประเด็น “กลุ่มวัฒนธรรมย่อย” ในพื้นที่เมืองให้มากขึ้น

ในอดีต เมื่องานศึกษามุ่งเน้นไปที่พื้นที่ชนบทเป็นหลัก จึงหลีกไม่พ้นที่ความสนใจสืบเนื่องตามมาแทบจะอัตโนมัติก็คือ ความสนใจศึกษาสถาปัตยกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลาว มอญ ญวน เขมร ไทลื้อ ไทดำ ไทยใหญ่ พวน กะเหรี่ยง ฮ้อ ฯลฯ

ซึ่งในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาเราจะพบงานวิจัยในทิศทางนี้อย่างมากมาย

แน่นอนว่าแนวทางนี้ในงานศึกษารุ่นบุกเบิกได้ทำให้กลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่ถูกละเลยหรือถูกดูถูกได้รับการยอมรับมากขึ้นดังที่กล่าวไปแล้ว

แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยสถานะการยอมรับในกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยในสังคมไทยยกระดับมากขึ้น (แม้ว่าจะยังไม่น่าพอใจก็ตาม) ได้ทำให้งานศึกษาแนวทางนี้เป็นจำนวนไม่น้อยกลายสภาพ (อาจจะโดยไม่ตั้งใจ) เป็นเพียงงานค้นหาอัตลักษณ์พิเศษที่ดูแปลกตาหรือไม่คุ้นเคยในสายตาคนทั่วไปเพื่อเป้าหมายในการกระตุ้นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไปอย่างน่าเสียดาย

การศึกษาสถาปัตยกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย แม้จะยังมีประโยชน์ทางวิชาการเช่นเดิม แต่ก็เริ่มขาดจิตวิญญาณของการต่อต้านกระแสหลักที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของคนเล็กคนน้อยไปเสียแล้ว

ดังนั้น ทางออกที่อยากเสนอในที่นี้ก็คือ การเริ่มต้นพิจารณา “กลุ่มวัฒนธรรมย่อย” ที่เกิดขึ้นใหม่มากมายในเขตพื้นที่เมือง ที่ไม่ใช่บนฐานคิดแบบ “กลุ่มชาติพันธุ์” แต่เป็นกลุ่มทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นที่ปัจจุบันกำลังถูกสังคมกระแสหลักมองข้ามหรือดูถูก

 

ดังที่กล่าวไปในสัปดาห์ก่อน สภาพแวดล้อมในพื้นที่เมืองสมัยใหม่แม้ไม่เอื้อให้เกิดชุมชนหรือกลุ่มวัฒนธรรมบนฐานละแวกบ้านเดียวกันแบบชนบท แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าเมืองจะไม่มีชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนที่มีรสนิยม ความเชื่อ ความฝัน และวิถีชีวิตแบบเดียวกัน

ชุมชนในพื้นที่เมืองแบบนี้ในทางมานุษยวิทยาได้เข้าไปทำการศึกษาในฐานะตัวแบบทางวิชาการมายาวนานมากกว่า 50 ปีแล้วในสาขาที่เรียกว่า “มานุษยวิทยาเมือง” (Urban Anthropology) ที่เน้นการศึกษาระบบวัฒนธรรมของเมืองและให้ความสำคัญกับการอธิบายวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆ

ที่สำคัญคือในโลกปัจจุบันที่พื้นที่เมืองกับชนบทนั้นไม่อาจแยกขาดกันได้อย่างแท้จริงอีกต่อไป ทำให้การทำความเข้าใจชนบทไม่อาจตัดขาดจากการศึกษาเมืองได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์การอพยพย้ายถิ่นระหว่างเมืองกับชนบท ระบบเครือญาติในเขตเมือง ชนชั้น และชาติพันธุ์ในเขตเมืองที่ส่งผ่านหรือสืบทอดต่อเนื่องมาจากชนบท ฯลฯ

บนฐานความสัมพันธ์กันในทางระเบียบวิธีวิจัยที่คาบเกี่ยวกันมาโดยตลอดระหว่างมานุษยวิทยากับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น การขยายความสนใจมาสู่ “กลุ่มวัฒนธรรมย่อย” ในเมืองตามแนวทางแบบมานุษยวิทยาเมืองจึงเป็นตัวแบบที่น่าสนใจที่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาของไทยน่ารับมาพิจารณา

ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มแต่งรถซิ่ง กลุ่มคนชอบแต่งครอสเพลย์ กลุ่มโอตะ BNK หรือแม้กระทั่งกลุ่มวัฒนธรรรมที่สังคมกระแสหลักยังมองในแง่ลบ เช่น กลุ่มเพศทางเลือก ที่แม้จะถูกปิดกั้นและกดทับ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถหาที่ทางในการมาพบเจอหรือทำกิจกรรมร่วมกัน

และหลายกรณีเกิดเป็นการสร้างพื้นที่หรือปรับแปลงพื้นที่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มตน เกิดเป็นที่แลกเปลี่ยนความคิด ความฝัน รสนิยมต่างๆ ตลอดจนส่งผ่านความหมายหรือสัญลักษณ์เหล่านี้ให้แก่สมาชิกกลุ่มต่อๆ ไป

 

วิถีชีวิตของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเหล่านี้มาพร้อมกับการสร้างหรือปรับแปลงสภาพแวดล้อมในเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ของกลุ่มตน ซึ่งภายใต้การขยายนิยามของสิ่งที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรมในปัจจุบันที่เป็นไปอย่างกว้างขวางเกินกว่าสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสถานที่แล้วนั้น การปรับสภาพแวดล้อมเมืองในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็น “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” อีกรูปแบบหนึ่งที่ควรหันมาให้ความสนใจ

งานเรื่อง “พื้นที่แห่งการซ่อนอาพรางของบาร์โชว์เกย์ในย่านสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่” ของ จิรันธนิน กิติกา เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีนี้

งานชิ้นนี้เข้าไปศึกษาการออกแบบจัดวางพื้นที่ในงานสถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองต่อกิจกรรมของกลุ่มเกย์ที่ต้องทั้งปิดซ่อนเพราะค่านิยมทางสังคมกระแสหลักไม่ยอมรับ

ในขณะเดียวกันก็ต้องมีเทคนิควิธีการตลอดจนภาษาสัญลักษณ์ที่แสดงออกผ่านหน้าตาอาคารเพื่อสื่อสารร่วมกันในกลุ่มตนให้ได้

การออกแบบใช้สอยพื้นที่ภายในก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามรสนิยม แรงปรารถนา และการใช้สอยเฉพาะด้าน

ซึ่งผลการศึกษาของงานชิ้นนี้มีความน่าสนใจมากในแง่ที่มีการใช้ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ และช่วยให้เราเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น

 

แนวทางที่สาม ที่อยากเสนอเพื่อขยับเพดานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา คือ การขยายการศึกษาประเด็น “วัสดุธรรมชาติ” มาสู่ “วัสดุในระบบอุตสาหกรรม”

ต้องยอมรับว่า วัสดุเป็นประเด็นหลักข้อหนึ่งในวงการสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา แต่งานที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดสนใจเฉพาะวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ ไม้ไผ่ อิฐ ดิน แฝก จาก ฯลฯ เป็นหลัก วัสดุสมัยใหม่ในระบบอุตสาหกรรม เช่น สังกะสี อิฐบล็อก คอนกรีต กระเบื้องลอนคู่ ฯลฯ แม้จะพบการศึกษาบ้างแต่ก็น้อยมาก

และทั้งหมดเป็นความสนใจในประเด็นเรื่องการปรับใช้หรือต่อรองระหว่างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมกับวัสดุสมัยใหม่ โดยมีนัยยะของการมองวัสดุสมัยใหม่ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องหาวิธีการใช้ที่ไม่เข้าไปทำลายคุณค่าดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมากกว่าที่จะสนใจศึกษามันในฐานะที่เป็นวัสดุพื้นถิ่นโดยตัวของมันเอง

ผมเห็นว่า งานวิจัยด้านนี้ควรเริ่มมองวัสดุในระบบอุตสาหกรรมในฐานะวัสดุพื้นถิ่นรูปแบบใหม่ที่คนธรรมดาทั่วไปที่มิใช่สถาปนิกหรือผู้เชี่ยวชาญต่างก็เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและปรับใช้เพื่อตอบสนองบริบทเฉพาะของแต่ละปัญหา พื้นที่ ชุมชน และสังคม

งานศึกษาของ ยรรยง บุญ-หลง ที่เข้าไปอธิบายเรือหางยาวที่ใช้ขนส่งคนในคลองแสนแสบอย่างละเอียดและแสดงให้เห็นถึงความฉลาดในการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรภายใต้สภาพแวดล้อมของคลองแสนแสบที่มีข้อจำกัดมากมาย

หรือ “รถพุ่มพวง” ซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการไปตลาดสดในแบบเดิม แต่มีการปรับให้เข้ากับความเป็นเมือง โดยเปลี่ยนเป็นตลาดสดเคลื่อนที่โดยอาศัยรถกระบะซึ่งเป็นผลผลิตของโลกอุตสาหกรรมมาเป็นเครื่องมือ

แม้กระทั่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ผมก็คิดว่าคือวัสดุที่น่านำมาศึกษา โดยนับตั้งแต่มันถูกนำเข้ามาใช้ในสังคมไทยครั้งแรกเมื่อราวร้อยปีก่อนในฐานะวัสดุที่ต้องใช้ความรู้และผู้เชี่ยวชาญและราคาแพง

แต่ปัจจุบันคอนกรีตกลายเป็นวัสดุพื้นบ้านที่ช่างท้องถิ่นทั่วไปสามารถใช้มันได้อย่างง่ายดายและราคาถูก

จนอาจกล่าวได้ว่าตัวมันได้เปลี่ยนสภาพกลายมาเป็น popular material ที่คนทั่วไปใช้ยิ่งกว่าวัสดุที่ถูกนิยามว่าเป็นวัสดุพื้นถิ่นหลายเท่าตัว

 

ดังนั้น หากเรานิยามวัสดุพื้นถิ่นว่าเป็นวัสดุที่ใช้ง่ายและหาสะดวกได้ในสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา คอนกรีตก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นวัสดุพื้นถิ่นรูปแบบใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ในวงวิชาการไทยยังไม่มีงานศึกษาคอนกรีตในฐานะวัสดุพื้นถิ่นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่อเนกประสงค์และสามารถนำไปสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาได้ ทำให้นับตั้งแต่ราวทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา คอนกรีตได้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่กระจายตัวไปทั่วทั้งในเขตชนบทและในเมือง

แน่นอนหากมองในแง่หนึ่ง สิ่งก่อสร้างมหึมานี้ต้องใช้สถาปนิกและวิศวกร แต่ใครก็ตามที่สัมผัสงานเหล่านี้ก็จะรู้ว่า รูปแบบ ที่ตั้ง ไปจนถึงความสูง ฯลฯ เป็นเรื่องที่ถูกคิดขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีลักษณะร่วมทางความคิดความเชื่อแบบหนึ่ง หรือสรุปให้ชัดก็คือมันเป็นผลผลิตของสังคมวัฒนธรรมบนฐานความคิดทางศาสนาแบบหนึ่งมากกว่าผลงานออกแบบของสถาปนิกคนใดคนหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากที่เรานิยามงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแต่อย่างใดเลย

ประเด็นนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แวดวง “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” ควรก้าวเข้ามาวิจัยอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ยังไม่จำเป็นต้องนับรวมไปถึงสถาปัตยกรรมประเภท โบสถ์ขวดเบียร์ โบสถ์สังกะสี โบสถ์ที่ประดับพื้นผิวด้วยเหรียญ (ในทัศนะสถาปนิกส่วนมาก มักมองด้วยสายตาดูแคลน) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทางด้านนี้ทั้งสิ้น